01 พฤศจิกายน 2023

ประชาชนร่วมจัดบริการสุขภาพ งานเอดส์สู่การพัฒนาประเทศ

คุยกับอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย

ช่วยแนะนำความเป็นเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่นอกจากทุกคนต้องเป็นผู้ติดเชื้อให้ฟังหน่อย ?
จริง ๆ พวกเรากลุ่มผู้ติดเชื้อมาจากสภาพปัญหา ในอดีตมันมีสภาพปัญหาที่เราต้องเจอร่วมกัน อย่างการเข้าถึงการรักษา การอยู่ร่วมกันกับชุมชน ซึ่งพอรวมกัน เราก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และทำให้มีระบบสุขภาพที่ยั่งยืนเราอยากเห็นคนทุกคนเข้าถึงการรักษาได้จริงและมีระบบรองรับ เพราะเมื่อกอ่นมีผู้ติดเชื้อบางคนที่ต้องขอรับการสงเคราะห์ในฐานะผู้ป่วยอนาถา ซึ่งการรักษาเเบบนี้เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์มานมนาน แล้วเราก็กันเพื่อเปลี่ยนจากผู้รับบริการ ไปเป็นผู้ร่วมจัดบริการ เพื่อเป็นเรี่ยวเเรงในการทำงานพัฒนาระบบสุขภาพด้วยกันกับภาครัฐ จะเห็นได้ว่าระยะหลังมานี้ กลุ่มผู้ติดเชื้อมีส่วนเข้าไปติดตามเพื่อนดูแลเพื่อน ทำให้เพื่อนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งทำงานส่งเสริมป้องกันโรคด้วย ภาพการทำงานของกลุ่ม จึงกลายเป็นการทำงานร่วมกับรัฐ และเคยได้รับรางวัล red ribbon award จากการมีส่วนร่วมของกลุ่มกับระบบการรักษา

ทำไมต้องไปร่วมจัดบริการ ไม่กลัวโรงพยาบาล หมอ หรือหน่วยงานรัฐจะหาว่าจุ้นหรือ ?
เราคิดว่า รพ. มีข้อจำกัดเรื่องบุคคลากร เช่น หมอ พยาบาล ในขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อ มีประสบการณ์ซึ่งทราบดีว่ายาต้านไวรัส จำเป็นต้องกินอย่างตรงเวลา แล้วเราก็เชื่อว่าการมาโรงพยาบาล ไม่ใช่เเค่มารับถุงยาไป แต่จำเป็นต้องมีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเติมทั้งข้อมูล กำลังใจและช่วยเพื่อนคลี่คลายปัญหา เครือข่ายผู้ติดเชื้อในทุกระดับจึงมีการจัดกิจกรรม พบกลุ่ม / เยี่ยมบ้านสมาชิกที่รับยาต้านไวรัสรายใหม่ ดังนั้นการมีส่วนร่วมได้ไม่ได้หมายความว่าเราไก่กา มันก็ต้องมั่นใจว่าเราสามารถร่วมจัดบริการภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยงอย่างพยาบาลได้ด้วย ซึ่งตัวผมเองมาจากการเป็นตัวแทนระดับกลุ่ม แล้วจึงได้รับการเลือกเป็นเตัวแทนจังหวัด ขยับไปสู่ภูมิภาค พวกเรามีกลไกในการแก้ปัญหาต่างกัน ตั้งแต่เเก้ปัญหารายกรณีระดับพื้นที่ ไปจนการทำงานระดับนโยบาย หน้าที่หลักของคณะกรรมการเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ระดับชาติ ก็มีหน้าที่ดูสถานการณ์ ทิศทางของประเทศ และเข้าไปมีบทบาทในการผลักดันระดับนโยบาย เข้าไปสะท้อนปัญหาของกลุ่มผู้ติดเชื้อในกลไกรัฐ การรวมกันมาจนถึงวันนี้ ทำให้พบข้อเท็จจริงที่ว่าการทำงานกับผู้ติดเชื้อ มันไม่ใช่เฉพาะประเด็นเรื่องเอดส์อย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้าจะขจัดความเหลื่อมล้ำเพื่อคลี่คลายเรื่องการเลือกปฎิบัติในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ประเทศไทยต้องมีระบบสุขภาพ เราจึงเป็นหนึ่งในแสนรายชื่อเพื่อขอให้รัฐ ออก พรบ.ลักประกันสุขภาพเเห่งชาติโดยหวังว่ายาต้านไวรัส ฯ เข้าสู่ระบบ

ช่วยเล่าถึงรูปธรรมความสำเร็จ ในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอดส์ให้เราฟังหน่อย ?
การรวมกันมาจนถึงวันนี้ทำให้พบข้อเท็จจริงที่ว่าการทำงานกับผู้ติดเชื้อมันไม่ใช่เฉพาะประเด็นเรื่องเอดส์อย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้าเราจะขจัดความเหลื่อมล้ำ เพื่อคลี่คลายเรื่องการเลือกปฎิบัติในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ประเทศไทยต้องมีระบบสุขภาพ เราจึงเป็นหนึ่งในแสนรายชื่อเพื่อขอให้รัฐออก พรบ.ลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ โดยหวังว่ายาต้านไวรัส ฯ เข้าสู่ระบบ ทีนี้พอเกิด พรบ.หลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ ก็ไม่ได้หมายความว่ายาต้านไวรัสจะเข้าสู่ระบบและเราเป็นไท เรื่องการรักษา เครือข่ายฯต้องผลักดันอีก 3 ปี กว่าจะได้รับสิทธิยาต้านไวรัส ใน พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พอมาถึงวันนี้เรื่องใหญ่ของเราคือจะรักษา และทำให้ระบบบริการแบบนี้คงอยู่ได้ยังไง จริง ๆ แล้วเราหวังว่า ถ้าจะเกิดระบบบริการสุขภาพมาตรฐานเดียว เราอยากเห็นการรวมกันของสามกองทุน และทำให้ทุกคนใช้เงินจากแหล่งเดียวกันได้รับการรักษา การปฏิบัติภายใต้ระบบบริการเดียวกัน

ทำไมโลกนี้ต้องมีกลุ่มคนที่ไม่พร้อมนิ่งเฉยต่อปัญหา ลุกขึ้นมาตั้งตัวเป็ฯภาคประชาสังคมด้วย ?
เอาเป็นว่าตอนนี้ เรื่องของการเจ็บป่วยไม่ใช่ปัญหาของบุคคลเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว อย่างกลุ่มผู้ติดเชื้อกำลังร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ ทั้งกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง เบาหวาน หัวใจ รวมกันในแบบที่เรียกว่า Healhty forum เพื่อร่วมกันในทางการขับเคลื่อนนโยบายการเข้าถึงการรักษา และการจัดบริการด้านสุขภาพ เพราะฉะนั้นจากนี้ไปเราทำงานเอดส์ ไม่ใช่เพื่อเเก้ไขปัญหาด้านเอดส์เท่านั้น เเต่เรากำลังทำงานเอดส์ เพื่อไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบรัฐสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย แต่ที่ผ่านมาหากถามเรื่องอุปสรรคข้อจำกัดคงเป็นเรื่องกฏหมายของประเทศ ก็คือพวกเราพยายามมีส่วนร่วมมาโดยตลอดแต่ก็ติดขัดเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมพอเข้าไปได้ก็ไม่ได้รับการยอมรับอันนี้เป็นปัญหาใหญ่

แล้วถ้าถามว่าทำไมต้องมีภาคประชาสังคม คงต้องเรียนตรงไปตรงมาว่าการเเก้ปัญหาหลายอย่างทุกคนควรมีส่วนร่วม ทั้งรัฐบาล ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ในโลกใบนี้ไม่มีปัญหาอะไรที่ข้าราชการจัดการแก้ไขปัญหาได้โดยลำพังหรอก หลายคนเข้าใจว่าเรื่องเอดส์เป็นปัญหาของคนที่ติดเชื้อ จริง ๆ แล้วมันใช่หรือ ? แล้วคุณจะแน่ใจว่าตัวเองจะไม่ติดเชื้อในอนาคตได้ยังไง ? แล้วอย่างยิ่งปัจจุบันนี้เรื่องเอดส์ ไม่ได้เป็นเเค่เรื่องการรักษาอีกต่อไปแล้ว วันนี้หลักสำคัญคือการต่อสู้กับความเชื่อ ทัศนคติ การรังเกียจกีดกันและเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิที่ยังมีอยู่เยอะ ดังนั้นการที่เราทำงานเรื่องเอดส์ ไม่ใช่แค่การดูแลรักษา แต่เป็นเรื่องการสร้างบรรยากาศใหม่ และการสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน

การรักษามันก้าวหน้ามานานแล้ว แต่ว่าการอยู่ร่วมนี่ก้าวหลัง คำถามคือถ้ารัฐลงทุนปีละเป็นพัน ๆ ล้านกับเรื่องการรักษา พอรักษาเขาแล้ว แต่เขากลับมาทำงานในสังคมไม่ได้ อยู่ในสังคมไม่ได้ประเทศชาติจะได้อะไร การพัฒนาที่มีดีแค่มิติด้านการรักษา ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากมันเดินแถมทำให้เสียบรรยากาศของการอยู่ร่วมอีกด้วย ประเทศเรายังมีการละเมิดสิทธิด้านเอดส์กันอยู่เยอะมาก ๆ รวมทั้งสภาพการณ์ปัจจุบัน ประชาชนยังมีความเสี่ยง แต่ประชาชนกลับไม่เห็นความเสี่ยงของตัวเอง งานของเครือข่ายผู้ติดเชื้อก็ยังจำเป็น ดังนั้นการรวมกลุ่มกันเพื่อเเก้ไขปัญหาเฉพาะกลุ่ม เฉพาะประเด็นจะในนามภาคประชาสังคม หรือองค์กรอะไรมันมีประโยชน์แน่นอนอยู่แล้ว และถ้ารัฐบาลเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน จะทำให้ประเทศนี้พัฒนาได้ ไม่ว่าจะมิติของการพัฒนาด้านไหนก็ต้องสนับสนุนให้มีกองทุนในการทำงาน แต่ว่าหน้าตาจะเป็นยังไงจะตั้งอยู่ที่ไหนค่อยมาว่ากัน แต่อย่างน้อยก็ควรทำให้มีการสนับสนุนการทำงานอย่างเพียงพอ

ถ้าอย่างนั้นถามต่อเลยว่า หากมีกองทุนภาคประชาสังคมจริง หน้าตาและการบริหารจัดการควรเป็นอย่างไร ?
ถ้าหากประเทศไทยจะมีกองทุนภาคประชาสังคม หน้าตาของมันควรจะมีระบบอย่างเช่น ระบบสุขภาพภายใต้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งก็ว่าด้วยเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอยู่แล้ว ก็ควรมีเม็ดเงินสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้ามาทำงานอย่างรอบด้าน ทั้งการส่งเสริมป้องกันโรค การดูเเลรักษาแต่ที่สำคัญคือต้องไปแก้ที่ระเบียบการใช้งบประมาณ เพื่อทำให้ชัดเจนว่าต่อไปประชาชนสามารถพัฒนาโครงการ หรือเสนอโครงการเพื่อการทำงานในรูปแบบภาคประชาสังคมแข่งขันกับกับหน่วยงานรัฐได้ สุดท้ายผมมีข้อเสนอ 3 ข้อ สำหรับการพัฒนาบ้านเมืองนี้อยู่ที่รัฐสนใจจะทำไหม เพราะเห็นว่ายังอยู่ในช่วงจังหวะเดินหน้าประเทศ

1. ระบบสุขภาพควรเป็นมาตรฐานเดียว กองทุนเดียวใช้เงินภาษีร้อยเปอร์เซนอย่างเท่าเทียมกัน
2. เปลี่ยนเบี้ยยังชีพ ที่กำลังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่พรรคไหนให้เบี้ยมากกว่าจะน่าสนใจ กลายเป็น พรบ.บำนาญแห่งชาติ ทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีหลักประกันตอนสูงวัยอย่างเท่าเทียมกัน
3. ประเทศนี้ติดหนี้ตั้งแต่เรียนหนังสือ ! จบก็ยังใช้หนี้ไม่หมดเป็นหนี้ภาษีตัวเองที่จ่ายไป ทำไมไม่สร้างระบบหลักประกันการศึกษาแห่งชาติโดยใช้เงินของชาติ ของรัฐ

เนื้อหาอื่นๆ

11 กันยายน 2018
25 กุมภาพันธ์ 2023
01 พฤศจิกายน 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT