28 สิงหาคม 2023

อำนาจที่ต้องกระจาย...เพื่อสร้างรากฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต กับคำถามเรื่องศักยภาพของประชาสังคม

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ไทยแอ็คได้เฝ้าสังเกตการณ์เตรียมความพร้อมของภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐและท้องถิ่น ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนผ่านเพื่อปฏิบัติการ “กระจายอำนาจ” ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ผู้ปฏิบัติงานในท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัด โดยมีแผนพัฒนาจังหวัดเป็นหมุดหมายหลักในการดำเนินการ

โดยระยะเวลาดังกล่าว ได้มีการจัดกิจกรรม “ประชุมเชิงปฏิบัติการ CSOs Forum 2023 ระดับภาคและเครือข่าย” ซึ่งเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จนนำไปสู่การจัดประชุม CSOs Forum 2023 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ภายใต้แนวคิด การกระจายอำนาจการคลังเพื่อท้องถิ่น : ส่งเสริมภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนการจัดบริการสาธารณะขึ้น โดยมีตัวแทนจาก ผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคม องค์กรภาคประชาชน สภาองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึง อาสาสมัครและอาสาสมัครสาธารณสุขตำบลรวมทั้งสิ้น 686 คน

ซึ่งแต่ละภาคได้มีการเสนอปัญหาและอุปสรรคต่อเรื่องนี้ไว้อย่างงน่าสนใจ อาทิเช่น


“การกระจายอำนาจในยุคนี้ ไม่เหมือนการกระจายอำนาจในยุคก่อน ๆ ยุคนั้นสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นก่อนการกระจายอำนาจอยู่ที่ร้อยละ 8 แต่ยุคหลังมาประมาณร้อยละ 29.92 หมายถึงเงิน 100 บาท ให้ท้องถิ่น 30 บาท จากงบประมาณที่มีการกระจายอำนาจ คาดว่าท้องถิ่นน่าจะมีการดำเนินการอะไรที่ได้มากกว่าเดิม นี่เป็นจำนวนเงินที่ต้องมีส่วนร่วมกันตัดสินใจในท้องถิ่น ดังนั้น ประชาชน องค์กรภาคประชาสังคมเมื่อถึงเวลาที่องค์กรปกครองท้องถิ่นมีการจัดทำแผน ควรเอาตนเองเข้าไปมีบทบาทในนั้นด้วย สิ่งที่อยากจะฝาก คือ อะไรก็ต้องเป็นแผนในจังหวัด ๆ หนึ่งถ้านำแผนมาวางกองเรียงกันน่าจะมีแผนที่จะต้องดำเนินการจำนวนมาก เมื่อมีงบประมาณกระจายลงท้องถิ่นแต่ที่ผ่านมาทำไมยังไม่สามารถใช้งบประมาณในการเติมเต็มความต้องการของประชาชนในจังหวัดได้เสียที” (เสียงจากภาคกลาง)


“ท้องถิ่นรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองหรือยัง ? ปัญหาใหญ่ คือความเข้าใจบทบาทหน้าที่ตนเองมากน้อยแค่ไหน และจะนำพาท้องถิ่นไปได้อย่างไร” พบว่าท้องถิ่นที่มีความพร้อมดำเนินการยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะฉะนั้นการพัฒนาศักยภาพเป็นสิ่งสำคัญ ท้องถิ่นมีระเบียบ กฎหมาย บทบัญญัติเทศบัญญัติท้องถิ่น ปัญหาใหญ่ในการพัฒนาในการกระจายอำนาจในการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนในท้องถิ่น เพราะคนที่มีอำนาจมีบทบาท ไม่เข้าใจบทบาท และสิทธิด้านต่าง ๆ การเสนอการพัฒนาโครงสร้าง การพัฒนาคุณภาพชีวิตจะเริ่มจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และขึ้นไปที่จังหวัด ขึ้นไปที่รัฐบาล ถ้าท้องถิ่นมีความเข้าใจในหลักการพัฒนา การทำงานจะง่ายมากและไม่เหนื่อย“ (เสียงจากภาคใต้)

และจากการสังเกตจึงเห็นได้ว่า อุปสรรคสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและภาคประชาชน นอกจากเรื่อง “อำนาจ” แล้วยังมีเรื่องของความไม่รู้ความไม่เข้าใจนโยบายที่ถูกส่งลงมายังผู้ปฏิบัติงาน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคสำหรับการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตในแต่ละท้องถิ่นจะพบ 3 ปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางการกระจายอำนาจ คือ


- แต่ละยังขาดข้อมูลคุณภาพชีวิตประชากรเฉพาะกลุ่มที่ชัดเจนต่อการจัดทำและวิเคราะห์ เพื่อวางแผนการจัดบริการร่วมกันในท้องถิ่น
- ในท้องถิ่นนั้นประเด็นคุณภาพชีวิตไม่ถูกให้ความสำคัญ เพราะงบประมาณมีเพียง 30 % และการดำเนินการ ในท้องถิ่นล้วนแต่เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
- แผนของภาคประชาสังคมไม่ได้รับการพิจารณาและให้การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากการที่แผนไม่สอดคล้องกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่รัฐกังขากับศักยภาพของประชาสังคมในท้องถิ่นตน รวมทั้งการที่ผู้ปฏิบัติงานในท้องถิ่นยังไม่เท่าทันนโยบาย และขาดความรู้เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ จึงกังวลเกี่ยวกับการตรวจสอบ
   

 

แม้ตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรม “ประชุมเชิงปฏิบัติการ CSOs Forum 2023” จะมีข้อเสนอร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่ล้วนแล้วเป็นเพียงพลวัตของการนำนโยบายไปปรับใช้จริงในพื้นที่ แต่มีหนึ่งสิ่งสำคัญที่ถูกกล่าวถึง คือ การกระจายอำนาจการคลังเพื่อท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมประชาสังคมในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดบริการสาธารณะ เมื่อหัวใจหลักของการพัฒนาคือการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่ครอบคลุม และจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรร่วมกับระหว่างรัฐและภาคประชาสังคม การกระจายอำนาจการคลัง จึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การจัดบริการสาธารณะที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้จริง

ต่อเรื่องนี้ศาตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้หยิบยกข้อเสนอบางประการที่อาจเป็นเรื่อง “ใหม่” ทั้งสำหรับประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมานำเสนอโดยมีสาระสำคัญคือ “การทำหน้าที่เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจ” ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานในเมือง/ในชุมชน ทั้งการจัดระเบียบพื้นที่ใช้สอย (หาบเร่ แผงลอย) เพื่อเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยและวัตถุดิบปลอดภัยในท้องถิ่น หรือการจัดทำ Platform ที่อำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้จ้างและลูกจ้างของท้องถิ่นเอง หรือการจัดการพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดมูลค่า ทั้งหมดนี้จะเป็นการดึงคุณค่าผ่านอัตลักษณ์ของท้องถิ่นแต่ละแห่งออกมาเพื่อเป็นจุดขาย และนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดเก็บภาษีเพื่อนำกลับมาพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในท้องถิ่นเอง


ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หาก ผู้กำหนดบทบาทหลักคือฝ่ายราชการ ยังไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงระหว่างรัฐ ภาคประชาสังคม และหน่วยบริการในชุมชนได้ หรือการที่ภาคประชาสังคมเองยังคงอัตตาจนไม่สามารถร่วมงานกับหน่วยงานในท้องถิ่นใดได้ และรวมไปถึงคำถามสำคัญคือ “ศักยภาพ” ของภาคประชาสังคมที่จะหยัดยืนเพื่อเสนอตนมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการแผนระดับจังหวัดของตน ...นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

เนื้อหาอื่นๆ

13 กันยายน 2022
12 ธันวาคม 2022
10 มิถุนายน 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT