06 สิงหาคม 2023

เกมกำหนดก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านถูกเพื่อไทยตีจาก แนะประชาสังคมตั้งวงคุยหลักการประชาธิปไตย

บันทึกจากกิจกรรม ACSC/APF 23 | มองไทย มองอาเซียน สู่โลกที่กว้างกว่า

ผู้อำนวยการไอลอว์เผย เกมการเมืองถูกวางไว้ให้ก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาลตั้งแต่แรก ส่วนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประชาชนต้องไปเลือกตั้ง 4 รอบ ด้านประธาน กป. อพช. เรียกร้องภาคประชาสังคม ตั้งวงพูดคุยถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่พลิกผัน ซึ่งทำให้คนทำงานไม่กล้ายืนยันแม้แต่เรื่องหลักการประชาธิปไตย


การประชุมภาคประชาชนและภาคประชาสังคมอาเซียน ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 มีเวทีวิกฤติประชาธิปไตยไทย : บทบาทของภาคประชาสังคมไทยในวิกฤตการทางการเมืองปัจจุบัน โดยวิทยากร ได้แก่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และ ณัฐพร อาจหาญ กรรมการ กป.อพช.

คนที่รู้ว่าใครเปิดการ์ดอำนาจบั่นทอนตัวเอง

ยิ่งชีพมองเห็นก่อนการเลือกตั้งแล้วว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้อยากจับมือพรรคก้าวไกลมาตั้งแต่แรก แต่เกมที่คนคาดไม่ถึงคือ ผลเลือกตั้งที่ออกมาพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.มากกว่าพรรคเพื่อไทย ทำให้การเมืองช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเกิดความวุ่นวายสมมติว่า ถ้าพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.ประมาณ 60 คน ขณะนี้สามารถจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว แต่พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.อันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทยจึงต้องเกาะขาพรรคก้าวไกลเอาไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะผิดหลักการ ส่วน ส.ว.ก็ต้องไม่ให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดหมายได้อยู่แล้ว


ผอ.ไอลอว์กล่าวอีกว่า สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นแบบนี้ สามารถล่อให้ “เขา” หรือ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” เปิดการ์ดอำนาจทั้งหลายออกมาเรื่อย ๆ สมมติว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ชนะเลือกตั้ง ส.ว.ก็ไม่ต้องทำอย่างนี้ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ต้องเล่นเกมแบบนี้ การเปิดการ์ดออกมาเรื่อย ๆ ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง ซึ่งจะทำให้พวกเขาพังเร็วขึ้น เราจึงมาถูกทางแล้ว


ยิ่งชีพกล่าวด้วยว่า เกมที่อันตรายที่สุดมาถึงแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะพรรคเพื่อไทยปล่อยมือพรรคก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยจึงต้องรักษาความชอบธรรมเอาไว้ให้ได้ ด้วยการประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก แต่สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุด คือ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลผสมเสร็จปลายเดือนสิงหาคมนี้ มีพรรคอื่น อาทิ พรรคภูมิใจไทย ร่วมด้วย ก็จะมีการทำประชามติเพื่อเปิดทางจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้


ผอ.ไอลอว์จึงมีความกังวลว่า คำถามทำประชามติอาจจะไม่ดี เช่น เห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง หรือ มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด โดยจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และหมวด 2 และไม่แตะต้องรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ


“จะทำให้คนที่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข ไม่ทราบว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ” ยิ่งชีพกล่าวและว่า เราต้องเก็บพลังที่จะวิจารณ์การจัดตั้งรัฐบาลไว้ก่อนเพราะเชื่อว่าเศรษฐาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน แต่เราควรไปวิจารณ์เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทน

ต้องทำประชามติทำรัฐธรรมนูญใหม่ 4 รอบ

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นนั้น ยิ่งชีพกล่าวว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วย ขั้นตอนให้ประชาชนเข้าคูหาเลือกตั้ง 4 รอบ

  • รอบแรกคือ ลงประชามติเพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปลายปีนี้ จากนั้นจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมรัฐสภา ถ้า ส.ว.ยอมโหวตให้ร่างแก้ไขรัฐธรรม ร่างรัฐธรรมนูญก็จะผ่านกลางปีหน้า
  • รอบสองคือ ลงประชามติรับรองร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลางปีหน้า และจะมีการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ โดยให้ผู้สมัคร ส.ว.เลือกกันเอง ไปด้วย
  • รอบที่สามคือ การเลือกตั้ง สสร. โดยยิ่งชีพหวังว่า จะมีการเลือกตั้ง ไม่ได้มีแต่ สสร. ที่มาจากการแต่งตั้ง ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญอีกประมาณ 10 เดือน
  • รอบที่สี่คือ ลงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดว่า จะเป็นปลายปี 2568 หรือ ต้นปี 2569


ผอ.ไอลอว์ เปิดเผยว่า จากการผ่านงานรวบรวมเสียงประชาชนเพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2563 และงานอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้ง ปี 2566 ที่ต้องการอาสาสมัคร 1 แสนคน ทำให้พบว่า ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง และเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง มีประชาชน 3 หมื่นคนส่งเอกสารลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้ ส่วนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีอาสาสมัครซึ่งเป็นใครที่ไหนก็ไม่ทราบมาประจำหน่วยเลือกตั้งครบ 1 แสนคน


ส่วนการประสานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเข้าถึงประชาชน ยิ่งชีพเห็นว่า เป็นเรื่องที่ลำบากและยุ่งยาก แถมเอ็นจีโอบางหน่วยงานก็ไม่สะดวก ไม่ว่าง หรือไม่มีความพร้อม อาทิ ตนต้องใช้เวลาสองวันต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ เข้าไปในหมู่บ้านเพื่อพูดคุยกับประชาชน เพื่อหาการสนับสนุน สมมติมีคนมาฟัง 100 คนจะมีผู้สนใจประมาณ 30 คน จึงคิดว่า เอ็นจีโอมีความจำเป็นน้อยลงในการทำงานแบบนี้ เพราะคนทำงานสามารถติดต่อกับประชาชนได้โดยตรงผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

ภาคประชาชาสังคมไม่กล้ายืนยันหลักการ

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) หนึ่งในผู้ร่วมพูดคุยกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า การวิเคราะห์การเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่า สถานการณ์เป็นอย่างไรต่อไป เพราะสถานการณ์เปลี่ยนวันต่อวัน สิ่งนี้คือความไม่ปกติทางการเมือง ความไม่ปกติเกิดขึ้นจากกลเกมที่ถูกวางไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี2560 และตนยังไม่แน่ใจว่า “เศรษฐา ทวีสิน” จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หรืออาจจะเป็นคนอื่น


ประธาน กป. อพช. รู้สึกว่า ภาคประชาสังคมเงียบ และรู้สึกพะอืดพะอมกับสถานการณ์ในขณะนี้ จึงไม่กล้ายืนยันว่ามีจุดยืนอย่างไร แม้กระทั่งการยืนยันในหลักการ เพราะอาจรู้สึกว่ากำลังสนับสนุนพรรคก้าวไกลอยู่

“พรรคก้าวไกลแม้จะเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลแต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะมีธงกำหนดเอาไว้หมดแล้ว ไม่ให้พรรคก้าวไกลมีสิทธิเป็นรัฐบาล”

ภาคประชาสังคมจะทำอย่างไรต่อไป ประธาน กป. อพช. เปิดเผยว่า ภาคประชาชนจะยอมรับสภาพแบบนี้ หรือ จะยอมรับระบบกลไก มีคำถามว่าเมื่อมีระบบกลไกไม่ปกติ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ถ้าเรายอมรับความไม่ปกติว่าเป็นปกติก็ต้องปล่อยให้กลไกทำงานของมันไป นี่คือความซับซ้อนที่ภาคประชาสังคมไม่อยากพูดคุยกัน

แนะภาคประชาสังคมเปิดวงคุยการเมือง

ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย สมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ย้อนไปในอดีตภาคประชาสังคมมีบทบาททางการเมืองสูงมาก เอ็นจีโอประกาศตัวอยู่ข้างว่า อยู่ฝั่งไหนชัดเจนมาก แต่ปัจจุบันคลุมเครือไม่ชัดเจน และไม่รู้จะทำอย่างไร


ประธาน กป. อพช. ระบุว่า ภายใต้ความไม่ชัดเจนในทางการเมือง การเคลื่อนไหวในเวลานี้ก็ไม่ง่าย อาทิ พรรคก้าวไกลถูกพรรคเพื่อไทยแย่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และศาลรัฐธรรมนูญสั่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ถ้าเป็นเมื่อ 2-3 ปีก่อนจะเกิดกระแสว่ายอมไม่ได้ จะมีการเคลื่อนไหวบนท้องถนน แต่การเคลื่อนไหวที่ผ่านม ามีคนออกมาไม่มาก สื่อจึงบอกว่ายังจุดไม่ติด ตนคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคประชาสังคมยังไม่ออกมาสร้างการเคลื่อนไหว

สมบูรณ์มีข้อเสนอคือ ให้ภาคประชาสังคมตั้งเวทีเพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยกันว่า จะเอาอย่างไรกับสถานการณ์การเมือง จะยอมรับหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับจะเอาอย่างไร ซึ่งคือความท้าทายของภาคประชาสังคมมากขึ้น

ภาคประชาสังคมต้องทำเรื่องการเมือง

ขณะที่ ณัฐพร อาจหาญ หนึ่งในกรรมการ กป.อพช.กล่าวว่า ทำไมภาคประชาสังคมจึงยังไม่มีวงคุยต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มงวด ก็เพราะเอ็นจีโอส่วนหนึ่งไปร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ข้อท้ายทายของเอ็นจีโอคือ ถ้าจะเกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจะมีจุดยืนกันแบบไหน การพูดว่าเอ็นจีโอควรทำแต่เรื่องเฉพาะประเด็น อาทิ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเป็นเรื่องไม่จริง เพราะเรื่องราวทั้งหมดและเรื่องการเมืองเป็นต้นเหตุของปัญหารวมอื่น ๆ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม


กรรมการ กป. อพช. บอกว่า การเลือกตั้งปี 2566 เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากที่สุด ประชาออกมายืนหยัดว่าต้องการสังคมประชาธิปไตย ที่ผ่านมาประชาชนเรียนรู้ว่า พวกเขาได้รับความไม่เป็นธรรมมาจากโครงสร้างแบบนี้ ประชาชนไม่ได้มองเรื่องเชิงประเด็นกับเรื่องเชิงโครงสร้างแยกขาดกันเลย แต่พวกขบวนเอ็นจีโอทำให้ขาดออกไป ด้วยวิธีการมองแบบแยกส่วน


และที่สำคัญหากเอ็นจีโอยืนข้างรัฐประหารคือปัญหา เพราะเมื่อเอ่ยถึงการรัฐประหารเมืองปี 2549 ณัฐพรอ้างว่า "ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนเอ็นจีโอส่วนหนึ่งไปยืนอยู่ข้างที่ทำให้เกิดรัฐประหาร มีผู้เข้าไปอยู่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพราะคาดหวังว่า อำนาจพิเศษจะทำให้เขียนรัฐธรรมนูญได้ดีกว่าเดิม เมื่อมีการรัฐประหาร ปี 2557 ก็มีผู้เข้าไปสู่โครงสร้างอำนาจ เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ที่ทำให้ คน 250 คน (ส.ว.) มีอำนาจมากกว่าประชาชน ซึ่งประชาชนรับรู้หมดแล้ว"

ณัฐพรกล่าวด้วยว่า ความอีหลีกอีเหรื่อ ความเกรงอกเกรงใจกัน และความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ทำให้บางทีขบวนเอ็นจีโอไม่กล้าหาญเพียงพอที่จะเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ลึก ๆ จะรู้สึกถึงสถานการณ์ในเวลานี้ว่าไม่ปิดติ เพราะแม้แต่ชาวบ้านยังรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรม พวกเขารับรู้ว่า ทำไมคนที่ได้อันดับหนึ่งถึงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เอ็นจีโอไม่กล้าพูดถึงหลักการขั้นพื้นฐาน สิ่งนี้คงต้องให้คนมีความกล้าหาญปรากฎตัวก่อนจะเกิดสิ่งหลายคนกังวลอยู่ คือ การที่ทุนรัฐ ทุนศักดินา มารวมตัวกันผลักดันความคิดก้าวหน้าออกไป แล้วสร้างกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะสร้างปัญหาต่อการพัฒนาต่าง ๆ และถ้าเราไม่ขยับก็จะต้องตามแก้ปัญหาไปอีกนาน




เนื้อหาอื่นๆ

01 มีนาคม 2020
04 ธันวาคม 2023
28 พฤศจิกายน 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT