08 มีนาคม 2020

พิพิธภัณฑ์สามัญชน - แหล่งรวมเรื่องคนธรรมดาอันน่าจดจำ

กับบทบาทนักบันทึกประวัติศาสตร์การเมือง จากวัตถุสิ่งของ เพื่อสาธารณประโยชน์และการศึกษา

"พูดถึงใบปลิวหาเสียง บางคนอาจจะนึกว่าเฮ้ย ! ของไร้ค่า พอได้มาก็โยนทิ้ง ถ้าคุณเคยโยนใบปลิวของพรรคอนาคตใหม่ทิ้งลงขยะ มันไม่มีอีกเเล้ว มันไม่เหลือเเล้ว มันเป็นตำนานไปเเล้ว" แว่น อานนท์ ชวาลาวัณย์ ชายหนุ่มวัย 35 ปี เริ่มอธิบายถึงหมุดหมายการมีสิ่งที่เรียกว่า" พิพิธภัณฑ์สามัญชน" พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ที่เขาตั้งขึ้นด้วยความหลงใหลในการบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน กล่าวได้ว่าเป็นงานภาคประชาสังคมที่บันทึกเรื่องราวของภาคประชาสังคมเลยก็ว่าได้

แรกเริ่มของสามัญ(ชน)บันทึก

แว่นเล่าต่อถึง พิพิธภัณฑ์โดยทั่วไป จะเกี่ยวกับอะไร เขาก็จะเลือกความทรงจำเหล่านั้นมาจากมุมมองของคนจัดทำ เช่น ของรัฐ รัฐประวัติศาสตร์ รัฐชาติ เขาก็จะเลือกมาว่า เขาอยากให้คนเห็นอะไร เพราะฉะนั้นเขาก็จะเลือกความทรงจำ ที่เขาต้องการให้เราจำ ซึ่งเเน่นอนว่า ของในม็อบหรือของอะไร มันเป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน มันไม่ใช่สิ่งที่รัฐต้องการมาให้เป็นภาพจำ

"เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะดูการเมือง หรือคุณจะดูความเคลื่อนไหว ของประเทศทั้งประเทศเนี่ย คุณจะไม่สามารถดูได้อย่างรอบด้าน ถ้าคุณไม่เห็นของเหล่านี้ ถ้าคุณไม่เห็นของในม็อบ เพราะอะไร อย่างเช่นง่าย ๆ บริบทการเมืองไทยก่อนรัฐประหาร ถ้าไม่มีนกหวีด ไม่มีรูปเสื้อกำนันสุเทพ คุณก็จะไม่เห็น ของพวกนี้ คุณก็จะวิเคราะห์การเมืองได้ไม่เป็น เเต่พอมีของเหล่านี้ประกอบเรื่องเล่า มันก็จะช่วยเติมเต็มให้เราเห็นภาพการเมืองได้มากขึ้น" แว่นบอกเราไว้อีกตอนหนึ่ง

"จริง ๆ ของไม่ได้เก็บเเค่ช่วงปีรัฐประหาร 2557 นะ ถ้ามีเก่ากว่านั้น เเต่ว่าเราเพิ่งมาตกผลึก เพิ่งได้ไอเดีย คือเคยทำงานในฟิลด์คล้ายๆ อย่างนี้มานานเเล้ว เเต่ไม่ได้คิดอยากจะทำเป็นตัวเป็นตน จำไม่ได้เเล้วว่าไอเดียที่มาปิ๊งวันเเรกที่เริ่มทำเพจ นั้นคิดอะไรอยู่ในหัว
ส่วนใหญ่วัตถุที่เก็บจะเป็นของการเมืองที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่เราทำงานด้วย เราอยู่ iLAW(โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ใช่ไหม เราก็ได้ไปเจอม็อบ ไปเจออะไร เราก็ได้มีโอกาสเก็บ หรือคนที่เป็นเครือข่าย อะไรอย่างนี้ เราก็จะอาศัยจากตรงนั้น เเต่การเมืองที่เป็นการเมืองของชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากทรัพยากร มันหายาก เข้าถึงยาก ยังเป็นข้อจำกัดอยู่"

(ภาพแว่น อานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าของเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชน)

ความทรงจำแบบไหนจะถูกบรรจุในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ด้วยการทำงานศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ของเว็บไซต์ iLaw ที่ติดตามบันทึกสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้แว่นได้พบปะกับคนที่เป็นเอ็นจีโอ หรือชาวบ้านที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวเเบบอื่น ประเด็นปัญหาเฉพาะอื่น

"ถ้าเป็นของจากที่ไม่ว่าจะเป็น Movement โปรรัฐบาล หรือแอนตี้รัฐบาล คือในฐานะที่มันเป็นสามัญชน มันก็จะเป็นในเเง่ว่าในธรรมดาที่ออกมาเคลื่อนไหว คือ คำว่าการเมืองมันมีนิยามหลายเเบบ การเมืองเนี่ยคือทุกมิติของชีวิต ทุกมิติที่มันเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเเวดล้อม หรืออะไรก็ตาม มันคือการเมืองหมด อันนี้คือสิ่งที่อยากให้มันเป็นสิ่งที่รวบรวมการของคนธรรมดา การเมืองนอกสภา เราก็จะเก็บทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น กกปส. นกวงนกหวีดอะไรเอามาหมดเลย เพราะมันเป็นการบันทึกเรื่องราวความต้องการ อารมณ์ความรู้สึก ของคนต่อประเด็นสาธารณะในช่วงนั้น ไม่ว่ามันจะคืออะไร มันก็ควรค่าเเก่การบันทึก"

และสิ่งของที่แว่นเก็บนั้น “ไม่จำเป็นต้องเป็นจากกลุ่มความคิดทางการเมือง ที่ความคิดความเชื่อเหมือนเรา เพราะถ้าคุณเก็บฝ่ายเดียว หากเอามาคิดวิเคราะห์ คุณก็จะมองอะไรได้ไม่หมด ในความเชื่อส่วนตัว ความคิดทางการเมืองเราก็มี เเต่ว่าในฐานะพิพิธภัณฑ์ มันต้องมีทุกด้าน นึกออกป่ะ คุณจะไม่เข้าใจเสื้อเเดง ถ้าคุณไม่เข้าใจ กปปส. เหมือนตอนนั้นคุณจะไม่เข้าใจเสื้อเเดง ถ้าคุณไม่เข้าใจพันธมิตร คือมันต้องรู้ทั้งสองฝั่ง เเล้วเราถึงจะเห็นอะไร ก็เลยยังเก็บของทุกฝ่าย"

(ภาพเสื้อที่แสดงภาพและข้อความสนับสนุนการเคลื่อนไหวกลุ่มการเมือง กปปส. )

ประสบการณ์สุดเหนือในที่ชุมนุมที่คิดต่างไป

แว่นเล่าถึงกิจกรรมเดินเชียร์ลุง ที่สวนลุมพินี (วันที่ 12 มกราคม 2563 ) “ก็ไป เราเชื่อไม่ตรงกับเขา เมื่อเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่เขา เราก็ต้องเคารพ ไม่ไปป่วน ไม่ไปอะไร เราไปเอาของของเขามา เราก็มาเก็บ ของมันเป็นเสื้อ หน้ากาก เเละรูปพลเอกประยุทธ์ เเล้วก็มีเสื้อเดินเชียร์ลุง เราก็เก็บมา มันก็เป็นความยากอย่างหนึ่ง เราในฐานะเป็นมนุษย์ เราก็มีอารมณ์ความรู้สึก เวลาที่ได้ยินป้า ๆ ที่เขาพูด เราก็จะมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง ที่อาจจะไม่เข้าหู เเต่เมื่อเราอยู่ในพื้นที่เขาก็โอเค ไม่ไปป่วน ไม่ไปอะไร เราก็ทำงานของเรา เก็บของมา เเล้วเราก็มาขึ้นเเละเขียนในลักษณะที่เขาเขียน คือในเเง่หนึ่งที่ทำ เราก็พยายามทำ ก็คือว่า เวลาเขียนอธิบายสิ่งของเราพยายามอธิบายมัน เราจะไม่ให้ค่า หรือถ้าเราจะให้ค่า ถ้าเราจะตัดสินมัน ก็จะเขียนเเยกไว้ เเต่เราก็จะพยามยามบอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จัดทำเพื่อสื่อสารอะไร เเต่ก็ไม่ได้ไปตัดสินเขา ว่าถูกหรือผิด หรือในเพจถ้ามีจิกกัดนิด ๆ ก็อาจจะมี บางอันมันก็อดไม่ได้ เเต่เราก็จะพยายาม อย่างน้อยที่จะสะท้อนเรื่องจริง โอเค ผู้จัดทำเขาพยายามจัดทำด้วยความคิดอะไร เราก็จะพูดเเทนเขา เเต่เราจะวิจารณ์ก็ค่อยว่ากัน เเต่ส่วนหนึ่งที่ต้องมีเลย คือต้องพูดเเทนเขา เพราะว่าเราเอาของเขามาเเสดงโดยวิสาสะเเบบนี้เนี่ย ถ้าเราไม่บอกว่า เฮ้ย คนที่จัดทำเขาน่าจะคิดยังไง มันก็จะดูไม่เเฟร์กับเขาไปหน่อย เพราะว่าของเเต่ละชิ้น ไม่ว่ามันจะมาจากทางไหน มันต้องมาจากความคิดสร้างสรรค์ มาจากความรู้สึกนึกคิดอะไรบางอย่าง มันถึงออกมาเป็นอย่างนั้น เเล้วเราก็ต้องเคารพตรงนั้น"

(ภาพกิจกรรมเดินเชียร์ลุง)

อะไรคือความสำคัญของคนไม่สำคัญ

แว่นอธิบายว่า "มันจะทำให้เรามองภาพได้ชัด เช่น ถ้าเป็นนักวิชาการหรือคนที่จะศึกษาการเมืองไทย อย่างตอนนี้หากคุณไม่ติดตามทวิตเตอร์ ถ้าคุณไม่ได้เก็บ ถ้าคุณไม่ได้เเค็ปรูปเหล่านั้นไว้ คุณก็อาจจะวิเคราะห์ข้อมูล หรืออารมณ์ของคนในสังคมได้ไม่ครบ ไม่รอบด้านพอ คุณก็จะวิเคราะห์จากข่าว จากหนังสือพิมพ์ที่รายงาน เเต่อีกด้านสิ่งเหล่านี้ มันเป็น primary source อันหนึ่ง ทวิตเตอร์คุณได้เห็นอารมณ์ของคนอย่างเเท้จริง หรืออย่างเช่นที่เก็บใบหาเสียงเลือกตั้ง มันก็สะท้อนอารมณ์ของคน

พรรคการเมืองจะหาเสียงยังไง ก็ต้องไปรีเฟล็ค หรือไปสะท้อนกลับ ความต้องการของคนในสังคมนั้น เพราะดังนั้นใบปลิวเเผ่นหาเสียงเล็ก ๆ ที่คุณเก็บไว้ ถ้าคุณเอามาประมวล เอามากางหลาย ๆ เเผ่น คุณก็จะเห็นภาพรวมว่า คนในสังคมต้องการอะไร คุณก็จะเห็นนโยบาย อะไร คือนโยบายที่พรรคการเมืองคิดว่า ถ้าตัวเองขายนโยบายไป เเล้วประชาชนจะซื้อ ซึ่งถ้าคุณดูตรงนี้ ประกอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการบริหารประเทศของรัฐบาล หรือการทำงานของฝ่ายค้านต่าง ๆ เอาพวกนี้ไปด้วยเนี่ย มันจะเห็น อะไรบางอย่างที่คุณจะไม่เห็น ถ้าคุณไม่เอาพวกนี้ไปประกอบ อย่างงั้นมันก็เป็นหลักฐานอีกส่วนหนึ่งที่มันควรจะถูกเก็บไว้


สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันจะตอบโจทย์ของคุณเลย คุณสามารถเชิญเราไปได้ เเล้วเราก็เอาของไปเเล้วเราก็เล่า ส่วนคุณจะเอาเรื่องเล่าของเรา ไปประยุกต์ในทฤษฎีหรืออะไรที่คุณสอน นั้นเรื่องของคุณ คือ คุณอาจจะได้เห็นของจริงนะ คือ เด็กบางคนเขาไม่ได้มีโอกาสไปม็อบ เด็กบางคนอาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เขาอาจจะสนใจ ไม่มีโอกาสไป สิ่งที่เราอยากทำคือ อยากเอาของไปให้เขาเห็นว่า มันมีเรื่องอย่างนี้อยู่ ถ้าสิ่งที่เราทำได้ คือการเอาเรื่องราวไปเล่า เล่าสิ่งของเเล้วทำให้เขาได้รู้ได้เห็นการเมืองบ้านนี้กว้างขึ้น

เขาไม่จำเป็นต้องมาทำงานเอ็นจีโอ เขาไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อสังคม เขาก็ทำงานเลี้ยงตัวเขาไป เเต่สิ่งที่เราอยากให้เขามี คือ ทุกคนมีสำนึกความเป็นพลเมือง ทุกคนมีสำนึกการเมือง ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียงในประเทศนี้ รู้ว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศนี้ ถ้าของสิ่งนั้นมันสามารถจุดประกายให้เขารู้สึกตรงนี้ ยังไม่ต้องออกมาเเสดงจุดยืนทางการเมือง ยังไม่ต้องออกมาชุมนุมก็ได้ เเต่อย่างน้อยนี่คือคุณต้องรู้ มันสำคัญ เพราะว่า ทุกครั้งที่ เช่น ถ้าคุณต้องดีลกับตำรวจ ตำรวจมาหาคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจหรือเรื่องอะไรก็เเล้วเเต่ ถ้าคุณไม่มีสำนึกว่าคุณเป็นพลเมือง คุณมีสิทธิอะไรบ้าง คุณก็จะยอมสยบต่ออำนาจรัฐ โดยที่คุณไม่ได้ดูว่า เฮ้ย คุณมีสิทธิมีเสียงอะไร คุณสามารถเถียงตำรวจได้ ถ้าสิ่งที่คุณทำมันไม่ผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกไปชุมนุม หรือเรื่องอะไรก็เเล้วเเต่ นั้น คือสิ่งหนึ่งที่อยากทำ ก็คือว่า ตัวเองเป็นพลเมืองนะ ตัวเองเป็นนายของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นนายของข้าราชการนะ อยากจะฝังสิ่งนั้น อยากจะสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา

ส่วนถ้าใคร จะดูของของเรา เเล้วรู้สึกอินจนต้องออกมาเคลื่อนไหวการเมือง นั่นก็เป็นสิทธิ์ของเขา เเต่ขั้นต้นคือ ทำไงให้คนรู้สึกว่า เฮ้ย เราเป็นพลเมืองนะ เราไม่ใช่เเค่ อะไรที่ทำงาน จ่ายภาษีให้รัฐ รัฐบอกอะไรต้องฟัง ไม่ใช่ เราคือพลเมือง เราคือ เจ้าของประเทศนี้ ประเทศนี้เจริญได้ เพราะคนธรรมดาอย่างพวกเรา แล้วการเมืองมันไม่ได้มีมิติเเค่รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ มันคือทุกมิติของชีวิต ซึ่งในหลาย ๆ เเคมเปญเนี่ย คนก็นิยมเอาเสื้อยืดมาทำ เพราะว่าเสื้อมันยืดใช่ไหม เราไปไหนมาไหนเราใส่ยืดได้ เเล้วพอมันเป็นข้อความ มันก็เป็นการรณรงค์ไปในตัว คุณไม่ต้องไปม็อบ คุณเเค่ใส่เสื้อยืดที่มันมีข้อความ หรือเเมจเสจบางอย่าง ซึ่งเสื้อยืดเหล่านี้ หลายตัวมันก็มีเรื่องราวของเรา เมื่อคนได้เห็นเนี่ย มันก็จะทำให้เขา อย่างน้อยได้บางอย่างอะไรกลับไป เราก็อยากให้คนได้ฉุกคิด ได้ตั้งคำถามต่อจากการเห็นของเหล่านี้

(ภาพใบปลิวหาเสียงพรรคอนาคตใหม่ ที่ตอนนี้กลายเป็นสิ่งของในตำนานไปแล้ว)

ฉากที่จะไปต่อของพิพิธภัณฑ์และเรื่องเล่าคนธรรมดา

แว่นสะท้อนความรู้สึกว่า ตอนนี้ เขาไม่ได้มองตัวเองเป็นภัณฑารักษ์ เเต่นิยามเป็นเเอดมินไปก่อน เพราะลำพังกำลังของเขา มีอยู่คนเดียวเเค่นี้ เเต่อีกสิ่งที่จะสื่อก็คือว่า พิพิธภัณฑ์มันชื่อพิพิธภัณฑ์สามัญชน เเล้วมันก็เป็นของพิพิธภัณฑ์จริง เพราะว่าอะไร เพราะว่าของหลายชิ้นเป็นการบริจาค " คือเงินเดือนประจำเรามีจำกัด ของบางชิ้นเราก็โอเค เรามีปัญญาผลักดันซื้อ ก็ควัก เเต่หลายชิ้น คนนู้น คนนี้ให้มา เสื้อเป็นร้อย ๆ บางตัวเราซื้อเอง ที่เหลือเจ้าของเขาให้มา เพราะฉะนั้น จะบอกว่าของสะสมเหล่านี้ มันไม่ใช่ของเรานะ เราเเค่มีหน้าที่ดูเเลรักษามัน เอามันไปบอกเล่า เป็นเเมสเสจไปส่งต่อ เเต่ว่ามันคือของสาธารณะ คือของคนทั่วไป สร้างมาด้วยมือสามัญชน เสื้อทุกตัวที่บริจาคเข้ามา หรือว่าป้ายที่เอาไปใช้ในการชุมนุม ซึ่งเราไม่มีโอกาสไป เเล้วเขาเก็บมาให้เราเนี่ย ของเหล่านี้ต่อให้คุณมีเงิน คุณก็ซื้อหามาไม่ได้ มันก็ได้เเต่เพื่อนมิตรหยิบมาเอามาให้ มันก็เลยกลายเป็นคอนเนคชั่นใหญ่ขึ้นมาตอนนี้ ไม่ได้มาก เเต่ใหญ่ระดับหนึ่ง เช่น ถ้าจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ คสช. ก็คิดว่า ของเล่าเรื่องได้ประมาณหนึ่ง และอีกอันเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง น่าจะทำได้

(ภาพจากกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ เมื่อต้นปี 2561)

เมื่ออยากรู้ถึงข้อจำกัดและสิ่งน่าเสียดาย ตั้งแต่มีพิพิธภัณฑ์นี้ แว่นย้อนคุยว่า “เพจเราเริ่มทำมาประมาณปีสองปีก่อนเเล้ว ช่วงกิจกรรม วีวอล์ค( กิจกรรม We Walk หรือเดินมิตรภาพตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ถึงจังหวัดขอนแก่น ที่มีเป้าหมายสื่อสารประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิเสรีภาพ ถูกจับตามมองจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคง) เสียดายมากเลย ตอนเหตุการณ์วีวอล์ค ก็คือว่า คนที่เป็นนักเคลื่อนไหว เขาไม่ได้มองวัตถุเหล่านี้ ในฐานะสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์ เขามองในฐานะ ของที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้การรณรงค์ เมื่อมันเสร็จปุ๊ปมันก็จบเรื่องเล่าของมัน เเต่ว่าเรามองมันในฐานะ ตัวต่อตัวหนึ่ง ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นภาพใหญ่ ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้ขอเขาไว้ ผ้าที่ว่าคนไปเดินวีวอล์ค เขาเอาตีนเหยียบสีเเล้วมาเหยียบ ๆ ปั๊มตีนตรงนั้น เพื่อสื่อว่าโอเค กูเดินมาถึงเเล้ว ซึ่งผ้าผืนนั้นมันมีความหมายมาก เพราะว่ามันคือบทสรุปว่ากว่าจะเดินมาที่ขอนเเก่น กูเจอตำรวจบล็อกที่คลองหลวง สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยน เดินชุดละสี่คน สลับ ๆ กูไปสู้คดีในศาลปกครอง จนศาลบอกว่า เฮ้ย คุณชุมนุมได้ เเล้วกูถึงกลับมาเดินขบวน เป็นเเถวยาวเหยียดเเบบเต็มภาคภูมิอีกครั้ง มันมีเรื่องราวของการต่อสู้เหล่านั้นเเล้ว มันไม่ใช่ผ้าผืนหนึ่งเเล้วปูเเล้วมีรอยตีน มันคือบันทึกเรื่องราวหลาย ๆ อย่างที่มันผ่านมา มันมีกรณีที่เจ้าอาวาสวัดถูกกดดัน จนไม่สามารถให้ผู้ชุมนุมมานอน มันมีเหตุการณ์เหล่ากนี้เกิดขึ้น


เเต่สุดท้ายผ้าผืนนั้น มันเหมือนธงชัยที่ประกาศว่า กูมาถึงเเล้ว เเล้วเราไม่ได้ขอไว้ เเล้วสมบัตินี้เเม่ง ไปไหนเเล้วก็ไม่รู้ กูโครตเสียดายเลย คือ วีวอล์คในบริบทการเคลื่อนไหวในการเมืองยุค คสช. เนี่ย วีวอล์คก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่คนสนใจ เพราะว่ายอดวิวเป็นหมื่น ยิ่งตอนที่เขาจะออกจากธรรมศาสตร์ เเล้วโดนกดดัน เเล้วยอดวิวไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กสูงมาก มันไม่ใช่ประเด็นที่เอ็นจีโอมาเดินกันเเล้ว มันเป็นประเด็นที่คนสาธารณะที่ชาวเน็ตทั่วไป ที่กรุงเทพฯมีคนมาทำกิจกรรมคู่ขนาน ทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องเล่าเหล่านี้ มันคือสิ่งที่ปั๊มอยู่ในรอยตีน ผ่านผ้าผืนนั้นด้วย ที่เขาไปเดินว่ากูมาถึงเเล้วนะ เรื่องราวทุกอย่าง อุปสรรคกูฝ่าฝันหมดเเล้ว ระหว่างที่กูมาถึงของเเก่น ซึ่งไม่ได้ขอไว้ เราก็เลยพยายามคิดว่าต่อเเต่นี้ ผ้าที่นักศึกษาทำหลาย ๆ ผืน จะพยายามขอมาเก็บไว้ เเต่ก็ไม่รู้จะเก็บได้เยอะเเค่ไหน เพราะว่าที่บ้านมันก็จำกัด

อีกสิ่งหนึ่งที่เรากลัว ก็คือว่า ไม่นับเรื่องทหารมาบุก คือเราไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นการดูเเลรักษาสิ่งของเหล่านี้มันต้องใช้เงิน เช่น ถ้าเป็นเสื้อสี่ปี ยี่สิบปี คุณพับใส่ถังโยนลูกเหม็นไว้ ปิดถังดี ๆ โอเค เสื้อไม่เป็นไรไม่หาย เเต่ไวนิลนี้มันอ่อนไหว มันเลือนได้ ถ้าไม่มีวิธีการจัดเก็บที่ดี ซึ่งหลายอันมันก็เป็นตำนานไปเเล้ว เช่น ป้ายไวนิลพรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งตอนนี้ยุบพรรคไปเเล้ว เป็นตำนานไปเเล้ว เราต้องเก็บรักษามันไว้นะ เพื่อบอกเล่าว่านี่คือพรรคใช้เเล้วทิ้ง พรรคการเมืองอายุสั้นที่เกิดขึ้นมา เเล้วขายม็อตโต้ ที่เเบบเป็นที่ฮือฮาในสังคมว่าน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า เเต่ทุกวันนี้มันไม่มีอีกเเล้ว เเต่เราเก็บมันไว้หนึ่งเเผ่น เเต่ถ้าเราไม่ดูเเลมันให้ดี วันหนึ่ง มันก็จะเลือน มันก็เสียไป ซึ่งมันก็จะเป็นเรื่องน่าเสียดาย

หนังสือพิมพ์ อีกเครื่องทรงจำ ที่ไม่เป็นแค่สิ่งละอันอันพันละน้อย

อีกสิ่งหนึ่ง ที่แว่นยอมรับว่าลืมเก็บคือ หนังสือพิมพ์ "ไอเดียนี้ไปได้ตอนที่อเมริกา เก็บเฉพาะเหตุการณ์ อย่างที่อเมริกา คือหนังสือพิมพ์ โลกสิ่งพิมพ์มันกำลังจะตาย ใช่ไหม ซึ่งจะจริงหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เเต่เรารู้สึกว่าในยุคสมัยหนึ่ง มันเป็นเครื่องมือของเสรีภาพ เมื่อหลายปีก่อนหนังสือพิมพ์ คือสื่อที่บอกเล่าเรื่องราวอีกฝั่ง ที่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐอยากได้ยิน มันก็เป็นเอกลักษณ์ของเสรีภาพมาสมัยหนึ่ง ยุคหนึ่ง เเล้วมันก็เป็นสิ่งที่อยู่กับเราในชีวิตประจำวัน ทุกเช้ามีหนังสือพิมพ์มาส่ง ไปร้านกาเเฟ ร้านโจ๊กตอนเช้า มีหนังสือพิมพ์วางไว้ จนเราไม่ได้มองมันในฐานะวัตถุบันทึกพยาน ไม่ได้มองมันในฐานะสิ่งบันทึกประวัติศาสตร์ เเต่ว่าลองจินตนาการดูดิ วันนั้นไปพิพิธภัณฑ์ที่อเมริกา ชื่อ นิวเซียม เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสื่อ เขามีหนังสือพิมพ์ วันญี่ปุ่นทิ้งระเบิดเพิร์ลรฮาเบอร์ มีหนังสือพิมพ์วันยุติสงครามโลกครั้งที่สอง มีหนังสือพิมพ์ช่วง 911 เหตุการณ์ที่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช็อคโลก หน้าหนังสือพิมพ์ถูกบันทึกไว้


เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย มันคือการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่งในหน้าหนึ่งเหล่านี้ เราก็เลยมาเริ่มเก็บ ที่เก็บได้ครบที่สุด น่าจะเป็นของพรรคไทยรักษาชาติยุบพรรค ก็คือ ไล่เก็บตั้งเเต่วันที่เขาประกาศชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือตอนนั้นไม่ได้คิด ว่ามันจะเป็นการยุบพรรค ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นเซ็ตมหากาพย์ ตอนเเรกว่าก็เก็บไว้หน่อย เเต่ก็มีเเถลงการณ์ออกมาไม่บังควรอย่างยิ่ง เดาว่า ต้องเป็นพล็อตยาวเเน่ ถ้ารู้ว่าวันไหนมีข่าวเกี่ยวกับ คสช. สุดท้ายก็ได้มาหกเล่ม ซึ่งคุณเห็นภาพรวมไทยรักษาชาติตั้งเเต่ต้นจนจบ ดูพาดหัวหกเล่มนี้ เราก็เลยเเบบว่า หลังจากนั้นก็เลยโอเค ถ้ามันมีอีเว้นท์สำคัญ ๆ เราก็จะเก็บไว้ ฉบับที่สะเทือนใจก็คือรูปจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมการเมือง) โดนตี อันนั้นขึ้นพาดหัวไทยรัฐ เเล้วก็ยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ซื้อบางกอกโพสต์มา เเต่วันนั้นหาหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ยากมาก นี่ต้องขอให้เเฟนเก็บไว้ให้ เพราะสำนักงานเขารับ คือของที่สมัยเราดูในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราไม่ได้รู้สึกว่ามันมีค่าทางประวัติศาสตร์ขนาดนั้น เเต่ถ้าเราย้อนกลับมา มันก็บอกเรื่องราว บอกอารมณ์สังคมขณะนั้นได้"

(ภาพข่าว กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ)

ของ 3 ชิ้น ในพิพิธภัณฑ์ ที่บ่งบอกถึงการเมืองปัจจุบัน

หนึ่งก็คือ หน้ากากพิน็อคคิโอ เขาทำขึ้นมาเพื่อจะเเซวว่า เฮ้ย สัญญาเรื่องเลือกตั้งมากี่รอบเเล้ว เเล้วก็เลื่อน ก็เลยเอาหน้าคอนเซ็ปพิน็อคคิโอ เด็กขี้โกหก มาทำเป็นหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) เเล้วก็จมูกยาว เเต่ที่ประทับใจในที่นี่คือ เขาพยายามเอาการเคลื่อนไหวของการเมือง ไปอยู่ในมิติของชีวิต เช่น เอาไปทำเป็นพัด หรือเอาไปทำเป็นฟองน้ำ เเล้วเอาไปเเจกตรอกข้าวสาร วันที่คนเล่นสงกรานต์ คือ เเมสเสจการรณรงค์ทางการเมือง ถ้าคุณอยู่เเต่ในม็อบเนี่ย มันก็ไม่ไปไหน มันก็อยู่เเค่นั้น

(ภาพหน้ากากพิน็อคคิโอ สะท้อนการเลื่อนเลือกตั้ง เมื่อต้นปี 2562)

สอง อันนี้ขายของให้เขาหน่อย อันนี้คือเพจ SOB เขาทำเสื้อสกรีน เเล้วเจอโดยบังเอิญ จำไม่ได้เเล้วเสื้อตัวเเรกของเขาที่ไปเห็นในเพจนั้นคืออะไร จากนั้น ก็ไปคอนเทคโดยการสัมภาษณ์ กับคนยุคนี้ว่าเหตุการณ์บ้านเมือง เลวร้ายถึงขั้นที่คนไม่สนใจการเมืองหันมาสนใจการเมืองแล้วเหรอ คือเขาเรียนราชมงคล ซึ่งไม่ได้อยู่ในสารบบที่ออกมาเคลื่อนไหวการเมืองในลำดับต้น ๆ เลย เเต่เนี่ย เด็กคนนี้จบมาจากราชมงคล เเละทำงานเป็นครีเอทีฟ ซึ่งอยู่นอกเเวดวงการเมืองเลย เเต่เริ่มมาทำเสื้อการเมืองขาย เเละบางตัว เช่น มีเสื้อตัวหนึ่งเขาเอาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เเล้วก็จรวด เอาปีก 4 ข้าง มาดัดเเปลง เเล้วทำให้เป็นรูปจรวดเเล้วบินขึ้นไป เออ มันก็เฮ้ย เเม้เเต่คนที่อยู่นอกเเวดวงการเมืองอ่ะ สถานการณ์บ้านเมืองมันเลวร้ายจนเขารู้สึกว่า เขาต้องลุกมาทำอะไรบางอย่าง เขาไม่ได้มาม็อบ เเต่ทำให้คนมันรู้สึกอยากซื้อ อยากจับต้อง ซึ่งมันมีคุณค่า มากกว่าการทำเเเล้วมาไล่เเจก คนมองเห็นเเล้วมันเเบบต้องซื้อ คือเขาทำก็ไม่ได้กำไรนะ

(เสื้อยืดสะท้อนความคิดการเมืองจากเพจ SOB)

สาม ก็น่าจะเป็นเสื้อจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) จำลอง เป็นของที่ทางพิพิธภัณฑ์เสนอไอเดีย คุยกันตอนที่จะจัดนิทรรศการ กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เราก็เสนอไอเดียว่า จ่านิวเพิ่งถูกทำร้ายมาใช่ไหม เรามาทำเสื้อจำลองกัน เพราะตอนนั้นไม่สามารถถอดเสื้อจริงมาได้ เเล้วก็เอาไปใช้ในงานกิจกรรมหนึ่งของ iLaw เเล้วให้คนมาทดลองใส่ คือเราคิดว่า พิพิธภัณฑ์ในฐานะเเหล่งเรียนรู้ หน้าที่เราอาจจะไม่ใช่เเค่เเหล่งเรียนรู้ เเต่ของบางชิ้นเราก็สามารถทำจำลองเล่าได้ ส่วนประสบการณ์ที่ประทับใจที่สุด น่าจะเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือไปร่วมกิจกรรมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อนที่เป็นอาจารย์เชิญไปสอนวิชาเกี่ยวกับประชาสังคม วันนั้น เราก็ไม่มีรถนะ เอาของใส่กระเป๋า ไปนอนบ้านเเเฟนที่เเปดริ้ว(จังหวัดฉะเชิงเทรา) วันนั้นเรารู้สึกเราเสี่ยงตายมาก ต้องนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ เอาของใส่ไว้ตรงด้านหลังเเล้วกอดมา เเล้ววิ่งบนไฮเวย์ถนนใหญ่ เเต่พอเราไปถึงที่นู่น เห็นนิสิตถ่ายรูปเเล้วลงทวิตเตอร์ เขียนประมาณว่า เฮ้ย เขารู้สึกดี เขารู้สึกขนลุกที่ได้เห็นของพวกนี้เเละได้ยินเรื่องพวกนี้ เราเลยรู้สึกว่าการเสี่ยงตายวันนั้นมันคุ้มอ่ะ แบบกอดกระเป๋าเดินทางบนหลังมอเตอร์ไซค์ ซ้อนมอไซต์ เพื่อจะเดินทาง ไปถึงแล้ว มันมีคนเห็นเเล้วเรารู้สึกว่า เเมสเสจนี้มันถึงเขานะ เราก็เลยคิดว่า เนี่ย ของที่เราเก็บ มันมีค่าเเละมันมีประโยชน์ในการเรียนรู้ เป็นกำลังใจให้ทำสิ่งนี้ต่อไป

(ภาพเสื้อจำลอง ของจ่านิว หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562)


___________________________________________________


*เฟซบุ๊กเพจ พิพิธภัณฑ์สามัญชนหรือ Museum of the Commonners ก่อตั้งโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ในช่วงปี 2561 นอกจากงานนำเสนอทางออนไลน์ ปัจจุบันเขายังรับจัดแสดงงานและบรรยายตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันศึกษา เคยไปจัดแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์มาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ,มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยผู้สนใจสามารถ Inbox เข้าไปสอบถามพูดคุยที่จะร่วมกิจกรรมได้

*ขอบคุณภาพประกอบทั้งหมดจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน


สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย วีรวรรธน์ สมนึก

เนื้อหาอื่นๆ

18 ธันวาคม 2020
25 พฤษภาคม 2020
06 กุมภาพันธ์ 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT