17 ธันวาคม 2019

ผู้ให้ในแผ่นดินอื่น

จากผู้ลี้ภัย กลายเป็นผู้ยืนหยัดทำงานเพื่อการศึกษาของแรงงานข้ามชาติ

ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าราชเทวี หากมีโอกาสเดินลัดเลาะเข้าไปในซอกซอย สำรวจเพื่อนร่วมมหานคร เราอาจพบว่ากรุงเทพชีวิตดีดีที่ลงตัว ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งงาน แหล่งโอกาสของคนไทย แต่ยังมีชุมชนเล็ก ๆ ของ “แรงงานข้ามชาติ” ซึ่งรวมกันอยู่อาศัยเพื่อทำงานในระแวกใกล้เคียง และในทุกวันอาทิตย์ที่ อาคารย่อยของสำนักงานมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า (ซึ่งควรเรียกว่าห้องแถวจะเหมาะกว่า) ได้แปลงสภาพจากตึกเสื่อมโทรม สภาพทึบทึม ยืนทะมึน เป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งละลานตาไปด้วย แรงงานข้ามชาติ บ้างสวมชุดนักศึกษาสมัยนิยม บ้างสวมชุดไปรเวท และผ้าพื้นบ้านมารวมตัวกันเพื่อเรียนหนังสือ

ด้านล่างของอาคารเป็นส่วนของโถง มีไว้รองรับการเรียนภาษาไทยในขั้นพื้นฐาน ส่วนชั้นสองหลังพ้นบันไดขั้นสุดท้ายจะเจอชุมนุมการเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์ ที่โรงเรียนเเห่งนี้นอกจากจะเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเเรงงานข้ามชาติใจกลางกรุงเทพมหานครเเล้ว ยังกลายเป็นพื้นที่แบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาในการทำงานของเเรงงานข้ามชาติอย่างไม่เคอะเขินอีกด้วย

วันนี้ ชวนมาทำความรู้จักกับ เมียน เวย์  รองผู้อำนวยการ มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ผู้เคยอยู่ในสถานะ “ผู้ลี้ภัย” จนเวลาผ่านกว่า 20 ปี เขาได้กลายเป็นผู้ยืนหยัดทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ตามความเข้าใจ เมียน เวย์ ไม่ใช่ชายไทย แล้วไปยังไงมายังไงมาอยู่ที่นี่ได้ ?

ต้องเล่าก่อน ว่าเหตุผลที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยของผม เนื่องมาจากต้องลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศพม่า ตอนนั้นหนีเข้ามาทางด่านชายเเดนจังหวัดกาญจนบุรี หลบหนีมาทั้งเดินเท้า ทั้งอาศัยรถ จนมาโผล่ใกล้มหาชัย แล้วก็อย่างที่รู้ ย่านนั้นเป็นแหล่งงานสำคัญของคนพม่า เราก็ได้ทำงาน ทำงานมาเรื่อย ๆ คิดว่า โอ้โห !  คนงานพม่าที่มาทำงานแถวสมุทรปราการ มหาชัย นี่เยอะมากนะ ทำไมเราถึงไม่มีโอกาสในการได้รวมตัวพูดคุยกันเลย ช่วงแรก ๆ ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมา ว่ามันเป็นเรื่องความคาดหวังทางการเมือง เป็นการรวมตัวเพื่อแผยแพร่สถานการณ์การเมืองที่รุนแรงในประเทศพม่าสมัยนั้น โดยตัวผม ได้รับคำสั่งจากกรรมการที่ลี้ภัยมาด้วยกัน ว่าให้เตรียมตัวก่อตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อตอบโต้กับรัฐบาลพม่าสมัยนั้น  เราก็เริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร ให้คนพม่าในประเทศไทยมารวมตัวกัน ก็เลยเริ่มจากการเปิดทำการเรียนการสอนภาษาทุกวันอาทิตย์ก่อน

จากศูนย์ข้อมูลตอบโต้รัฐบาลพม่า มาเป็นโรงเรียนได้ยังไง ?

คือแรกเริ่ม เวลาทำงานจริง ค่อนข้างยากมาก คนพม่ามาเมืองไทยเพื่อมาหางานทำ เขาก็ต้องสนใจมารวมตัวกันเพื่อพัฒนาทักษะ พัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเอง เพื่อเอาไปใช้ทำกับงานของเขา แทบไม่มีใครได้สนใจการเมืองในบ้านเกิดเลย แล้วอีกอย่างสถานการณ์ในเมืองไทยช่วงนั้นเองก็ใช่ว่าจะดี พวกเรานี่โดนมาหมดทั้งถูกรังเกียจกีดกัน ถูกข่มขู่โดยนายจ้าง เพราะไม่มีใครอยากให้ลูกน้องรู้เยอะ หรือพอไปขอใช้สถานที่เพื่อเปิดสอนถูกไล่ยิงเลยก็มี แต่อดทนทำกันมาเป็นปี ก็เลยคิดกันจริงจัง ว่าควรทำการสอนวิชาความรู้ทักษะต่าง ๆ ให้คนพม่าในเมืองไทยเพื่อให้คนงานพวกนี้มีทักษะ และเอาตัวรอดได้ด้วยนะ จึงเริ่มก่อตั้งเป็นโรงเรียนสอนวันอาทิตย์ขึ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1997

การเป็นแรงงานที่มาเรียนกับเรานี่ลำบากมาก เพราะแรงงานต้องทำงานกลางคืนจะว่างวันอาทิตย์เพียงวันเดียว มาเรียนก็โดนตำรวจไถตังค์บ้าง บางคนถูกจับส่งกลับบ้างก็ไม่อยากเรียน  สอนกันอยู่สองสามเดือนก็มีปัญหา ทหารโทรมาบอกว่าพวกเรา ซ่องสุมกัน พอวันจะเรียนทหารโทรมาแจ้งว่า ตอนนี้จับนักเรียนของเราส่งกลับไปหมดแล้ว เหลือเข้ามาคุยกับพวกครู พวกอาสาสมัครนะ ทำอะไรกันไม่ถูกเลยตอนนั้น แต่ทางการไทยก็เสนอแนวทางการจัดการต่าง ๆ ให้ไม่ใช่ตะบี้ตะบันจับอย่างเดียว มีการให้คำปรึกษาว่าควรทำเป็นโรงเรียนสอนเด็กวันอาทิตย์ ไม่ใช่มาสอนกันแบบไม่ขออนุญาตแบบนี้ หลังจากนั้นยอมรับว่ายังคงแอบสอน เปิดห้องเรียนกันในวัดบ้าง หรือไม่ก็ตามลานปลาที่เถ้าแก่ไม่อยู่ บางครั้งโดนไล่เป็นหมูเป็นหมา แต่ว่าเราก็ทำให้การเรียนการสอนมันง่ายกับแรงงาน ย้ายครูย้ายอาสาสมัครผู้ทำการสอนไปในที่ที่แรงงานเข้าถึงสะดวก

ทำแบบนี้มาแรมปี แล้วก็เริ่มมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขมาร่วมสอนเรื่องสุขภาพบ้าง เรื่องโรคติดต่อบ้าง  ต่อมาก็ได้รับสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างประเทศ สนับสนุนรถมาให้เอาไว้ส่งคนป่วย ส่งนักเรียน ส่งคุณครูอาสา เริ่มจากนักเรียน 3-4 คนเป็น 70-80 คน ทำมาจนถึงวันนี้  มีนักเรียนที่มาเรียนกับเรากว่า 700 คน  ส่วนใหญ่จะเรียนกันในวันอาทิตย์ แต่บางส่วนก็เรียนวันพุธกับวันศุกร์ด้วย  แล้วบุคลากรครูส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ไม่ได้จ้าง

แล้วถ้าอยากมาเรียนที่นี่ต้องทำยังไง ?

การมาเรียนที่นี่มีสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องยอมรับกฏกติกาของโรงเรียน จะบอกว่าตัวเองไม่ใช่พม่าแต่ว่าเป็นไทยใหญ่ เป็นกะเหรี่ยง เป็นรัฐฉาน หรือจะบอกว่าเป็นพรรคพวกไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่คุณต้องเป็นที่นี่ คือนักเรียน เราสอนภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คอมพิวเตอร์ เราให้เท่ากัน นักเรียนก็ต้องมีสถานะเท่ากัน ไม่รังเกียจกีดกันแบ่งชั้น แบ่งศาสนาจะพุทธ  คริสต์  อิสลามไม่มาแบ่งเผ่าพันธุ์กันที่นี่ เราขอให้นักเรียนสวมยูนิฟอร์มสีขาวเหมือนกัน เรียนร่วม

สาเหตุสำคัญที่ทำไมเราจึงให้นักเรียนแต่งชุดขาวเหมือนกัน เพราะด้วยภาพลักษณ์ของแรงงานข้ามชาติ มักจะถูกเจ้าของประเทศมองภาพว่าพวกเรานี่มันสกปรก ไม่มีระเบียบไร้วินัย มาทำงานหนัก มาทำงานใช้แรงงานไม่มีการศึกษา แต่การได้แสดงให้เห็นว่าพวกเราก็สามารถอยู่ในกฏ อยู่ในระเบียบ อยู่ในวินัยได้ มันเป็นเหมือนกระดาษคำตอบที่เราส่งคุณครูอย่างภูมิใจ ซึ่งคุณครูของเราคือคนไทยทั้งประเทศและสังคมโลก การมาเรียนที่นี่ อย่างน้อยผู้สมัคร หรือตัวแรงงานเอง ต้องมีเอกสารรับรองการเข้าเมืองอย่างถูกต้อง

ถ้าแรงงานข้ามชาติมีความรู้มากขึ้น จะเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศไทย ?

การเป็นเเรงงานข้ามชาติถ้าอยากลงข่าวมี 2 วาระหนึ่ง คือ ฆ่านายจ้าง สอง ตายโหง โดนเครนทับ ตกตึก หรือทำถนนอยู่ก็โดนรถชน ถ้าคุณลองติดตามข่าวจะพบว่า ในกรุงเทพเราไม่ค่อยเห็นข่าวนายจ้างถูกลูกจ้างฆ่านะ ไม่เชื่อลองดูสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ผมจะตอบแค่นี้แหละ ที่เห็นภาพได้มากที่สุด

เอาเข้าจริงเราอยากพัฒาให้แรงงานบ้านเราที่เข้ามาทำงานมีความรู้มากขึ้น อย่างน้อยก็รู้เรื่องการสื่อสาร ถ้าสื่อสารกับคนอื่นได้ สื่อสารกับนายจ้างได้ ก็จะสามารถทำงานตอบแทนนายจ้างได้อย่างตรงไปตรงมา จะมีนายจ้างที่ไหนอยากได้ลูกจ้างที่คุยไม่รู้เรื่อง ดังนั้นถ้าอยากให้งานตัวเอง หรือกิจการพัฒนา นายจ้างควรต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้เรียนรู้เพิ่มเติมบ้าง ขี้หมูขี้หมาไม่ได้อะไรคนพวกนี้จะได้สื่อสารเรื่องงานกับนายจ้างได้ แล้วอีกอย่างคือว่าถ้าหากแรงงานกลับบ้านไป ก็สามารถเอาความรู้กลับบ้านไปได้ ต้องย้ำว่าพวกเราไม่เหมือนคนไทย ที่มีระบบการศึกษานอกโรงเรียน พวกเขาไม่มีโอกาสกลับไปเรียนหนังสือ ไม่มีใครอยากเห็นชาติบ้านเมืองเต็มไปด้วยคนไม่รู้หนังสือ แล้วเมื่อแรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบแบบที่เราทำ มันก็จะควบคุม ตรวจสอบกันได้ง่าย การให้การศึกษาทำให้คนไม่กล้าทิ้งวิชาเรียนไป ทำให้ลูกจ้างไม่กล้าทิ้งงานนายจ้างจะได้ไม่ต้องปวดหัว อีกเรื่องที่สำคัญนะ ถ้ารู้ภาษาก็จะสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบ หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ได้

เจออุปสรรคบ้างไหม แล้วทำอย่างไร

จริง ๆ เราเคยปิดตัวนะ เรียนกันจนมาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งแรงงานหลายคนบอกว่าอยากมาเรียน แต่สถานการณ์เริ่มไม่อำนวยแล้ว ก็เลยยุติการทำงานไปครั้งหนึ่งเพราะเราดูแลไม่ไหว ไหนจะถูกจับกุม ไหนจะนายจ้างบังคับให้ทำงานวันหยุด ไหนจะคนเรียนเองมีหลายระดับความรู้  มาเรียนรวมกันก็ตามกันไม่ทัน มันวุ่นวายไปหมดจนเราต้องยุติ เพื่อทบทวนใหม่ แล้วก็เริ่มทำการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ

ตอนนี้นะ  เรามีกองทุนที่รวบรวมจากนักเรียน ตั้งไว้เป็นเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือคนที่เดือดร้อน ตั้งไว้ให้คนที่เรียนดีอยากเรียนต่อแต่ไม่มีทุน แล้วการช่วยเหลือทำโดยไม่เลือกว่าเป็นคนไทย พม่า กัมพูชา ตอนที่น้ำท่วมที่ภาคใต้ เราก็เอาเงินไปร่วมบริจาค ถ้ามีโรงเรียนที่บ้านเกิดแจ้งมาว่า ต้องซ่อมแซมตรงนั้นตรงนี้เราก็ใช้เงินกองทุนบริหารจัดการให้การช่วยเหลือ เงินส่วนมากมาจากนักเรียนปัจจุบันบ้าง ศิษย์เก่าที่ทำงานเก่ง ๆ แล้วพัฒนาตัวเองจนไปเป็นคนใหญ่คนโตได้บ้าง มีนักเรียนที่เรียนกับเราตอนนี้ ได้เป็นล่ามในสถานฑูตไทยที่เนปิดอว์ (เมืองหลวงของเมียนมาร์) บางคนได้เป็นครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัย บางคนเรียนเก่งขยันทำงานแต่ไม่มีเงินก็เรียนจนจบปริญญาได้ เพราะเขาเห็นความสำคัญของการศึกษา

คนไทยเองไม่เป็นอุปสรรคกับคุณหรอ ?

ต้องบอกว่า ทรรศนคติของคนไทยต่อแรงงานข้ามชาติเอง ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก ตรงนี้ต้องย้ำว่าพวกเราเข้ามาเพื่อทำงาน ไม่ได้มีเจตนามาแย่งงานคนไทยทำ ไม่คิดจะมาสร้างอาณาจักร แล้วปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ค่อนข้างดี  แต่จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า รัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญจริง ๆ ในการพัฒนาความรู้ความสามารถของคนเหล่านี้ รวมทั้งมองปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องความมั่นคง ไม่ได้มองมิติการพัฒนาประเทศ ทำให้คนแบบเราขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคมเราอยู่เลย

ในฐานะคนไทย ในฐานะเจ้าของประเทศคาดหวังอะไรจากพวกเรา ?

คุณต้องไม่อยู่กับที่ ไม่อยู่กับทัศนคติเดิมที่บอกว่าเเรงงานข้ามชาติมาแค่ขายแรง แรงงานหนึ่งคนไม่ได้มีแค่ตัวเขา ยังมีลูกหลานผู้ติดตามที่เข้ามาพร้อมกัน แรงงานเองต้องพยายามเป็นแรงงานชั้นดีที่ทำงานได้ พร้อมทำงาน แล้วก็ตอบแทนนายจ้างได้อย่างเต็มความสามารถ ลูกหลานแรงงานเองก็ควรได้รับการศึกษาได้รับการพัฒนา เผื่อว่าเขาจะได้กลายเป็นกำลังในการพัฒนาภูมิภาคนี้ได้ สำหรับคนไทยอย่างที่บอกว่าตอนนี้เรื่องทัศนคติ เรื่องการปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติดีขึ้นกว่าเดิมมาก เพียงแค่อยากขอให้ลองให้โอกาสลูกน้องได้พัฒนาตัวเอง อย่างน้อยเพื่อกิจการของท่านก็พอแล้ว ในฐานะคนอื่น ในบ้านคนอื่นคงหวังได้เท่านี้

เนื้อหาอื่นๆ

23 สิงหาคม 2018
04 ธันวาคม 2023
17 ธันวาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT