25 กุมภาพันธ์ 2023

เมืองที่ไม่ทิ้งใครแต่ทำเพื่อคนทุกเพศวัย

เรื่องและภาพ โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

มนุษย์ล้อเรียกร้องความเสมอภาคทางการเดินทางทางอากาศ โดยต้องการให้สนามบินภูธรนำทางลาดที่มีอยู่แล้วออกมาใช้ เพื่อให้บริการผู้โดยสารทุกคนไม่ใช่แค่คนพิการเท่านั้น

เมื่อพูดถึงทางลาด หลายคนคงนึกถึงภาพทางเชื่อมต่อสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวในบริเวณต่าง ๆ อาทิ ระหว่างถนนกับทางเดินเท้า ระหว่างพื้นด้านนอกกับตัวอาคาร ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วทางลาดไม่ได้มีประโยชน์สำหรับคนใช้รถเข็น (Wheel Chair) เท่านั้น แต่ทางลาดยังมีประโยชน์สำหรับคนทุกกลุ่มวัยทั้ง คนสูงอายุ ผู้ป่วย คนอ้วน สตรีมีครรภ์ คนไม่แข็งแรง เด็กเล็ก อีกด้วย

เมืองไม่ทิ้งใครสร้างได้อย่างไร ? ...นั่นคือหัวข้อเสวนาในเวทีของกิจกรรม “เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จัดโดยภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน: ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566

ห้องเสวนาถูกจัดเรียงเก้าอี้แตกต่างจากห้องทั่วไป โดยห้องฝั่งขวามีเก้าอี้วางเรียงไว้ตามปกติ ขณะที่ห้องฝั่งซ้ายเป็นพื้นที่โล่ง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวนไม่น้อยที่ใช้รถเข็นสามารถเข้าร่วมได้โดยสะดวก จุดนี้เป็นเรื่องที่ผู้จัดสถานที่จำนวนไม่น้อยมองข้ามไปโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสมอภาคของผู้เข้าร่วมประชุมเสวนาทุกเพศวัย

นอกจากนี้ยังมีการจำลองรูปแบบเมือง 2 แบบ ได้แก่ เมืองบางคนบุรีซึ่งไม่มีทางลาดเชื่อมต่อระหว่างถนนกับฟุตบาท กับเมืองทุกคนบุรีที่มีทางลาดเชื่อมต่อระหว่างถนนกับฟุตบาท และมีวีลแชร์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทดลองใช้เดินทาง ทั้งนี้เพื่อให้คนทั่วไปข้าใจถึงอารยสถาปัตย์เพื่อความสะดวกในการเดินทางของคนใช้รถเข็นและคนทุกคน โดยบนเวทีมี กฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เป็นผู้นำการเสวนา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัญหาของการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all) และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Healyh and Wellness tourism) ที่มีจุดติดขัดคือ การเข้าถึงการเดินทางด้วยเครื่องบิน ที่ปกติจะใช้วิธีการอุ้มผู้พิการทางการเคลื่อนไหวขึ้นลงเครื่องบินซึ่งผิดหลักสากล เพราะหลักสากลต้องหลีกเลี่ยงการอุ้ม แบก และหาม เพราะอาจเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ วิธีการแก้ไขคือต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขึ้นลงเครื่องบิน

ที่ผ่านมาผู้พิการได้เรียกร้องต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อให้สนามบินภูธรประมาณ 30 แห่ง (ไม่รวมสนามบินหลักที่มีทางเชื่อม หรืองวงช้างอยู่แล้ว) ที่ใช้บันไดให้เปลี่ยนมาเป็นใช้ทางลาด จนสนามบินภูธรประมาณ 30 แห่งได้มีทางลาดไว้ใช้บริการ แต่สถานการณ์จริงคือสนามบินภูธรเกือบทุกแห่งไม่ได้นำทางลาดมาใช้แต่ใช้บันไดเช่นเดิมด้วยเงื่อนไขต่างกัน

ทูตอารยสถาปัตย์จากจังหวัดต่าง ๆ เล่าให้ฟังเป็นต้นว่า

จังหวัดแพร่แจ้งว่าสนามบินยังไม่มีความพร้อม และเครื่องบินมีหลายขนาด

จังหวัดนราธิวาสบอกว่าเกรงว่าการใช้ทางลาดจะไม่ปลอดภัย

ในขณะที่ฑูตอารยสถาปัตย์จังหวัดอุดรธานีเล่าว่า มีเฉพาะบางสายการบิน (แอร์เอเชีย) ที่มีรถเข็นให้บริการในเครื่องบิน

“กรุณานำทางลาดลำเลียงอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารไม่เฉพาะคนพิการ แต่คือ For all (ทุกคน) คนมีกระเป๋าสัมภาระ ลูกเล็กเด็กแดง คนแก่ชรา สตรีมีครรภ์ คนฟื้นฟูสุขภาพ ผู้พิการ คนอ้วน ก็จะได้เข้าถึงบริการอย่างสะดวก ปลอดภัย เสมอภาค เท่าเทียม” กฤษณะเอ่ยขอเรียกร้อง เพื่อให้กรมท่าอากาศยานสั่งการให้สนามบินนำทางลาดมาให้บริการแก่ประชาชน หลังใช้งบประมาณจำนวนมากไปแล้วในการจัดซื้อ แต่กลับเก็บทางลาดไว้

ทางด้าน เทิดศักดิ์ สารผัด ประธานทูตอารยสถาปัตย์จังหวัดน่านบอกว่า “ไม่ควรจะมีระบบแบกยกหามคนแต่ควรใช้ทางลาดอย่างถาวร โดยเฉพาะทางลาดขึ้นลงเครื่องบินที่มีแล้ว แต่ไม่นำมาใช้ถือเป็นการเสียประโยชน์ของสังคม เคยถามเขาว่า ทำไมไม่นำทางลาดมาใช้ เขาบอกว่าเรื่องการเสียเวลา อยากบอกว่าการเสียเวลานำอุปกรณ์มาติดตั้ง กับการเสียใจหากเกิดอุบัติเหตุมันมีค่าที่ต่างกัน เสียเวลาดีกว่าเสียใจ” เทิดศักดิ์กล่าว

ประธานทูตอารยสถาปัตย์จังหวัดน่านยังกล่าวด้วยว่า “สถานที่ราชการทุกที่ควรทำทางลาดขึ้นทางด้านหน้าอาคารได้แล้ว ไม่ควรทำไว้ด้านหลัง เพื่อความเท่าเทียมระหว่างคนปกติกับคนพิการ ส่วนพื้นด้านนอกอาคารกับพื้นในตัวอาคารยังมีความต่างระดับขั้นอยู่ ตรงจุดนี้อยากให้มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้แก้ไขเพื่อให้คนพิการสามารถเดินทางได้โดยสะดวก”

เนื้อหาอื่นๆ

01 พฤศจิกายน 2023
29 พฤศจิกายน 2020
25 กุมภาพันธ์ 2021

Copyright © 2013 THETHAIACT