17 ธันวาคม 2019

เสียงของคนรุ่นใหม่กับงานภาคประชาสังคม

ปิยพงศ์ ปัญญาดา เจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา

มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ทำงานพัฒนาในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะคนจนและคนด้อยโอกาส เช่น เกษตรกร ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เด็ก สตรี ชาวประมง หมอเมือง การดำเนินงานของมูลนิธิ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเสริมสร้างให้เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาศักยภาพ ในระดับบุคคล ครอบครัว กลุ่ม และเครือข่าย

ด้านบนทั้งหมดเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร ที่ถูกคัดลอกมาจากแผ่นพับประชาสัมพันธ์ของ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา แต่หากสืบสาวราวเรื่องเเล้ว มูลนิธิเริ่มดำเนินงานจาก โครงการพะเยาเพื่อการพัฒนา (North net) ที่มุ่งทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นปีที่วัยรุ่นยุค 90 และ มิลเลนเนียมหลายคนยังไม่ทันเกิด ปิยพงศ์ ปัญญาดา ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาก็เป็นหนึ่งในนั้น  … อะไรเป็นเหตุผลให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานภาคประชาสังคม วันนี้ไทยแอ็คชวนอ่านไปพร้อมกัน

งานพัฒนาสังคม ในทัศนะของปิยพงศ์ ปัญญาดา

งานพัฒนาสังคมเป็นงานท้าท้าย ไม่มีกรอบให้ยึดติดว่าต้องทำแบบไหน เรากำลังทำให้เกิดการแก้ปัญหาของชุมชน โดยชุมชน งานภาคประชาสังคมไม่ใช่งานที่เลิกทำแล้วปัญหาจะหมด แต่เป็นงานที่ยิ่งมีคนลุกขึ้นมาทำงานได้มากเท่าไหร่ปัญหาเก่าจะทยอยหมดไป เพื่อให้เราได้มีเรี่ยวแรงในการรับมือปัญหาใหม่ ๆ ได้  เวลามีปัญหา ชาวบ้านจำเป็นต้องตีฆ้องร้องเป่าให้ผู้นำชุมชนเข้ามาช่วยจัดการ บางอย่างบางครั้งปัญหาถูกทิ้งไว้ไม่ได้รับการแก้ไข กลไกภาคประชาสังคมในชุมชนจึงจำเป็นเพราะบางปัญหาไม่ต้องรอให้รัฐ ให้ราชการมาแก้ไขเพราะมันรอไม่ได้ การลุกขึ้นมาเป็นภาคประชาสังคมมาจากหลายปัจจัย อย่างแรกคือเป็นผู้เสียหายจากการประสบปัญหา และจากการเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกบ้าน โดยส่วนตัวรู้สึกมีประโยชน์ มีคุณค่า ถ้าได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา หรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม

พะเยา ดูงานเบา … ความท้าทายในพื้นที่อยู่ตรงไหน

จังหวัดพะเยาของเรา เป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยง ปัญหาหนึ่งที่เราเจอแต่ไม่เห็นว่าที่อื่นเจอก็คือปัญหายาเร่ ยาปลอม ที่ปนเปื้อนสเตียรอยด์ ซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชน เพราะพวกเขาใช้ความไม่รู้ของคนในชุมชน กับการให้ผลประโยชน์ต่อผู้นำชุมชน หมู่บ้านข้าง ๆ เรานี่เองก็มีมาตั้งโต๊ะตรวจสุขภาพฟรี โดยที่ไม่ได้เป็นหมอหรือพยาบาล แล้วแฝงการขายผลิตภัณฑ์

ที่สำคัญจังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดแรก ๆ ในการลุกขึ้นมาทำงานเพื่อพิทักษ์รักษาสิทธิ ในการต่อสู้ฟ้องร้องกับเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่ตั้งอยู่ในชุมชนอำเภอน้ำแวน แล้วส่งผลกระทบกับคนและปศุสัตว์ในชุมชน  (มีอาการวูบ วัวออกนมไม่เต็มที่) พวกเขาก็สืบค้นข้อมูลกันเอง การมีองค์กรภาคประชาสังคมอย่างเรา จะเข้าไปสนับสนุนการทำงาน ให้มีพลังทางการต่อรองมากขึ้น เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่อสู้ ดังนั้นพะเยาดูยังไงก็ไม่เหลืองานเบา ทุกเรื่องที่ยังเหลือให้พัฒนาล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง

