13 ตุลาคม 2023

สถานการณ์เปลี่ยน แต่รัฐไทยไม่เคยเปลี่ยน

: คุยกับคนทำงานยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนใต้

1 - ความท้าทายของคนทำงาน เมื่อยาเสพติดออกรุ่นใหม่แข่งกับไอโฟน


“สิ่งที่เปลี่ยนไปคือยาเสพติดมันไม่ได้มาในรูปแบบของยาเสพติดเหมือนเดิมแล้ว”


ลัดดา นิเงาะ อดีตเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิโอโซน องค์กรที่มีแนวทางการทำงานเพื่อเป็นทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้สารเสพติดเริ่มต้นบทสนทนา ลัดดาคลุกคลีอยู่กับประเด็นยาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะบริเวณ 4 จังหวัดคือ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

เธอกล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ยังคงแพร่ระบาดเหมือนเดิมมาหลายสิบปี ทั้งยังมีพัฒนาการในการประยุกต์เอายาที่ใช้ในกลุ่มรักษาโรคจิตเวชต่าง ๆ มาเป็นส่วนผสมหรือทดแทนการใช้ยาเสพติด เช่น กลุ่มยานอนหลับมาปรับใช้กินกับใบกระท่อมหรือน้ำอัดลม เพื่อหวังผลว่าการกินไปในปริมาณที่เยอะ จะทำให้เกิดอาการมึนงง ซึ่งกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดจะเรียกอาการเหล่านั้นว่าอาการเมา

“โดยกฎหมายแล้วมันไม่มีอะไรผิด มันเป็นเพียงการใช้ยาผิดประเภท เพื่อที่หวังผลเรื่องของการมึนเมา”


ลัดดากล่าวว่า แม้ตัวเลขผู้ใช้สารเสพติดในพื้นที่ลดลง เพราะหน่วยงานรัฐนับเฉพาะตัวเลขผู้ใช้สารเสพติดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 โดยไม่ได้นับกลุ่มที่เอายาผิดประเภทมาใช้ จึงทำให้แนวโน้มตัวเลขดูลดลง แต่ในสถานการณ์จริงนั้น ลัดดากล่าวว่ายังคงน่าเป็นห่วง และพบว่าผู้คนจะเริ่มใช้สารเสพติดตอนอายุ 15 ปี จะไปใช้มากที่สุดในกลุ่มคนที่เริ่มหางานทำได้แล้วในวัย 25-40 ปี ลัดดากล่าวว่า นั่นเป็นช่วงรอยต่อของอายุ ที่จะเริ่มใช้ยาตอนวัยรุ่น โดยในระหว่างทางอาจมีบางส่วนที่สามารถหยุดได้ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการบำบัด จนกระทั่งเข้าสู่วัยทำงานที่มีรายได้ กลุ่มที่ไม่สามารถหยุดการใช้สารเสพติดได้ จะใช้มันมากขึ้นเมื่อมีรายได้


“ถ้าเราดูในพื้นที่ทางตอนใต้ เราจะเห็นว่าผู้ใช้สารเสพติดที่นี่ ยังคงมีรายได้เป็นของตัวเอง”

ขณะที่การเข้าไปทำงานของภาคประชาสังคมในพื้นที่ปัจจุบันนั้น จะเน้นการทำงานผ่านตัวอาสาสมัครผู้ใช้สารเสพติด เพราะเขาเป็นกลุ่มคนที่รู้ดีที่สุดว่า ผู้ใช้สารเสพติดอยู่ที่ไหน สามารถเข้าไปทำงานในลักษณะของเพื่อนช่วยเพื่อน ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มันพึงประสงค์ต่อสุขภาพมากขึ้น วางแผนเรื่องการใช้ยาให้ไม่ไปกระทบกับชีวิตประจำวัน ของพวกเขามากจนเกินไป


ลัดดาอ้างถึงหลัก Harm Reduction ที่ภาคประชาสังคมใช้ในการทำงานร่วมกับผู้ใช้สารเสพติด แนวคิดดังกล่าวคือเป็นเรื่องของการค่อย ๆ ลด มากกว่าที่จะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้สารเสพติดเลิกการใช้ยาในทันทีทันใด ซึ่งหลักการ Harm Reduction นั้น คือการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสิทธิมนุษยชน


“มันเป็นการชวนผู้ใช้สารเสพติดลงบันได มากกว่าที่จะให้เขากระโดดลงมาตั้งแต่ชั้น 10 ลงมาที่ชั้น 1” ลัดดากล่าว ... แต่การบำบัดโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กลับไม่เป็นเช่นนั้น


2 - เมื่อผู้เสพไม่เท่ากับผู้ป่วย ในสายตาของรัฐและศาสนา

ด้วยความที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ความเข้มข้นทางศาสนาสูง โดยเฉพาะในชุมชนมุสลิม จึงมีการใช้ศาสนาเข้ามาช่วยบำบัดผู้ใช้สารเสพติด ด้วยการควบคุมพฤติกรรมให้อยู่ในสิ่งที่ศาสนาพึงประสงค์ ผู้บำบัดจะต้องตื่นขึ้นมาทำการละหมาดตามเวลา เรียนหลักศาสนา และถ้าเมื่อไหร่ที่มีอาการเสี้ยนยา ก็จะมีการจับพาไปอาบน้ำ หรือแม้กระทั่งการล่ามโซ่เพื่อป้องกันการอาละวาด


“การทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจในทางมิติทางศาสนาเป็นความท้าทาย เพราะว่ายาเสพติดเป็นเรื่องที่ศาสนาไม่ยอมรับ เราต้องสื่อสารว่า สิ่งที่ไม่อนุมัติคือยาเสพติด แต่ผู้ใช้สารเสพติดเขายังเป็นพี่น้องของเรา” ลัดดากล่าว


นอกจากนี้ลักษณะเฉพาะตัวของพื้นที่ชายแดนใต้ คือการเป็นพื้นที่ปิด ทำให้การใช้สารเสพติดของกลุ่มวัยรุ่นมีการพัฒนาการที่ไวกว่าพื้นที่อื่น ลัดดากล่าวว่าในพื้นที่ทั่วไป วัยรุ่นมักจะเริ่มต้นด้วยการดื่มเหล้า สูบบุหรี่และกัญชา แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น สิ่งที่พบคือเริ่มจากสูบกัญชาและพัฒนามาฉีดเฮโรอีน เพราะพวกเขาไม่ต้องการทิ้งหลักฐาน จึงเลือกที่จะใช้สารเสพติดที่สะดวก ไม่ทิ้งกลิ่น และทำให้พวกเขาถูกจับได้ช้าที่สุด


ไม่เพียงเท่านั้น ความท้าทายใหม่ที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นคือ การพัฒนาสูตรของยาเสพติดที่มีเข้ามาเรื่อย ๆ มีการใช้ยาจิตเวชเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับ มีการผสมกันระหว่างยาบ้ากับเฮโรอีน ยิ่งมีประเภทของสารเสพติดเข้ามาให้ผู้ใช้ได้ลองมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะเลิกยาเสพติดได้นั้นก็ยิ่งยากขึ้นไปเท่านั้น ในขณะที่รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้สารเสพติดเปลี่ยนไป แต่ภาครัฐเองยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ ในการจัดการปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ลัดดากล่าวว่ามาตรการของรัฐ ในการจัดการเรื่องยาเสพติด ยังคงใช้วิธีการตั้งด่านตรวจปัสสาวะ หรือไม่ก็ทำการปิดล้อมหมู่บ้าน เพื่อค้นหาตัวคนใช้สารเสพติด เพื่อส่งตัวคนเหล่านั้นเข้าค่ายบำบัด และใช้การฝึกแบบทหาร บนความเชื่อที่ว่าการอยู่ในระเบียบวินัย และทำให้เหงื่อออก จะช่วยลดอาการเสี้ยนยาของผู้ใช้สารเสพติดได้


“ถ้าสิ่งนี้มันมีประสิทธิภาพ มันก็คงไม่มีใครเข้าออกสถานบำบัดเป็น 20 ครั้ง”


จากประสบการณ์ทำงานคลุกคลีกับผู้ใช้สารเสพติดมานานกว่า 15 ปี ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ลัดดามองว่าการจะเลิกหรือไม่เลิกใช้สารเสพติดนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใช้ยามากกว่าว่าจะถึงจุดอิ่มตัวตอนไหน หลายคนสามารถหยุดได้เองมีเมื่อลูก หรือกลับตัวเมื่อได้รับการยอมรับจากครอบครัวอีกครั้ง ดังนั้นการเลิกใช้ยาเสพติดจึงเป็นปัจจัยส่วนบุคคล ที่มีความสลับซับซ้อนและขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนคนนั้น


“เราเคยเจอคนที่ผ่านการบำบัดสูงสุดตอนนี้ 23 ครั้ง หายและออก ออกและก็เข้าไปใหม่ เพราะเขาเองบอกว่ายังไม่ได้อยากหยุดตอนนี้”


มิหนำซ้ำกลับเป็นเพราะนโยบายของรัฐเอง ที่มีส่วนผลักให้ผู้ใช้สารเสพติด เลือกที่จะใช้สารเสพติดต่อไป เพราะเมื่อพวกเขามีประวัติเสพสารเสพติดอยู่ในมือของรัฐแล้ว กลายเป็นว่าเขาเป็นกลุ่มถูกเพ่งเล็งในทุกครั้งที่มีนโยบายปราบปรามลงมาในพื้นที่


“สิ่งนี้คือ การตอกย้ำของภาครัฐ ที่คอยผลักไสความเป็นอื่น แทนที่เขา(ผู้ใช้สารเสพติด)จะกลับมาเป็นคนส่วนหนึ่งในชุมชนก็ไม่ได้ ยังคงเป็นคนอื่นอยู่เสมอ”

3 - ยาเสพติดในสมการความมั่นคง ผู้เสพไม่เท่ากับผู้ร้าย

“ในพื้นที่ความมั่นคง ยาเสพติดถูกใช้เป็นเครื่องมือ”


ยาเสพติดถูกโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้วลัดดามองว่า ยาเสพติด โดยเฉพาะกับในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดในพื้นที่ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกันโดยตรงในรูปแบบ 1+1 = 2 ... กล่าวคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสถานการณ์ความไม่สงบเข้ามาเกี่ยวข้อง มันมีความเป็นไปได้ที่ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวกันกับเหตุการณ์มักมีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ใช้ยาเสพติด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ใช้สารเสพติดเท่ากับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ สิ่งเดียวที่ปัญหายาเสพติดเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ ลัดดากล่าวว่า มันคือเรื่องของผู้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากยาเสพติดมากกว่า


ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนใต้ ลัดดามองว่ารัฐต้องมองผู้ใช้สารเสพติดเป็นผู้ป่วยให้ได้จริงเสียก่อน เพราะการที่รัฐใช้บทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในแบบเดียวกันหมด สิ่งนี้สร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ใช้สารเสพติด แม้กระทั่งตัวอาสาสมัครผู้ใช้สารเสพติด ที่ทำงานกับภาคประชาสังคมเองก็ตาม


“เราอยากให้เขาเลิกไปตรวจฉี่กลุ่มคนเหล่านี้ คือตรวจมา 10 ปี อย่างไรมันก็เจอ แต่ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่เหรอ ที่ทำให้มีผู้ใช้ยาที่เข้าถึงบริการการรักษา”


โดยกลุ่มคนดังกล่าวหมายถึงอาสาสมัครผู้ใช้สารเสพติด ที่ทำงานร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพราะอย่างน้อยที่สุดการร่วมมือทำงานกับผู้ใช้สารเสพติด ตลอดระยะเวลาการทำงานของลัดดา ได้เห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้สารเสพติด กลับเข้าสู่ครอบครัว ชุมชนได้มากขึ้น


“เราไม่กล้าใช้คำว่าเขาเลิกยา เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะกลับมาใช้อีกเมื่อไหร่ แต่เราเห็นหลายคนหยุด และหยุดมันได้นานมากขึ้น ถ้าภาครัฐรับรองการทำงานของภาคประชาสังคมได้มากกว่านี้ จะทำให้การทำงานง่ายมากขึ้น”


แม้สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างยังคงน่าเป็นห่วง แต่ก็มีหลายสิ่งเปลี่ยนไปตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการยอมรับและเข้าใจจากชุมชนต่อผู้ใช้สารเสพติดมากขึ้น มีประเภทของสารเสพติดที่เกิดขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา เราเห็นทั้งปัจจัยในเชิงบวกและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ลัดดาเองกล่าวว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป คนทำงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนก็ต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลา และต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ ให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มิใช่ใช้องค์ความรู้เดิม ๆ ในการแก้ไขปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นมา


“ภาครัฐยังคงทำงานช้ากว่าภาคประชาสังคม ภาคประชาสังคมทำเรื่องการใช้เมทาโดน สำหรับผู้ใช้สารเสพติด ลงไปถึงชุมชนมานานแล้ว ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระรัฐ รัฐเองควรขยับไปทำอะไรที่เป็นนวัตกรรม ในการรับมือและรักษาคนเหล่านี้ให้ทันกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้” ลัดดากล่าวในตอนท้าย

เนื้อหาอื่นๆ

17 ธันวาคม 2019
01 มีนาคม 2020
13 มิถุนายน 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT