15 มกราคม 2024

ความฝันของคนตื่นกลางวัน

เมื่อผังเมืองที่ดี จะช่วยแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ และ Exclusive qoute by มานิตย์ อินทร์พิมพ์

- 1 -

ที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องหมายสะท้อนชนชั้น บ้านหรือย่านของคนรวยมักจะสวย ใหญ่โตโอ่อ่า เข้าถึงบริการและโครงสร้างพื้นฐานดี ใกล้พื้นที่สาธารณะ มีความปลอดภัย ขณะบ้านของคนชนชั้นล่างกลับแออัด ห่างไกลความเจริญ ไกลจากโรงเรียนที่ดี โรงพยาบาลที่มีคุณภาพ หรือไม่ก็ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่อันสวยหรูแต่ไม่สามารถเอื้อมถึงสาธารณูปโภคหลาย ๆ อย่าง

ที่เรื่องราวเป็นเช่นนี้ก็เพราะหลายครั้งเมืองสวยเมืองดีไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับคนทุกชนชั้น คนรวยเท่านั้นจึงมีโอกาสเลือกที่อยู่อาศัย เมืองไม่ได้ช่วยให้คนเท่าเทียมกันมากขึ้น ฟุตบาธที่ทำให้คนเดินเท้าลำบาก ความไม่ปลอดภัยในบ้านที่ไร้รั้วรอบขอบชิด ระยะห่างระหว่างที่พักและโรงพยาบาลชั้นนำ

กลายเป็นว่า เมือง คือเครื่องมือขีดแบ่งระหว่างคนรวยกับคนจน ผลักไสให้คนจนยิ่งจนลง และถูกละเมิดสิทธิได้ง่าย เพราะปัญหาของเมืองขัดแย้งกับหลักการของ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ Universal Declaration Human Rights (UDHR) หลายข้อ

หลักการเช่น คนทุกคนต้องเกิดมาเท่าเทียมและเสมอภาค ปราศจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ เพศ ภาษา ความเห็นทางการเมือง หรือทรัพย์สิน ทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทาง อยู่อาศัย เข้าถึงบริการสาธารณะของประเทศ เข้าถึงงาน มีโอกาสพักผ่อน มีสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดี เข้าถึงการรักษาทางแพทย์ เข้าถึงการศึกษา เป็นต้น

ดังนั้น หลายประเทศที่มองเห็นความเชื่อมโยงนี้ จึงพยายามพัฒนาผังเมืองเพื่อให้เอื้อต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

- 2 -

หากอ้างอิงจากรูปธรรมและวิธีคิดจากต่างประเทศ มีหลากหลายตัวอย่างน่าสนใจอาทิ โครงการ “The One Minute City” หรือ เมือง 1 นาที ของกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน พวกเขาพัฒนาถนนเรียกว่า “Street Moves” ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยลดมลพิษทางอากาศที่ประชาชนใช้หายใจ เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อพบปะพูดคุย สร้างสีสันให้เมือง โครงการนี้ประสบความสำเร็จด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เพราะเพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจรรโลงจิตใจ ช่วยลดค่ารักษาพยาบาลที่ประชาชนจะต้องจ่าย

เมืองบาร์เซโลนาในประเทศสเปนก็เช่นกัน พวกเขามีนโยบาย “Superblock” หรือการวางผังเมืองให้เป็นบล็อกขนาดใหญ่ ภายในบล็อกปิดการจราจรสำหรับรถใหญ่ ทำให้ประชาชนได้พื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ คืนมาจากถนน

ในเมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้มีโครงการ “10-Minute City” หรือ การออกแบบเมืองให้ประชาชนสามารถเดินอย่างสะดวกสบายเพื่อพบกับสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตภายใน 10 นาที พร้อมวางแผนเปลี่ยนบรรดาโรงงานเก่า ๆ ให้กลายเป็นอาคารผสมผสาน รวมออฟฟิศ สถานบันเทิง ฟิตเนส สระว่ายน้ำ สวนไฮโดรโปรนิกส์ ฯลฯ ครบครันอยู่ในนั้น

หลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อโครงการ “10-Minute City” อยู่บ้าง เพราะในกรุงเทพฯ เริ่มมีการเอ่ยถึง “15 Minute City” หรือ เมือง 15 นาที แนวคิดของ Carlos Moreno นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส-โคลอมเบีย เป้าหมาย คือ ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนใกล้บ้านได้ภายในการเดินเพียง 15 นาที

หากสังเกตจะพบว่าโมเดลเหล่านี้เน้นระยะทางที่ใกล้ และเน้นการเดิน นั่นก็เพราะ การเดิน คือ วิธีการที่คนเข้าถึงง่ายที่สุดไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นไหน  เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อรถยนต์หรือโดยสารรถประจำทาง และที่มากกว่านั้นคือการทำให้ “เมืองเป็นของทุกคน”

-3-

การออกแบบเมืองโดยยึดเอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้งอาจไม่ใช่ความสำคัญแรกของการพัฒนาประเทศบางประเทศ เพราะแนวคิดนี้ก็ดันตรงข้ามกับการวางผังเมืองแบบแบ่งเป็นโซนที่อยู่อาศัย โซนธุรกิจการค้า โซนอุตสาหกรรม แต่ข้อเสียของการแบ่งแยกโซน คือการทำให้คนต้องเสียเงินค่าโดยสารหรือจ่ายตังซื้อรถส่วนตัว รวมไปถึงการไม่คำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนทุกคน

เพราะผังเมืองที่ดีจะสนับสนุนให้คนทุกคนเข้าถึงโอกาสอันหลากหลาย เราสามารถสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีจากพื้นที่สีเขียวในผัง  มีโอกาสเลือกโรงเรียนดีที่อยู่ใกล้บ้านมากขึ้น  มีโอกาสรอดชีวิตจากอุบัติเหตุ เพราะผังเมืองดีจะช่วยให้รถติดน้อยลงและรถฉุกเฉินไปถึงเร็วขึ้น เรามีโอกาสเข้าใกล้พื้นที่สร้างสรรค์มากขึ้น และขยับเข้าใกล้การสร้างบรรทัดฐานความเท่าเทียมผ่านการคำนึงถึงผู้คนเป็นหลักสำคัญ ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง และลดโอกาสที่ผู้คนจะถูกละเมิดสิทธิในแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยกับประเทศไทยในสายตาของ มานิตย์ อินทร์พิมพ์

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ เจ้าของเพจ Accessibility Is Freedom เข้าถึงและเท่าเทียม

มานิตย์ มีอาชีพหลักเป็นโปรแกรมเมอร์ หนึ่งในผู้จบการแข่งขันวิ่งมาราธอนบนสองล้อวีลแชร์ รวมทั้งเป็นเจ้าของเพจ Accessibility Is Freedom เข้าถึงและเท่าเทียม เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการมากว่าทศวรรษ

“คนกลายเป็นคนพิการในประเทศไทย เพราะสภาพแวดล้อมบีบบังคับ เขาไม่ได้รู้สึกแย่เพราะว่าความพิการ แต่รู้สึกแย่เพราะถูกรุมเร้าจากสภาพแวดล้อม”

หนึ่งในหลากหลายสาเหตุที่นำไปสู่การสร้างค่านิยมเก่า ว่าคนพิการต้องอยู่บ้าน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมพิเศษต้องคนคอยช่วยเหลืออาจเป็นเรื่องของการพัฒนาเมืองและผังเมืองที่ดี หากลองฝันถึงการมีนโยบาย 15 Minute City ที่คนทุกคนสามารถเดินทาง – เข้าถึง และเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้อย่างไร้อุปสรรค ความพิการของคนอาจถูกเลือนให้หายไปในพริบตา สอดรับกับความเห็นของมานิตย์ที่บอกเราว่า

“ผมไม่อยากให้แยกระหว่างโลกคนพิการกับโลกคนปกติ เพราะมันเป็นเรื่องของคนทุกคน คนในสังคมลืมไปว่าพรุ่งนี้คุณตื่นมา ร่างกายคุณเปลี่ยนไปได้ วันหนึ่งคุณต้องแก่ตัวลง อย่างไรก็ต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ การทำให้เมืองเป็นเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้ คนทุกคนสามารถเดินทางได้ เป็นโลกใบเดียวที่ผมอยากเห็น เพราะเมื่อข้อจำกัดในการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ไม่มีแล้ว คนพิการจะกลายเป็นคนธรรมดา กำแพงความพิการจะหายไป”

เรื่อง : นิสากรม์ ทองทา / ณฐาภพ สังเกตุ / กองบรรณาธิการ
ภาพถ่าย : ณฐาภพ สังเกตุ

ภาพประกอบ : กองบรรณาธิการ

เนื้อหาอื่นๆ

17 ธันวาคม 2019
18 มกราคม 2020
06 กุมภาพันธ์ 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT