13 กุมภาพันธ์ 2023

ห้องเรียนตามใจ

ในวันที่การศึกษาไม่จำกัดแค่รั้วโรงเรียน

ด้วยความเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ควบคู่กับสอนรายวิชาให้กับเด็กถึง 4 ชั้นเรียน ทำให้พรหมพิริยะ บุตรงาม หรือ “ครูแอ๊ด” พบเจอกับผู้เรียนอย่างหลากหลาย บางรายตั้งใจฟังนั่งหน้าห้อง แต่กับบางคนไม่สนใจพากันไปหลบมุมท้ายแถว หนักเข้าก็มีกลุ่มหนีเรียนไม่เข้าห้อง ชอบสุมทุมพุ่มไม้บ้างก็หายหน้าไปจนเวลาเลิกเรียน


แต่แทนที่จะเอาไม้ไล่ตี ต้อนเด็กเข้าชั้นเรียน ครูแอ๊ดและกลุ่มเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งกลับใช้วิธี ริเริ่มหลักสูตร ห้องเรียนตามใจขึ้น …ครูแอ๊ดเล่าว่า ถ้าระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตของเด็ก การไปบังคับจับมานั่งเรียนก็ไร้ประโยชน์

“ห้องเรียนตามใจคือ การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้เรียนเองในทางที่ดีขึ้น”

ในช่วงแรกเริ่มนั้น เป็นเวลาเดียวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนักเรียนทั้งหมดต้องเรียนออนไลน์ เช่นกันกับโรงเรียนเล็ก ๆ ในตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ แม้จะเปิดทำการสอนปกติ แต่สิ่งที่ครูประจำชั้น ป.2 สังเกตได้คือ วิธีการนี้ไม่เหมาะกับเด็กชั้นประถม

“ผมต้องบอกก่อนว่าเด็กไม่ได้ผิด แต่เพราะโควิดมันบังคับเรา ทีนี้คือเราเห็นเลยว่าการบ้านเด็กก็ให้ผู้ปกครองทำ ตอนเช็คชื่อก็มานั่งฟัง แต่ไอ้ตอนเรียนปิดกล้องกันไปไหนต่อไหน ...เราเลยต้องลุยไปหาเขาที่บ้าน แล้วไปดูว่าเขาทำอะไรบ้างวัน ๆ หนึ่ง ก็เจอว่าหลายคนเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมรอบตัวของเขา บางคนไปหาเห็ด บางคนตกปลา บางบ้านช่วยแม่ทอผ้า ... สำหรับเรานั่นก็เป็นการเรียนรู้เหมือนกัน เราเลยเอาใหม่ ใช้วิธีตั้งคำถาม ให้พวกเขาไปหาคำตอบ แล้วมาตอบเอาตอนเรียน เพราะทุกคนมีต้นทุนและมีความสนใจแตกต่างกัน...พอทำแบบนี้ มันได้ผลดีเกินคาด”

จากจุดเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการ ครูแอ๊ดจึงได้ร่วมกับกลุ่มกับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็กในจังหวัดสุรินทร์ แล้วเริ่มต้นเป็นหลักสูตรห้องเรียนตามใจขึ้น

ห้องเรียนตามใจเป็นการเปิดสอนวิชาเลือกอิสระ 7 ทักษะ คือ ทักษะด้านอาชีพ งานซ่อมแซมเครื่องใช้ที่ชำรุดภายในบ้าน ทักษะด้านงานศิลปะ ทักษะด้านงานสื่อสาร เป็นการสอนผลิตสื่อต่าง ๆ เพื่อนำเสนอออนไลน์ ทักษะด้านดนตรี ทักษะด้านอาหาร ทักษะด้านเกษตร และทักษะด้านภาษาญี่ปุ่น ครูแอ๊ดเล่าถึงบรรยากาศในช่วงแรกของห้องเรียนตามใจให้ฟังว่า

“เราเริ่มจากการเปิดรับ...ไปชวนดีกว่า ชวนเด็กใน 5 ตำบล จากอำเภอลำดวนเรามาลองเรียน จนถึงตอนนี้มีนักเรียนสนใจแล้วประมาณ 50 คน ตอนเริ่มต้นที่ไปชวนพวกผู้ปกครองเขาก็พากันงงว่า ไอ้ครูคนนี้มันเป็นอะไร มาพาลูกเรียนตามใจ…ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ช่วงแรกเราจะเน้นสอนกันวันหยุด เพื่อไม่กระทบการศึกษาภาคปกติของเด็ก เรียนรู้กันไปแล้วเราก็จะอัพเดทผ่านช่องทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งพ่อแม่เด็กก็เห็นทุกวันว่า วันนี้วันนั้นเด็กได้เรียนเรื่องอะไร พอผู้ปกครองเห็นรูปธรรมเขาก็หันมาให้การสนับสนุน”

ภาพจากเเฟนเพจ เมอเมิงสะเร็น

เมื่อถามถึงภาระที่เพิ่มขึ้นของครูผู้สอนจึงได้ความว่า แท้แล้วทุกทักษะวิชา ผู้สอนไม่ใช่ครูระบบการศึกษา แต่หมายถึงผู้มีความรู้ความสามารถหรือปราชญ์ในชุมชน บางคนเป็นคนทำสื่ออิสระ บางคนเป็นเกษตรกร บางคนเป็นช่างประจำซอย รวมทั้งบางคนเป็นนักดนตรี ... ด้วยวีการเรียนรู้เหล่านี้ ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก แต่มากกว่านั้นเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน โรงเรียน ที่จะมีส่วนร่วมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรในท้องถิ่นของพวกเขาเอง

ครูประจำชั้น ป.2 เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและความสำเร็จที่พวกเขายังไม่กล้าพูดเต็มปากว่า

“ ถ้าเป็นในหลักสูตร เรามีรูปแบบวิธีการเรียนรู้อย่างเดียว แต่คาดหวังความสำเร็จกับเด็กทุกคน แต่กับห้องเรียนตามใจ มันคือการได้ลองทำสิ่งที่สนใจ ส่วนการจบหลักสูตรของเราได้คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณอยากทำสื่อก็ต้องทำสื่อได้ อยากเป็นช่างก็ต้องซ่อมข้าวของ อยากทำอาหารเรามีหน้าร้านต้องช่วยกันแล้วนำมาลองขายผมยกตัวอย่างลูกสาวบ้านหนึ่งจากห้องเรียนตามใจ ลงเรียนเรื่องสื่อ ตอนนี้เขาเป็น Youtuber อยู่บ้านช่วยแม่ที่ทำผ้าทอ ถ่ายลงออนไลน์ทุกวัน ๆ มีคนติดตามมากกว่า 6,000 คน แล้วก็ช่วยที่บ้านขายผลผลิตได้อีกทาง”

ปัจจุบัน สามารถกล่าวได้ว่าห้องเรียนตามใจ กลายเป็นต้นแบบเรื่องการเรียนรู้บนฐานชุมชน ที่มีทั้งความสุข สนุก และสมดุล จนเกิดการสนับสนุนจากเครือข่ายครอบครัวยิ้ม และโครงการสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ สร้างสรรค์สุขภาวะเด็กและเยาวชนจังหวัดสุรินทร์

แม้เทอมนี้จะยังไม่สิ้นสุด แต่คุณครูผู้มีวันปกติรับผิดชอบเด็กนักเรียนกว่า 30 คน กำลังสนใจว่า หลังจากนี้เขาจะช่วยสอนและมีส่วนทำให้เด็กเติบโตแบบตรงตามความต้องการ อย่างมีความเหมาะสมได้อย่างไร...ในท้ายที่สุดครูแอ๊ดและพวกเขาเอง กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อนำหลักสูตรการเรียนรู้ลักษณะนี้ ไปปรับใช้กับหลักสูตรการศึกษาภาคปกติ และหากเกิดขึ้นได้จริง ... เราจะได้ติดตามกันหลังจากนี้

เนื้อหาอื่นๆ

17 มกราคม 2019
17 ธันวาคม 2022
19 กันยายน 2022

Copyright © 2013 THETHAIACT