08 เมษายน 2020

กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ การรวมกลุ่มของขบวนชาวบ้าน ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน

กับสร้างงาน สร้างโอกาส แต่ขาด “การตลาด” จึงพากันไปยืนอยู่บนจุดเสี่ยง กับทางออกของทั้งผู้ส่งเสริมและขบวนชาวบ้าน ?

นับตั้งแต่การเข้ามาของวาทกรรม "วิสาหกิจชุมชม" หรือการพัฒนากลุ่มชาวบ้านในชนบท ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพ จะเห็นได้ว่าทรัพยากรแรงงานฝีมือตามชุมชนต่างจังหวัดของประเทศไทย มีศักยภาพในการดำเนินการผลิต “สินค้าชุมชน” ออกมาสู่ตลาดอย่างหลากหลาย ทั้งผ้าทอจากภูมิปัญหาชาวบ้าน ข้าวสารอาหารของตากแห้งจากชุมชน หม้อชามรามไหจากท้องถิ่นหรือแม้กระทั่ง หน้ากากอนามัยที่จำเป็นต้องใช้ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ นอกจากแสดงถึงการผสมผสานกันของฝีมือแรงงาน และความร่วมมือในชุมชนแล้ว ยังกลายเป็น “ผลลัพธ์” ของกระบวนการพัฒนากลุ่มชาวบ้าน ทั้งจากหน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคมด้วย

ผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก บ้านห้วยน้ำขาว หมู่ 2 ตำบลท่าวังทอง จังหวัดพะเยา

ชุมชนบ้านห้วยน้ำขาว หมู่ 2 ตำบลท่าวังทอง จังหวัดพะเยา เช่นกัน กลุ่มผู้สูงอายุ และสตรี ที่อาศัยในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ได้รับการส่งเสริมฝีมือแรงงานจาก “กลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้ง” ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ที่ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย และการคุ้มครองสิทธิในกลุ่มประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศ(LGBTIQ)

การรวมกลุ่มของคนในชุมชน เป็นไปเพื่อผลิตของใช้จากเศษผ้า ด้วยการนำเศษผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรมโรงงาน มาแปรรูปเป็น พรมเช็ดเท้า เปลนอน รวมไปถึงปลอกกระบอกเก็บน้ำ ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี หากนับในแง่ผลผลิตจากคนในชุมชนแล้ว จะพบว่า พวกเขาสร้างความเข้มแข็งจนทำให้เกิดการรวมกลุ่ม แก้ปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนได้เป็นอน่างมาก โดย วันนา หาญจริง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทำพรมเช็ดเท้าเล่าว่า

“เดิมที เราหาอยู่หากินออกเช้าเข้าบ้านเย็น ต่างคนต่างอยู่ ปัญหาหลัก ๆ เป็นเรื่องขยะ เดี๋ยวบ้านนั้นเผาที บ้านนี้เผาที ขยะในชุมชนก็ถูกทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง บ้านไหนมีปัญหาอะไรก็เจอกันตอนเจ็บ ตอนตายเลยทีเดียว แต่การรวมกลุ่มกัน แม้ว่าจะด้วยเรื่องเพิ่มอาชีพแบบนี้ มันทำให้คนในชุมชนมีที่ทาง ออกมานั่งคุยนั่งเห็นปัญหา ไม่ใช่แค่มาแสวงเงินทองอย่างเดียว รวมกันไปเรื่อย ๆ เรื่องขยะก็ถูกจัดการ เพราะมันเกิดการคุยกัน ส่วนปัญหาสุขภาพ โดยพื้นฐานเราก็เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านอยู่แล้ว พอเห็นหน้าเห็นตัวกันมากขึ้น ก็ได้รู้ ได้ทราบ ได้ติดตามปัญหาสุขภาพเป็นระยะ”

แหล่งข้อมูล และสมาชิกกลุ่มทำพรมเช็ดเท้า

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กระบวนการส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนในชุมชน จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของชุมชนด้านอื่น ๆ ตามมา แต่หากการที่ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งรัฐเอง มุ่งเน้นแต่การพัฒนาศักยภาพ และวิธีการผลิต โดยละเลยเรื่องของ “ตลาด” ไปเสียแล้ว อาจนำพาปัญหาใหม่มาสู่ชุมชนก็เป็นได้ ต่อเรื่องนี้ แม้กระทั่งคุณวันนาเองก็มองไม่เห็นทางออก

“ที่ผ่านมา รวมกันทำเป็นกลุ่ม เอามาขายก็ขายยาก เลยคิดทำตลาดย่อม ๆ หน้าปากซอยหมู่บ้าน แม้มันจะพอให้คนผ่านไปผ่านมาได้เห็นสิ่งที่เราทำ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้การกระจายรายได้สู่กลุ่ม เป็นไปแบบต่อเนื่องนัก เพราะราคาขายของเรา อย่างพรมเช็ดเท้า 3 ผืน 100 บาท กว่าจะขายออกแล้วทุกคนได้รับเงินก็ใช้เวลาพอสมควร ตอนนี้หลายคนก็แยกกันทำ แยกกันนำไปขาย หรือไม่ก็รับจ้างอย่างอื่นเสริมไปด้วย”

เป็นที่น่าสนใจว่า หากเกิดกระบวนการพัฒนากลุ่มอาชีพเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ไม่เกิดรายได้ ถึงแม้ประชาชนในชนบทห่างไกลจะมีฝีมือ แต่ไม่มีรายได้ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ในท้ายที่สุด การแก้ปัญหาสังคมมิติอื่นของชุมชน อาจวันไปสู่จุดเดิม คือเกิดปัญหา ไม่มีทางแก้ไข มีการรวมกลุ่ม กลุ่มสลาย และเกิดปัญหาเดิมขึ้นอีกครั้ง

กลุ่ม"น้ำกว๊านสีรุ้ง"ลงพื้นที่ติดตามประเมินผล และหาแนวทางกการแก้ปัญหาขายสินค้าชุมชนไม่ได้

ดังนั้น การทำงานพัฒนาชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์หลังจากนี้ นอกเหนือจากการสร้างงาน สร้างอาชีพ และทำให้ภาคประชาชนรับรู้รับทราบว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหา และร่วมพัฒนาสังคมแล้ว ควรหรือไม่ที่ ภาคประชาสังคม รวมทั้งกลไกรัฐ จะเริ่มต้นส่งเสริมการเรียนรู้ในการทำการตลาดของชุมชน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างยั่งยืนที่จะตามมา ดีกว่าจะมุ่งเน้นให้ทุกชุมชนมีผลิตภัณฑ์ แต่ปราศจากตลาด ซึ่งเป็นการนำพากันและกันไปยืนอยู่บนจุดเสี่ยงอย่างไม่คาดคิด

สนใจสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านห้วยน้ำขาว หมู่ 2 ตำบลท่าวังทอง จังหวัดพะเยาสามารถติดต่อสอบถามได้ทางกล่องข้อความของแฟนเพจไทยแอ็ค

________________

**ปัจจุบันกลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้งได้ร่วมกับ กลุ่มพรมเช็ดเท้า ชุมชนบ้านห้วยน้ำขาว หมู่ 2 ตำบลท่าวังทอง เพื่อประสานงานกับสถาบันการศึกษา และวัดในระแวกใกล้เคียงเพื่อจัดการด้านการตลอดของกลุ่ม ไทยแอ็คจะติดตามผลการดำเนินงานและรายงานให้ทราบต่อไป

เนื้อหาอื่นๆ

08 พฤษภาคม 2022
09 สิงหาคม 2020
17 ธันวาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT