11 พฤศจิกายน 2018

นักเดินทางสองล้อ

เดินทางไกลไปกับมูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเซีย

นักเดินทางสองล้อ (ขบวนที่ 026 กรุงเทพ-หนองคาย)

ในวันที่สอนักเดินทางสองล้อ (ขบวนที่ 026 กรุงเทพ-หนองคาย) ขายังมีเรี่ยวแรง คุณอาจไม่เคยรู้สึกถึงอิสระในทุกก้าวเดิน ในวันที่สายตายังมองเห็นแสงสุดท้ายยามพระอาทิตย์อัสดง คุณคงคิดว่าความมืดมนกำลังใกล้เข้ามาทุกที  แต่คุณคงรู้สึกขอบคุณโชคชะตา  หากได้รู้ว่ามีใครอีกหลายคนลำบากกว่าคุณ

ครั้งนี้ได้รับโอกาสจากเพจ ไทยแอค ให้มาบันทึกเรื่องราวการเดินทาง ของน้องๆผู้พิการจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ จ.หนองคาย  ที่แห่งนี้เปิดสอนสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหว ตามปรัชญาของวิทยาลัยที่ว่า “ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม”  การเดินทางครั้งนี้ น้องๆจะโดยสารรถไฟมาร่วมโครงการ “ค่ายเสริมสร้างศักยภาพนักเรียนทุนwafcatครั้งที่2” ณ จ.นนทบุรี   เด็ก ๆ ทุกคนที่มา คือคนที่ได้รับทุนจากทางมูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเซีย หรือ Wafcat

โดยโครงการนี้จัดขึ้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อให้น้องๆที่ได้ทุนจาก Wafcat ทั่วประเทศ ได้เสริมสร้างประสบการณ์จากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆที่ทางมูลนิธิจัดขึ้น และเหตุผลที่พวกเราเลือกเดินทางด้วยรถไฟก็เพราะว่า เป็นการเดินทางที่สะดวกที่สุด เนื่องด้วยสถานีรถไฟหนองคาย อยู่ใกล้กับวิทยาลัยและเป็นการเดินทางที่ไม่ต้องต่อรถหลายครั้ง อีกทั้งทางการรถไฟ ก็จัดโบกี้ให้สำหรับคนพิการโดยเฉพาะ

การเดินทางครั้งนี้ มีครูเมืองแมน ครูหนุ่มอารมณ์ดี ผู้พาผมตะเวนไปทานร้านอาหารอร่อย ๆ ทั่วเมืองหนองคาย เป็นคนนำทางในครั้งนี้  ต่อมาน้องวายพี่ใหญ่อายุ 21 ปี ผู้ผ่านการเดินทางอย่างโชกโชนทั้ง เครื่องบิน รถตู้ รถเก๋ง รถทัวร์ แต่ครั้งนี้เป็นการเดินทางโดยรถไฟครั้งแรกของเขาและเด็กๆทุกคน

สมาชิกคนถัดมาคือ น้องอ้อน สาวน้อยเรียบร้อย พูดน้อยน่ารักเพียงหนึ่งเดียวของทีมเรา  หนุ่มน้อยคนต่อมาคือแซกอายุ 17 ปี ที่คุณแม่ขออาสามาดูแลด้วย เนื่องจากน้องมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและเพิ่งเข้ามาเรียนได้ไม่กี่เทอม ทุกคนล้วนแต่ต้องอาศัยรถวิลแชร์ จะมีน้องอ้อนที่สามารถใช้ Triple Walker อุปกรณ์ช่วยหัดเดินได้   และสุดท้ายท้ายสุดคือ  กี้ พระเอกของเรา ผู้คอยช่วยเหลือเพื่อนๆทุกคนตลอดการเดินทาง ทั้งแบก ยก ดัน เข็น ขอให้บอก กี้จัดให้ได้หมด กี้เป็นน้องเพียงคนเดียวในกลุ่มที่แขนขาแข็งแรงเหมือนคนปกติ  แต่น้องมีความพิการทางด้านสายตาและสมอง ที่ผมขอนับถือน้ำใจของเขา  และเมื่อทำความรู้จักผู้ร่วมการเดินทางครบแล้ว เราก็พร้อมที่จะออกเดินทางกันแล้วละ…..

การเดินทางเริ่มด้วยการทยอยส่งสมาชิกไปสถานีรถไฟหนองคาย ด้วยรถเก๋งของครูเมืองแมน มันเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะขนาดรถเข็นที่ใหญ่เกินกว่าจะเอาเข้าไปได้ง่ายๆ น้องๆต้องใช้ความพยายามในการพาร่างกายของตนเองขึ้นรถ จึงต้องทยอยกันไปได้แค่รอบละ 1 คนเท่านั้น (ขับไป-กลับ ถึง 4 รอบ)

เมื่อทุกคนมากันพร้อม ก็ได้เวลาขึ้นรถไฟขบวน 026 โบกี้ที่ 9 กรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งเป็นโบกี้เฉพาะของผู้พิการที่มีคนทั่วไปร่วมโดยสารมาด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมให้คือ ลิฟท์สำหรับขึ้นโบกี้ ห้องน้ำสำหรับคนพิการ และจุดจอดวิลแชร์

การขึ้นรถไฟของพวกเรา ดูเหมือนจะเป็นจุดสนใจของผู้โดยสารคนอื่น  แต่ก็ยิ้มได้เมื่อเห็นน้ำใจของคนไทย ที่คอยมาช่วยเหลือ ถามไถ่ ไม่ได้แสดงความรำคาญออกมาแต่อย่างใด มันทำให้ผมรู้สึกได้อย่างหนึ่งว่า ถึงเทคโนโลยีการอำนวยความสะดวกผู้พิการของไทยเรา อาจด้อยกว่าประเทศอื่นอีกหลาย ๆ ประเทศ แต่น้ำใจคนไทยในเรื่องการช่วยเหลือกัน ก็ยังคงไม่ได้น้อยหน้าชาติใดในโลก (แต่ถ้าพัฒนาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกด้วยก็จะยิ่งดี)

เด็ก ๆ ทุกคนดูตื่นเต้นที่ได้ขึ้นลิฟท์รถไฟ พอทุกคนขึ้นมากันครบ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะคอยมาจัดการเก็บรถวิลแชร์ และปรับเบาะที่นั่งเป็นเตียงนอนให้  น้องๆทุกคนดูตื่นเต้นกับที่นอนใหม่ในคืนนี้

ระหว่างที่รถไฟกำลังแล่นผ่านค่ำคืนนี้ไป ความคิดมันก็เคลื่อนไปตามความรู้สึก ที่ได้เห็นความลำบากในการเดินทางของน้องๆ เราเคยได้ยินคำคมหนึ่งบอกไว้ว่า “The world is a book and those who do not travel read only one page.” “โลกใบนี้เปรียบเหมือนหนังสือเล่มหนึ่งและคนที่ไม่เคยเดินทางเลย ก็เปรียบเหมือนคนที่อ่านหนังสือเพียงหน้าเดียว.” เราชื่นชอบคำคมนี้และมันทำให้เราอยากออกเดินทาง มาวันนี้เราเกิดคำถามกับตัวเองว่า แล้วหนังสือเล่มนี้ ถูกออกแบบมาให้ทุกคนได้อ่านมันอย่างเท่าเทียมกันแล้วหรือ ?

แต่วันนี้น้องๆก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ต่อให้การอ่านหนังสือเล่มนี้ของพวกเขาจะยากเย็นเพียงใด พวกเขาก็ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา และยังยิ้มได้ตลอดการเดินทาง  ยังคงเชื่อเสมอว่าการเดินทางครั้งนี้ เปรียบเสมือนหนังสือหน้าใหม่สำหรับพวกเขาและสำหรับตัวผมเช่นกัน

ค่ำคืนบนรางไม้หมอนกำลังผ่านไปด้วยเสียงดัง ฉึกฉักๆ ตลอดค่ำคืน  เรามาถึงหัวลำโพงกันแต่เช้าตรู่ เพื่อมารอขึ้นรถตู้เดินทางต่อ ระหว่างรอเราได้ถามความรู้สึกในการเดินทางด้วยรถไฟครั้งแรกกับน้องๆ  ทุกคนต่างให้ความเห็นไม่ต่างกันว่า ตื่นเต้นมากเลยพี่ และก็คิดว่าได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางที่พอใจแล้ว จะติดก็แค่อย่างเดียวเท่านั้น ผมนอนไม่หลับกันเลยเพราะว่า เสียงรถไฟมันดัง ฉึกฉัก ฉึกฉัก ตลอดทั้งคืน ผมเลยถามต่อไปว่า แล้วอยากได้อะไรเพิ่มเติมไหมละสำหรับการเดินทางครั้งนี้ หนุ่มกี้ก็ตอบกลับมาอย่างทันควันเลยว่า “ผมอยากถ่ายรูปกับกัปตันที่ขับรถไฟครับ พี่คิดดูเขาอุตส่าห์ขับรถไฟมาส่งเราถึงกรุงเทพ ผมอยากขอบคุณเขา” ………

เป็นเวลาเพียง 1 วันกับอีก 1 คืน ที่เราได้รู้จักกัน ผ่านบทสนทนาที่มิได้มากมาย แต่เรากลับสนิทใจตลอดเวลาที่ได้อยู่กับพวกเขา  การเดินทางทีดูเหมือนจะยากลำบาก กลับกลายเป็นการเดินทางแห่งรอยยิ้ม ที่คงอยู่ในความทรงจำ ภาพความลำบากดูเหมือนจะค่อยๆจางหาย คงเหลือไว้แค่รอยยิ้ม และความมุ่งมั่นของ ครูแมน น้องวาย น้องอ้อน น้องกี้ น้องแซกและคุณแม่ ที่ต้องการไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง

ก่อนเสียงหวูดรถไฟจะดับลง พร้อมสิ้นสุดลงของการเดินทาง สองล้อวิลแชร์ของทุกคนยังคงหมุนต่อไปตามทาง มันคงจะหมุนไปไกลตามเส้นทางที่แขนสองข้างนำพา เราคงไม่สามารถเดินทางไปกับเขาได้ตลอด เพราะทุกคนก็ต่างมีทางเดินของตนเอง แต่ในฐานะปกติชนที่แขนขายังคงปกติ สิ่งเดียวที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ ไม่ใช่การพาเขาออกเดินทาง แต่เป็นการทำให้ทางเดินของเขานั้น ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้เหมาะสมกับการเดินทาง  ที่เขานั้นจะสามารถออกไปท่องยังโลกกว้าง ได้เหมือนกับคนทั่วไป เพียงเท่านี้เราเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้ คงพร้อมให้เหล่านักเดินทางสองล้อของเรา ออกไปเรียนรู้ท่องโลกอันกว้างใหญ่ต่อไป

“ฝันฉันฝัน หากมีปีกโบยบิน จะบินไปให้ไกลสุดสายตา……แต่วันนี้ขอฉันขอ
เพียงสองขาก้าวเดินไปมา ตามทางแค่นั้นก็สุขใจ”

หมายเหตุ – ในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 มูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเซีย จะจัดให้มีงานครบรอบ 20 ปีการดำเนินงานของมูลนิธิ หากท่านใดสนใจเข้าร่วมกิจกรรม หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่ https://www.wafcat.or.th/

เนื้อหาอื่นๆ

04 กันยายน 2022
22 มกราคม 2024
22 มกราคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT