08 พฤษภาคม 2022

พนักงานบริการ กับข้อหาเตร็ดเตร่ทำตัวไม่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว ?

จากรันเวย์ Sex Work Fashion Week กับปัญหาที่ผู้ประกอบอาชีพพนักงานบริการทางเพศต้องทนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ก่อนอาทิตย์ลับฟ้าเมื่อวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ บริเวณประตูท่าแพจังหวัดเชียงใหม่ รายล้อมไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาที่มาร่วมพูดคุย รับฟัง ติดตามภาพยนตร์สั้น และการเสวนาของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

แม้สาระสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้คือ แถลงการณ์ที่เรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่น การขอให้ขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 492 บาท, การให้ทุกอาชีพสามารถเข้าประกันสังคมได้ แต่วันนี้ไทยแอ็คอยากชวนทุกท่านย้อนกลับไปร่วมซึมซับบรรยากาศของงานในช่วงท้าย ซึ่งเป็นการแสดงแฟชั่นโชว์ภายใต้แนวคิด "Sex Work Fashion Week" โชว์เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้กับพนักงานบริการ

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานและผู้ริเริ่มการแสดงครั้งนี้กล่าวก่อนเปลี่ยนไปสวมเครื่องเเต่งกายในชุดเฉิดฉายว่า “ในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล รวมทั้งรัฐธรรมนูญต่างระบุไว้ว่า ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ แต่ทำไมเวลาที่เราจะใช้เนื้อตัวร่างกายของเราในการทำงาน ถึงผิดกฎหมาย?

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนอกจากสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตที่มีส่วนฟูมฟักผลักความเป็นคนผิด คนบาป และเป็นงานที่ต้อยต่ำให้กับผู้ประกอบอาชีพนี้แล้ว กฎหมายและการบังคับใช้อำนาจของผู้บังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการที่ยังเห็นอยู่ทนโท่ของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี พ.ศ.2539 ที่มุ่งเอาผิดกับตัวพนักงานบริการอย่างไม่เลือกวิธีการ จึงปรากฎภาพการล่อซื้อจากเจ้าหน้าที่เป็นระยะ รวมทั้งช่วงการระบาดโควิดที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่บางพื้นที่โทรตามพนักงานบริการให้มาถูกจับกุมเพื่อทำผลงาน*”

ศิริศักดิ์ ย้ำข้อเรียกร้องของพวกเขาผ่านการจัดกิจกรรมที่เต็มไปด้วยแสงสีเสียงในครั้งนี้ว่า

“ไม่ว่าจะเป็นใคร พวกคุณต้องคืนศักศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพนักงานบริการทางเพศ รูปธรรมที่ชัดเจนและจริงใจที่สุดคือ การยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี พ.ศ.2539 และให้ความคุ้มครองพนักงานบริการตามกฏหมายแรงงานทันที

นอกจากนี้ขอย้ำว่า รัฐบาลไทยต้องขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อพนักงานบริการทั้งในสถานที่ทำงานและศูนย์บริการสุขภาพ ที่สำคัญเลยอยากจะบอกว่าอย่าตีตราให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ประหลาด ผลิตภาพจำซ้ำซ้อนด้วยการทำเหมือนพยายามคลี่คลายปัญหา ด้วยการไปออกกฎหมายใหม่โดยโน้มน้าวให้มีการจดทะเบียน หรือขึ้นทะเบียนพนักงานบริการ”

ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน ทฤษฎี สว่างยิ่ง จากเครือข่ายสุขภาพและโอกาสพัทยาก็เล่าเพิ่มเติมถึงปัญหาว่า “กฎหมายนี้ทำให้เกิดข้อกล่าวหาประหลาด ๆ ที่เจ้าหน้าที่ตั้งให้แก่คนที่พวกเขาสงสัยว่าเป็นพนักงานบริการ เช่น ข้อหาขัดขวางทัศนียภาพ ข้อหาเดินเตร็ดเตร่ทำตัวไม่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว รวมไปถึงการขอตรวจบัตรประชาชนแบบหว่านแหสำหรับคนที่ยืนหรือปักหลักในบางสถานที่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วในบัตรประชาชนไม่มีข้อมูลอาชีพอยู่แล้วจะดูอะไรกัน”

และจากการร่วมพูดคุยกับคุณชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ จากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ก็เห็นว่า อาชีพพนักงานบริการที่คนต่างมองว่า “ทำงานง่าย” แค่มีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งคราวไปนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

“ความเสี่ยงของอาชีพนี้อันดับแรกคือ ถูกระบุว่าผิดกฎหมาย และการปฏิบัติงานแต่ละครั้งมันไม่ใช่แค่นอนถ่างขาเอา ๆ กันให้เสร็จ มันต้องใช้ทักษะในการดูแลผู้ใช้บริการเหมือนกัน เพราะหากเกิดความไม่พึงพอใจ อาจทำให้มีการทำร้ายร่างกาย หรือการไม่จ่ายค่าบริการ นอกจากนั้นความเสี่ยงที่ต้องประเมินเพิ่มเติมคือ หากเป็นพนักงานบริการอิสระ พวกเขาจะต้องประเมินความเสี่ยงของลูกค้าเองอย่างรอบคอบรอบด้านทั้งเรื่องสุขภาวะและความปลอดภัยในขณะทำงาน ที่สำคัญคือ ความยุ่งยากในการเข้ารับบริการสุขภาพทั่วไป ที่อาจหนีไม่พ้นจากการเลือกปฏิบัติ การตีตราเหมารวมจากเจ้าหน้าที่”

แม้นี่อาจจะเป็นครั้งแรกของกิจกรรม Sex Work Fashion Week แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนและคนในประเทศร่วมรับรู้ถึงตัวตนและการมีอยู่ของพนักงานบริการ เพื่อร่วมกันกับพวกเขาในการส่งเสียงให้ได้รับการดูแล และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา ในฐานะคนหนึ่งคนผู้เป็นประชาชนของประเทศ

____________________________

ภาพถ่ายจาก : ศิริศักดิ์ ไชยเทศ

#SexWorkFashionWeek#SexWorkFashionWeek2022

#SexWorkPride#DecentSexWork

#SexWorkIsWork#ขายตัวไม่ใช่อาชญากรรม#ยกเลิกพรบป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี2539

____________________________

*ในเรื่องนี้นอกจากคำบอกเล่าของ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ แล้ว ยังได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้องซึ่งไม่เปิดเผยตัวตนว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรหาพนักงานบริการเพื่อให้มาลงบันทึกจับกุม มีอยู่จริง ใน พื้นที่ กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายจ่ายค่าปรับ และช่วยออกค่ารถจำนวน 50 -100 บาท ให้แก่พนักงานบริการ แลกกับการไม่ก่อกวน ไม่ตรวจตราจับกุมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เนื้อหาอื่นๆ

09 ตุลาคม 2023
14 กรกฎาคม 2020
13 กันยายน 2022

Copyright © 2013 THETHAIACT