17 ธันวาคม 2019

เกิดชาติไหน ก็ไม่เหมือนเกิดในชาติพันธุ์

การมีอยู่ที่ดูเหมือนไม่มีของคนไทยบนที่สูง และกลุ่มชาติพันธุ์

ภาพประชาสัมพันธ์บนโปสเตอร์เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมชมดอยสูงบนภาคเหนือ มุมหนึ่งเห็นเป็นยอดภูเขาห่มหมอกขาวประดับด้วยแสงเช้าเจือจาง ขนาบข้างด้วยรูปไร่ชาสีเขียวตองเข้มเป็นขั้นบันได ไล่ระดับเต็มพื้นที่ ถัดไปภาพใหญ่มีหญิงสาวผิวพรรณดีใส่ชุดสีสันแสบตา ประดับประดาด้วยเลื่อม เธอสวมหมวกทรงป้านสูงเด่นมีพุ่มขนย้อยระย้า ยิ้มพรายทอดสายตามา ในรูปนั้นเธอยกสองมือขึ้นประนมประหนึ่งคนกำลังอ้อนวอน

“นักท่องเที่ยวคาดหวังว่าถ้ามาถึงบ้าน ถึงชุมชนพวกเราแล้วจะเจอคนใส่ชุดแบบนี้ใช้ชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงชุดประจำเผ่าของพวกเรามีความหลากหลาย และไม่ได้ถูกหยิบมาใส่ทุกวี่วัน”

เสียงของ ศักดิ์ดา แสนมี ผู้เป็นคน “ลีซู” มาตั้งแต่กำเนิดพูดถึงสถานการณ์ที่วิถีชีวิตของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองถูกนำไปขาย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้การท่องเที่ยว ไม่เพียงเท่านั้นหากหวนคิดถึง “ดอยสูง” เชื่อได้ว่าในจินตนาการของผู้คนจะพบเห็น พิธีกรรม วัฒนธรรมที่แตกต่าง และวิถีชีวิตที่หาดูได้ยากยิ่ง แต่นี่กลับไม่ใช่สิ่งที่ชายชาวลีซูวัยกลางคนคนนี้ภาคภูมิใจ “เรื่องนี้ไม่ได้ส่งเสริมรากฐาน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนชนเผ่าพื้นเมือง เป็นเพียงการนำเฉพาะรูปแบบและกิจกรรมไปสร้างมูลค่า แต่ตัวตนของคนชาติพันธุ์แทบไม่ได้รับประโยชน์ และในทุกวันเรายังต้องเผชิญกับปัญหาอีกมากมาย ทั้งเรื่องสถานะบุคคล ที่ดินทำกิน เรื่องแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่หาดูได้ง่ายสำหรับคนในสังคมเหมือนกันนะ”

ชาวเขาไม่ใช่ชาวเรา

คำว่า “ชาวเขา” กลายเป็นชื่อเรียกยอดนิยม สำหรับคนทั่วไปที่ขนานนามให้กลุ่มชาติพันธุ์ผู้อาศัยบนพื้นที่สูง แล้วเรื่องราวของชาวเขา ช่าง “เขา” สมชื่อ เพราะสิ่งที่คนเหล่านี้ถูกปฏิบัติมาช้านานคือการถูก “ละเลย” ราวกับว่านี่คือชื่อจริงของคนที่ไม่ใช่ “ชาวเรา” หรือพวกเรา ดั่งเดียวกับเรื่องราวที่ถูกเล่าอย่างเหยียดยาว ราวกับอัดอั้นออกมาจากปากของ ศักดิ์ดา แสนมี เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

“ปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน คือการไม่ยอมรับในตัวตนของคนชาติพันธุ์อย่างพวกเรา โดยเฉพาะกลุ่มตระกูลชาติพันธุ์ที่ไม่ได้มีภาษาพูดจากเค้าโครงของภาษาไทย จะถูกมองให้เป็นคนอื่น ตั้งแต่เกิดมาแล้วพอไปแจ้งลงทะเบียนราษฎร์ มักถูกแนะนำให้ใช้ชื่อจริงตามหลักภาษาไทย แทนการใช้ชื่อตามวัฒนธรรมชนเผ่า เมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้าเรียน วันแรกต้องถูกบังคับให้เรียนวิชาภาษาไทย เมื่อเกิดความแตกต่าง ชื่อประหลาด พูดไม่ชัดที่ตามมาแน่ ๆ คือถูกล้อเลียนกลั่นแกล้ง หากติดขัดอุปสรรคเกี่ยวกับสถานะบุคคล เพราะลูกผีลุกคนไม่รู้จะได้บัตรประชาชนไหม กลายเป็นว่าต้องจำใจออกจากระบบการศึกษามาทำมาหากิน บางคนรอพิสูจน์สถานะบุคคลจนเรียนจบไม่สามารถไปต่อระดับมหาวิทยาลัยได้แล้ว ยังดำเนินการกันไม่เสร็จ แล้วการจะหางานที่ไหนก็ยาก เพราะตกคุณสมบัติที่ต้องมีบัตร พอเป็นเช่นนี้แล้วบางคนเลยมุ่งหน้าสู่ธุรกิจสีเทา เมื่อมีการจับกุม ข่าวสารบ้านเมืองนี้จะเรียกเราเหมารวมว่าเป็นพวกชาวเขาขายยา ผลิตซ้ำกันมาจนกลายเป็นวาทกรรม บ่มเพาะทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มคนชาติพันธุ์ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติโดยหน่วยงานรัฐ ตัวอย่างเช่น เวลาราชการจะพิสูจน์ตัวตน พิสูจน์สิทธิอาจฝังใจว่าคนพวกนี้เป็นตัวปัญหา ไม่ใช่คนไทย ไม่ต้องให้สิทธิสถานะก็ได้ปล่อยล่วงเลยไป เมื่อไม่มีสถานะไม่สามารถใช้สิทธิบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานได้ กลายเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพตามมา เหมือนวงจรซ้ำซากของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องเผชิญ และหากมองกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ของหน่วยงานรัฐเอง ยังพบปัญหาการคอรัปชั่น การเรียกเก็บเงินเพื่อเร่งรัดดำเนินการที่มาบั่นทอนให้กระบวนการต่าง ๆ ล่าช้า ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด”

นโยบายหวังดีที่ทำลายล้าง

เมื่อลองคิดตามไปว่า เรื่องราวปัญหาของกลุ่มคนชาติพันธุ์นั้นเกิดขึ้นทุกวัน ยิ่งตอกย้ำหมุดมั่นแสดงอาณาเขตของอคติที่ผู้คนในสังคมอาจมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งเรื่องการบุกรุกป่า การสร้างปัญหาหมอกควัน และการทำไร่เลื่อนลอย กลายเป็นว่า ผู้คนบางกลุ่มในประเทศจึงไม่พร้อมยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการมีอยู่ของพวกเขา เมื่อความแตกต่างหลากหลายนี้เองถูกตีความเป็นคนอื่น ความเสี่ยงในชีวิตของ “ชาวเขา” จะถูกแสดงออกอย่างแจ่มชัดจากการกำหนดนโยบาย ดังเช่นข้อเท็จจริงในอดีต ที่ชาวเขาถูกบอกว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคง” รวมทั้งเคยมีนโยบายให้อพยพคนชาติพันธุ์บนที่สูงลงมาใช้ชีวิตบนพื้นราบ เป็นการไล่รื้อวิถีชีวิตผู้คน โดยมีเครื่องมือชื่อ “กฎหมายและนโยบาย” โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการอาศัยใช้ชีวิตของคนชาติพันธุ์

“ต้องเรียนว่ากลุ่มชาติพันธุ์ส่วนมากทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ป่า การออกกฎหมายป่าไม้ที่ดินซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ป่า เป็นการแบ่งคนออกจากทรัพยากรเมื่อมีพื้นที่อนุรักษ์ก็ต้องไม่มีคนอยู่ หรือบางแห่งให้อยู่อาศัยได้แต่จำกัดสิทธิในการดำเนินชีวิต อยู่แบบไม่ต้องอดตาย แต่ไม่มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเอง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อปี พ.ศ.2537 ตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการควบคุมพืชเสพติดบนพื้นที่สูง มีคำสั่งย้ายชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน 160 ครอบครัว 880 คน ลงมาตั้งรกรากบ้านเรือนใหม่บนพื้นราบ แต่กลับพบว่าชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะสภาพพื้นดินที่รัฐตระเตรียมไว้ให้ล้วนเป็นลูกรัง นำมาซึ่งภาวะแห้งแล้งและแหล่งน้ำไม่เพียงพอ รัฐบาลทดลองทำแบบนี้สามถึงสี่ครั้ง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน ในยุคสมัยนี้ก็ยังมีนโยบายอื่น อย่างเช่นนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่จัดการประหนึ่งว่าย้ายตัวปัญหาออกจากป่าอนุรักษ์ แต่ไม่ได้พิจารณาเลยว่าวิถีชีวิตผู้คนบนพื้นที่สูง และพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์หลายชั่วอายุคนอยู่อาศัยกันแบบเกื้อกูลกับทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่การมุ่งทำลาย”

ต่อสู้เพื่อมีอยู่ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่

องค์การสหประชาชาติ ประเมินว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน 370 ล้านคน ใน 90 ประเทศทั่วโลก หลงเหลือภาษาพูดมากกว่าราว 7,000 ภาษา จากวัฒนธรรมที่ดำเนินวิถีชีวิตแตกต่างกันราว 5,000 วัฒนธรรม ในขณะที่ประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองราว 60-70 กลุ่ม ซึ่งเป็นเพียง “ชนกลุ่มน้อย” ที่มีอยู่ไม่ถึง 10% หากมองบนฐานข้อมูลประชากร แต่หากใช้สายตาของการบริหารจัดการทรัพยากรแล้ว ต่อให้มีเพียงหนึ่งยังคงต้องคำนึงถึงการดำรงอยู่

แม้ความกระท่อนกระแท่นของชีวิตกลุ่มคนชาติพันธุ์ จะทำให้ดูเหมือนพวกเขาอ่อนแอ ไม่มีทางต่อกรกับนโยบายต่าง ๆ ที่มาจากรัฐส่วนกลางได้ แต่ยังคงมีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำให้สังคมได้มองเห็น และยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง เรื่องนี้ คุณศักดิ์ดา แสนมี ได้ย้อนไปถึงต้นตอการเริ่มต้นว่า

“ในช่วงแรก เรารวมกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมือง 4-5 กลุ่ม เพื่อย้อนกลับไปสำรวจ ศึกษา และอนุรักษ์วัฒนธรรมของพวกเราเอง พร้อมกับมุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการการจัดการศึกษากับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะตอนนั้นพวกเราหลายคนเรียนจบจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และมารวมตัวกัน ต่อมาจึงเกิดเป็นรูปแบบการส่งเสริมให้เกิดกลุ่มในการแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดิน อาชีพ และเริ่มทำงานให้กลไกของรัฐยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง ถ้ากางสถิติของชนเผ่าพื้นเมืองที่มาร่วมขบวนกับเราในช่วงแรกมี 17 กลุ่มชาติพันธุ์  แต่ ณ ขณะนี้ขยับขึ้นเป็น 42 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีตัวตน เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย พวกเราพยายามทำงานผ่านการจัดกิจกรรมและการทำงานด้านวิชาการ เพื่อให้รัฐยอมรับว่าความหลากหลายของชาติพันธุ์คือความเป็นไทย การเป็นคนไทยไม่ต้องพูดภาษากลางภาษากรุงเทพเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังมีการทำงานผ่านรูปแบบสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยสภามีหน้าที่ติดตามกฎหมาย นโยบาย ที่จะเกิดผลกระทบกับชนเผ่าพื้นเมืองทุกคน และหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ไม่เกิดปัญหา ”

ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 มาตรา 70 กำหนดไว้ว่า ให้รัฐทำหน้าที่ส่งเสริมวิถีชีวิต ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งในระดับนานาชาติ รัฐบาลไทยเป็นประเทศหนึ่งผู้ให้การรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง

แต่คำถามสำคัญ คือ ทำไมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองยังคงถูกบังคับให้เป็นไทยกลาง ถูกกลืนให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีวัฒนธรรมของส่วนกลาง เสมือนประเทศไทยไม่มีคนกลุ่มนี้อยู่ หรือหากมีอยู่ก็ดูราวกับว่าเป็นคนอื่น คำกล่าวสุดท้ายก่อนแยกย้ายกันของเลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ความแตกต่างหลากหลายนั่นแหละ คือความเป็นไทย และชนเผ่าพื้นเมือง แสดงถึงความสมดุลบนโลกใบนี้ หากเมื่อใดขาดองค์ความรู้พื้นบ้าน วิถีปฏิบัติพื้นบ้าน หรือความเป็นชาติพันธุ์ หมายถึงเราทุกคนยอมสารภาพว่า เราไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้ ”

เนื้อหาอื่นๆ

18 มกราคม 2020
17 ธันวาคม 2019
17 ธันวาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT