22 มกราคม 2019

ปะกาเกอะญอ

เรื่องเล่าจากเตหน่ากู

ในวันที่สสารหลายชนิดรวมตัวกันเกิดเป็นโลก มีภูเขาไฟสร้างความร้อนจนเย็นตัวลง พื้นผิวโลกเคลื่อนตัวเกิดภูเขา จากนั้นไอน้ำมหาศาลระเหยขึ้นเป็นเมฆ ปล่อยฝนโปรยปรายมหาสมุทรถือกำเนิด และสร้างสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

จากนั้นเราจึงมีแผ่นดินและแบ่งแยก ว่ากันว่าผู้มาก่อนสามารถจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ชื่นชอบได้ จึงเกิดเป็นประเทศแบ่งย่อยลงไปเป็นรัฐ เมือง หรือชุมชนตามลำดับ เมื่อเกิดสังคมจึงมีผู้นำ สร้างกฎหมายเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจข้อปฏิบัติ มาวันนี้เรามีประเทศมากมาย สังคมหลากหลาย และยังคงมีกลุ่มคนที่ดิ้นรนเพื่อแสดงจุดยืนการมีตัวตนในสังคมใหญ่อยู่อีกจำนวนมาก

Intro/ การเคลื่อนไหว / การเรียกร้อง /

ในประเทศไทยยังมีการพยายามเรียกร้องสิทธิของตนเองอยู่หลากหลายประเภท ดังเช่น คนปะกาเกอะญอ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 500,000 คน ตั้งถิ่นฐานครอบคลุม 15 จังหวัดในประเทศไทย พวกเขาพยายามยืนยันสิทธิ์ของตนเกี่ยวกับเรื่องอย่าง สัญชาติ การศึกษา ตลอดจนเรื่องของการถือครองผืนแผ่นดินซึ่งเคยตั้งรกรากถิ่นฐานกันมาอย่างยาวนาน ณ วันนี้ พวกเขาถูกบุกรุกจากรูปแบบกฎหมายที่ทางภาครัฐกำหนดขึ้น

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือที่เรียกตัวเองว่า ปะกาเกอะญอ ในความหมายซึ่งแปลว่า คน นั้น มีวัฒนธรรมการดำรงเผ่าพันธุ์ของตนเองมาเป็นเวลานาน พวกเขาบอกว่าป่าคือบ้าน และให้ค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งต้นน้ำ และดินเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่ราวปี 2500 เป็นต้นมา การพัฒนาของภาครัฐเข้าสู่ชุมชน ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก ข้าราชการในรัฐผู้มีสิทธิ์อำนาจสั่งการสามารถสร้างกฎกติกาขึ้นมาพร้อมนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวตั้งตัวตีกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศ ทำให้ความรู้ท้องถิ่นนั้นถูกมองว่าล้าสมัยและไม่มีความเป็นเหตุผลเป็นผลตั้งแต่นั้นมา

สำนักงานโครงการพิเศษกระทรวงศึกษาธิการจัดหมวดผู้อาศัยบนพื้นที่ราบสูงว่าเป็น ‘ชาวเขา’ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์คือ กะเหรี่ยง แม้ว มูเซอ อีก้อ เย้า เป็นต้น ยังระบุด้วยว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำ ค้ายาเสพติด และย้ายเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน มองว่าเป็นผู้บุกรุก และยังชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีวัฒนธรรมรวมถึงภาษาที่แตกต่างกว่ากลุ่มคนไทยส่วนใหญ่ ประเด็นดังว่านี้ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาปกป้องเรียกร้องสิทธิของตนเอง

เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือขึ้น กลุ่มปัญญาชนกลุ่มนี้ได้ใช้แนวคิดแบบวัฒนธรรมชุมชน นำองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงเข้าไปทำงานสนับสนุน รวมกลุ่มชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมโดยใช้พื้นฐานทางภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นผลเกิดความเคลื่อนไหวทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

Verse / ศิลปิน / เตหน่ากู่ / บทเพลง

ที่ผ่านมาเรายังเห็นข่าวการเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ของชาวชาติพันธุ์อยู่เนือง ๆ บ้างทำได้ บ้างยังคงรอความหวัง มีหลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพวกเขา สำหรับเรื่องที่กำลังจะพูดถึงนี้เป็นอีกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของชนชาติพันธุ์ผู้อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกับเรา

ชาวปะกาเกอะญอคนนี้ชื่อว่า คลีโพ หรือ ณัฐวุฒิ ธุระวร ศิลปินที่ใช้ดนตรีเป็นสื่อนำเสนอเรื่องราว วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนการแสดงตัวตนของพวกเขาผ่านเสียงเพลง บทกวี ผสมผสานเข้ากับความร่วมสมัย โดยการนำ เตหน่ากู เครื่องดนตรีประจำท้องถิ่นที่พวกเขาใช้เล่นประกอบบทธา ซึ่งหมายถึงบทกวีประจำชาติพันธุ์ มีเนื้อหาที่พูดถึงประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การใช้เครื่องดนตรีนี้สืบทอดแบบมุขปาฐะ หรือปากต่อปากบอกต่อกันไปยังรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง

ประวัติศาสตร์เครื่องดนตรีชื่อ เตหน่ากูนั้นมีเรื่องเล่าอยู่มากมาย ในตำนานเล่าว่าเมื่อครั้งที่เหล่าชาติพันธุ์นั้นกำลังถูกศัตรูรุกราน ศิลปินคนหนึ่งของชาวปะกาเกอะญอได้ดีดเตหน่ากูสิบสองสายเสียงเพลงบรรเลงไพเราะทำให้ผู้มารุกรานนั้นหลับใหลเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงเพลง ชาวชาติพันธุ์จึงสามารถอพยพหนีออกกันมาได้

ว่ากันว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ใช้เวลาประกอบร่างกว่า 3 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ด้วยพิธีรีตองมากมาย อย่างปีที่หนึ่งต้องจับจองไม้มาสร้างตัวเตหน่า โดยเลือกหาเฉพาะคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง นำไม้มาฝังดินตามทางสามแพร่งจนครบหนึ่งสัปดาห์ ค่อยขุดนำไปขึ้นรูป และปีต่อไปจึงทำการขึงสาย

เตหน่า หรือ เตหน่ากู เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย วิธีการเล่นจะวางลักษณะคล้ายกับกีตาร์ เตหน่ากูนั้นส่วนคอจะโค้งงอขึ้นลักษณะเหมือนพิณ รูปแบบดั้งเดิมส่วนลำตัวจะเป็นไม้ มีการใช้หนังสัตว์บาง ๆ อย่างหนังแมวขึงประดับ ส่วนด้านหน้า มีสาย 6 – 8 สายที่ทำจากวัสดุอย่างเอ็นสัตว์หรือเถาวัลย์ ปัจจุบันส่วนมากเปลี่ยนมาใช้แผ่นเหล็กบาง ๆ หรือแผ่นไม้ทำส่วนด้านหน้าแทนหนังสัตว์ และใช้สายเบรกมอเตอร์ไซค์ขึงทำสาย ถือได้ว่ามีการพัฒนาทางกายภาพตามยุคสมัยเรื่อยมา โดยการริเริ่มจากพี่น้องนักดนตรีชาวปะกาเกอะญอหลายท่านหลายรุ่น และแน่นอนว่ายุคปัจจุบัน คลี โพ ถือว่าเป็นผู้ริเริ่มโมเดิร์นเตหน่า หรือเตหน่าร่วมสมัยที่ประยุกต์ให้สามารถเล่นกับรูปแบบเพลงในปัจจุบันได้ด้วย

“อย่างไม้ที่ใช้ตอนนี้คือ ไม้ซ้อ ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนที่ปรากฏอยู่ในบทกวีบรรทัดที่พูดถึงเครื่องดนตรีชนิดนี้ของปะกาเกอะญอ มีความหมายทำนองที่ว่า เมื่อดีดแล้วได้ชวนให้คิดคำนึงถึงเรื่องราวในอดีต คนรุ่นก่อน ๆ เขาเลือกใช้ไม้เนื้ออ่อนเพราะว่าไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการขุดเจาะ และไม้ซ้อนั้นก็เป็นไม้ที่คนล้านนาสมัยก่อนเขาใช้ทำเรือกันด้วย เป็นไม้ที่แข็งแรงแต่ว่าอ่อน พอทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะมีน้ำหนักเบา เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะมีเรื่องราวให้นึกถึงเสมอ”

“ขนาดเราเองเป็นนักดนตรีแทบจะยังไม่อยากเล่นเลย แล้วนับประสาอะไรกับคนทั่วไปที่จะทำให้เขาอยากมาเล่นได้ ฉะนั้นก็เลยคิดว่าถ้าเราไม่อยากให้สิ่งนี้หายไปก็ต้องหาวิธีการ หรือว่ารูปแบบที่น่าสนใจเข้ามาเพิ่มเติมให้ได้ ซึ่งจะมีใครทำ ถ้าไม่ใช่เราเองที่ทำ เรามีโอกาสได้เรียนดนตรีสากลก็เลยนำเอามาสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้”

คลีเล่าเรียนวิชาดนตรีสากลจากสาขาดุริยางค์ศิลป์มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจบการศึกษาจึงเริ่มคิดค้นวิธีการต่าง ๆ จากเครื่องดนตรีที่มีรูปแบบเสียงค่อนข้างจำกัดเล่นได้อยู่ไม่กี่ตัวโน้ต คลีนำมาต่อยอดโดยการทำให้มีช่วงเสียงที่กว้างขึ้นอย่างเช่น การเพิ่มจำนวนสาย ทดลองใช้ไม้ทำกีตาร์มาทำเตหน่า เพิ่มคอเตหน่าเป็นสองคอเพื่อให้ได้เสียงที่มีมิติมากยิ่งขึ้น หรือหาวิธีการเล่นให้กว้างและหลากหลายขึ้น อาทิ การเล่นคอร์ด หรือลักษณะการเล่นแบบฟิงเกอร์สไตล์ (Finger Style) ปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพลงจากบทธาภาษาปะกาเกอะญอเป็นเนื้อเพลงภาษาไทย เพื่อให้สื่อสารกับคนทั่วไปได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ฟังง่ายขึ้น เมื่อผสมผสานอยู่กับดนตรีพื้นบ้านของเขา และยังคงความเป็นชนชาติพันธุ์ด้วยการมีเนื้อเพลง เป็นบทกวีแบบภาษาชาวปะกาเกอะญออยู่ด้วย เขายังกำหนดจังหวะการเล่นให้เป็นสากลขึ้นด้วยวิธีการนับห้องแบบ 2/4, 4/4 เพื่อให้ผู้ฟังคุ้นชินเป็นความร่วมสมัย จากนั้นความสนใจก็พรั่งพรูเข้ามา และได้รับการตอบรับจากเพื่อนนักดนตรีร่วมถึงผู้ฟังกลุ่มใหม่ไม่น้อย

บางส่วนจากเนื้อเพลงชื่อ ‘ดูเลเลออเล’ คำนี้ภาษาถิ่นหมายถึง คิดคำนึง

ซอ เก่อ ยือ เด ลอ เส่ หน่อ เก เยอ ฮี่ เย่อ กอ กว่า หล่า พือ เทาอ แม ป่า ชี ยี่ เก่อ แฮ เก โออ ปกา

แปลความหมายเป็นภาษาไทยว่า คิดถึงบ้านเกิด เฝ้ารอพือเทาะแมป่า (พือเทาะแมป่า เป็นผู้เฒ่าในตำนานที่คนปะกาเกอะญอเชื่อว่าจะกลับมาพร้อมกับความหวัง เป็นคนที่จะทำให้ชาวปะกาเกอะญอได้กลับมาอยู่ร่วมกัน)

Chorus / การพัฒนา / สื่อสาร / สืบทอด

ถึงแม้จะมีคนที่ยังเล่นเตหน่ากูอยู่บ้างในชุมชน แต่ก็หาได้น้อยคนที่จะเลือกเอาช่วงเวลาของตัวเองมาทุ่มเทไปกับการพัฒนาเครื่องดนตรีประจำถิ่นชนิดนี้ เครื่องดนตรีสมัยใหม่ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าอย่าง กีตาร์หรือเปียโน ก็ดึงความสนใจของเด็กยุคหลัง ๆ ให้เข้าไปเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี อาจพูดได้ว่า ณ เวลานี้ คลี โพ เป็นปะกาเกอะญอเพียงหนึ่งเดียว ที่กำลังมุ่งหน้าพัฒนาต่อยอดเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้เกิดความน่าสนใจและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เป้าหมายสำคัญที่ทำให้เขาทุ่มเทกับการพัฒนาใช้ดนตรีเป็นสื่อนำทางเพียงหวังจะเจอเพื่อนที่กำลังคิดเปลี่ยนแปลงอยู่เช่นเดียวกับเขา เพื่อจะได้รวมกลุ่มพลังให้ใหญ่ขึ้น และจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งมีคุณค่าประจำถิ่นในอนาคตต่อไป

“ในยุคหนึ่งของพ่อ คาบเกี่ยวกับการเมืองด้วย ในสมัยที่มีนโยบายของรัฐไล่คนออกจากป่า ซึ่งก็เป็นบ้านที่อยู่อาศัยของพวกเรานั่นแหละ ชาวบ้านเราก็มีคนไม่เห็นด้วย ซึ่งก็คือกลุ่มศิลปินและกลุ่มนักปราชญ์ ที่พยายามออกไปหาเพื่อนฝูง ออกไปรวบรวมคนที่เห็นค้านการไล่คนออกจากป่า แต่ครั้นจะออกไปเดินประท้วงก็ดูธรรมดาน่าเบื่อ จึงใช้เครื่องดนตรีประจำถิ่นนี้ เป็นตัวการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงกับสังคมข้างนอกให้ได้มากยิ่งขึ้น พูดคุยแลกเปลี่ยน บอกเล่าเรื่องราวของป่าที่เป็นเหมือนบ้านของเรา ผ่านเสียงเพลงของเรา”

อิทธิพลสำคัญที่ทำให้คลีตั้งใจจะสืบทอดเครื่องดนตรีชนิดนี้ต่อไป ส่วนหนึ่งมาจากพ่อของเขา หรือที่ใคร ๆ ต่างเรียกว่า ‘พาตี่ทองดี’

พาตี่ คือคำที่ชาวปะกาเกอะญอใช้เรียกญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชายเพื่อแสดงความนับถือ นัยว่าคือการเรียกว่าคุณลุง หรือคุณอาก็อาจว่าได้ พาตี่ทองดีเป็นแรงบันดาลใจหลักที่ทำให้คลียังคงเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดมุมมองความคิดผ่านเสียงเตหน่ากู จากผู้เป็นพ่อที่เคยเล่นให้ฟังอยู่เสมอตั้งแต่วัยเด็ก ทำนองต่าง ๆ นั้นยังแทรกซึมอยู่ในความทรงจำของเขาตลอดมา ถึงแม้ว่าเขาจะเล่าเรียนศาสตร์ดนตรีจากอีกฟากหนึ่งของโลก คลีไม่เคยคิดที่จะทิ้งเสียงเตหน่าไป เขาจึงเลือกใช้เครื่องดนตรีแห่งชาติพันธุ์ชิ้นนี้มาเป็นเครื่องมือสื่อสาร เป็นกระบอกเสียงหวังทำให้พี่น้องชาวปะกาเกอะญอได้รับการยอมรับ และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เมื่อช่วงต้นปี 2018 คลี โพ ได้รับเชิญให้นำเตหน่ากู ผสมวงดนตรีร่วมสมัยของเขาขึ้นแสดงบนเวทีอย่าง TEDx Chiang Mai แน่นอนเมื่อวัฒนธรรมของเขาถูกบรรเลงผ่านสายตาของคนทั่วไปทั้ง ชาวไทย ชาวต่างชาติ ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างน่าพอใจ และเชื่อว่า ชาวปะกาเกอะญอก็น่าจะรู้สึกภูมิใจในเครื่องดนตรีชนิดนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อรู้ว่าสามารถใช้ร่วมเล่นกับเครื่องดนตรีฝั่งสากลได้แบบชนิดที่ไม่ต้องอายใคร ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ก็ยังถูกกระจายไปในวงกว้างทำให้หลายคนรับรู้การมีตัวตนของพวกเขาได้อีกไม่น้อย

เขายังเปิด “บ้านพาตี่” เป็นบ้านที่ต้อนรับคนทุกคนให้มาเรียนรู้วัฒนธรรมปะกาเกอะญอ และเน้นให้คนชุมชนได้มาร่วมสร้างความเข้าใจ มองเห็น ถ่ายทอดประสบการณ์ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ให้ลูกหลานชาวปะกาเกอะญอได้ซึมซับเพื่อสืบทอดต่อไป มีการจัดเวิร์กชอปสร้างและเล่นเตหน่า เพื่อมุ่งหวังให้เด็กรุ่นหลังยังสามารถรักษารากเดิมทางสังคมชาติพันธุ์สร้างความเจริญเติบโต และยังคงแข็งแรงต่อไปในอนาคต

บางส่วนจากเนื้อเพลงชื่อ ‘บ้านพาตี่’

ชอ อ่อ โอ เลอ ปก่า โดอ ปู เก่อ ญอ โพ เลอ ปก่า โดอ ปู

เต หน่า กู ส่อ เส่อ กรู กรู คลี่ เส่อ หยื่อ ที ลอ ก่อ ปู

(แปลไทยให้ความหมายว่า)

ไก่บ้านขันกลางป่าใหญ่

เก่อญอโพ (เก่อญอโพ คือคนปกาเก่อญอ) กลางป่าใหญ่

เตหน่าส่งเสียงกู่กู่ เย็นมาให้คิดถึงบ้านเกิด

เหย่อ พี พี แก เถ่อ หย่อ บือ เหย่อ โหม่ โหม่ แก เถ่อ กา บือ

เยอ พือ พือ แล กว่า เก ทือ เหย่อ ป่า ป่า แก เถ่อ โฆ หยื่อ

(แปลไทยให้ความหมายว่า)

ยายตื่นมาเหยียบครกกระเดื่อง แม่ตื่นมาช่วยยายฝัดข้าว

ตาไปดูกับดักทือ (ทือเป็นชื่อกับดัก) พ่อย่างหนูข้างเตาไฟ

พา ตี่ โพ ปก่า หน่า เตอ โล บอ เก่อ โต แล ฆอ เอาอ โถ่

หน่อ เส่อ ดา ฮอ หม่า เลอ โย เก่อ เส่อ โข่ เส่อ หยื่อ เส่อ โญ

(แปลไทยให้ความหมายว่า)

พาตี่โพ (น้าคนสุดท้อง) ไม่ฟังใครหรอก เสียงจากใจไม่ต้องพูด

เข้าป่ายิงนกอย่างเพลิดเพลิน หน่อเส่อดา (ลูกคนสุดท้อง) หายไปในเมือง

บ้านดอย คิดถึง เงียบเหงา

Outro / เดินหน้า / อนาคต

คลีเดินทางร่วมกับเตหน่ากูมาเป็นเวลานานหลายปี แต่หากนับช่วงเวลาที่ใช้ชื่อ คลี โพ (Klee Bho) มุ่งมั่นทำอัลบัมเพลง “Tales of Tenagu” หรือเรื่องเล่าจากเตหน่ากูนี้ใช้เวลาราว 2 ปี เป็นเวลาสองปีที่หวังให้เสียงเพลง เรื่องราว และจิตวิญญาณของความเป็นชาติพันธุ์ที่ผสมรวมอยู่นั้นเข้าถึงคนทั่วไปได้ในวงกว้าง ตามเจตนาเดิมของสายเลือดปะกาเกอะญอคนนี้

บางส่วนจากเนื้อเพลงชื่อ ‘สบายใจ’

แม่น้้าทุกสายไหลสู่ทะเล แต่ทะเลนั้นก็ไม่เคยเต็ม แม่น้้าทุกสายไหลสู่ทะเล และทะเลนั้นก็ไม่เคยเต็ม คิดอะไรมากมาย คิดมากมายวุ่นวาย

“ตอนนี้คนเข้าใจคนปากาเกอะญอว่าเป็นคนที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในด้านการศึกษาหลาย ๆ อย่าง ยังลำบากอยู่ ยังยากจนอยู่ เป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงยาก ซึ่งแน่นอนว่าถ้าจะให้ทุกคนมามีเงินมีทองทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ถ้าใช้เครื่องดนตรี นำมาพัฒนาให้สมบูรณ์แบบที่สุด มีความเข้ากับสากล ก็คิดว่าน่าจะเปลี่ยนมุมมองที่คนอื่นมองเราได้ แล้วเครื่องดนตรีก็มีเรื่องราวทั้งหมดของคนปะกาเกอะญออยู่ด้วย”

ศิลปินชาวปะเกอะญอชื่อ คลี โพ คนนี้ถือเป็นอีกกระบอกเสียงที่ดังกังวานจากภูเขาสู่เมือง เกิดเป็นความสม่ำเสมอต่อเนื่อง เชื่อได้ว่าเรื่องราวชาติพันธุ์ของพวกเขาจะเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไปอย่างแน่นอน มาดูกันว่าความเชื่อ ความหวัง และความตั้งใจของคนหนึ่งคน จะส่งผลกระเพื่อมต่อสังคมได้มากน้อยขนาดไหนกัน

– End –

เขียน : อธิวัฒน์ อุต้น

ภาพ : เเฟนเพจ kleebho

เนื้อหาอื่นๆ

21 กรกฎาคม 2020
22 มกราคม 2020
31 สิงหาคม 2018

Copyright © 2013 THETHAIACT