องค์กรภาคประชาสังคมทำอะไรกัน กับการต่อสู้ของชาวบ้านที่รวมตัวกันเอง

ยกตัวอย่าง หากมีเรื่องที่จำเป็นต้องการการช่วยเหลือเกิดขึ้น เมื่อประชาชนเดินไปหารัฐ รัฐก็จะช่วยแนะนำว่าควรไปทางไหน ตรงไหน ชี้แนะบางทีก็แจกแจงขั้นตอน บางเรื่องขั้นตอนเยอะ ไอ้คนได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็ชาวบ้าน ต้องหากิน สักพักก็ห่อเหี่ยวหัวใจ ยอมแพ้ไปเอง แต่หน้าที่ของเรา คือการพาพวกเขาไปหาการช่วยเหลือเลย พร้อม ๆ กับสร้างการเรียนรู้ ว่าถ้าหากมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น เขาก็สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คนอื่นได้ ว่าควรจะทำอย่างไรมีขั้นตอนเเบบไหน อย่าลืมว่าปัญหามันไม่มีวันหยุด บางครั้งอยู่กับที่ก็ไม่มีประโยชน์

ไม่ได้เป็นพวกที่รับเงินต่างชาติมาบ่อนทำลายประเทศใช่ไหม

ภาคประชาสังคมบางส่วนรับเงินต่างประเทศ ไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ ในเมื่อแหล่งทุนที่จะทำให้การทำงานพัฒนาสังคมภายในตีบตัน การที่คนรวมตัวกันแล้วขอรับเงินต่างชาติมาพัฒนาบ้านตัวเองไม่ใช่เรื่องน่าอาย เราต้องพูดได้เต็มปากถ้าวันไหนรับเงินต่างชาติ แต่ไอ้การมาบอกว่าภาคประชาสังคมคือพวกรับเงินต่างชาติมาบ่อนทำลายประเทศ คงเป็นพวกเสียโอกาสในการได้รับผลประโยชน์แอบแฝงบางอย่าง ดังนั้นเราจะยืดอกรับ ถ้าวันไหนรับเงินต่างชาติ นั่นแสดงว่าเราพัฒนาตัวเองทั้งทางความสามารถ การประสานงาน แต่เราก็กล้าจะบอกได้เต็มปากว่าภาคประชาสังคมไม่ใช่การชุมนุมประท้วงอย่างเดียว และไม่ได้มาบ่อนทำลายชาติ

ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณได้อะไรจากการก้าวเข้ามาเป็นคนทำงานภาคประชาสังคม

งานภาคประชาสังคมทำให้ผมเปลี่ยนไปมาก ทั้งความคิดต่อตัวเองและการมองคนอื่นรอบข้าง เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นทุกคนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาและลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาไปด้วยกัน รวมทั้งการมองคู่ตรงข้าม ไม่ใช่ว่ารัฐ หรือเอกชนจะเป็นศัตรู แต่กลุ่มพวกนี้ก็มีความสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ ดังนั้นการทำให้คนจากสามกลุ่มมาทำงานพัฒนาทั้งในเชิงพื้นที่ และเชิงประเด็นร่วมกันได้ เป็นสิ่งที่จำเป็นหลังจากนี้

คำแนะนำจาก ปิยพงศ์ ปัญญาดา ในฐานะผู้ปฏิบัติงานต่อภาคประชาสังคม

การทำงานภาคประชาสังคม ควรเปิดรับคนรุ่นใหม่ เรื่องนี้เป็นประเด็นท้าทาย ที่เราจะต้องทำให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำงานภาคประชาสังคม รูปแบบการทำงานภาคประชาสังคมเองก็ควรปรับปรุงให้รองรับกับโลกอนาคตที่จะเข้ามา อย่าวิ่งตามแหล่งทุนจนต้องทิ้งจุดยืนในการทำงานกับชุมชน อย่าวิ่งตามวิธีการ รูปแบบเก่า ๆ แต่เพียงอย่างเดียว ผู้นำองค์กรก็ควรให้โอกาส ให้พื้นที่ ให้เวทีให้คนรุ่นใหม่ได้ทำงาน เพราะเมื่อคนได้ทำงานเขาจะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง

เนื้อหาอื่นๆ

19 พฤศจิกายน 2018
28 กุมภาพันธ์ 2020
17 ธันวาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT