25 กุมภาพันธ์ 2021

รัฐบาลอย่าตีเนียน หมกเม็ดออกกฎหมายคุมเอ็นจีโอ

ภาคประชาสังคมโวย เริ่มต้นด้วยส่งเสริมและพัฒนา ผ่านครม.มาเป็นควบคุม

จากกรณีที่ ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ... ตามที่เสนอโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงหลักการของร่างกฎหมาย ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน โดยให้ พม. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และส่งผลดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไปนั้น

ภาพข่าวต้นฉบับ https://www.matichon.co.th/politics/news_2593520

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการอนุมัติดังกล่าว ครม.พยายามทำให้เป็นเรื่องสับสน เพราะร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ... ได้ผ่านการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ซึ่งกำหนดบทบาทของภาคประชาชนเพื่อให้ชุมชนลุกขึ้นมา ประสานกับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 250 และมาตรา 254 ซึ่งองค์กรต้องมีการจดทะเบียน เมื่อจดทะเบียนแล้ว ทำให้สามารถได้รับความช่วยเหลือจากรัฐทั้งในเรื่องการประสานงาน ฝึกอบรม เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาบริหารจัดการได้

แต่ร่างกฎหมายอีกฉบับที่ประกบเข้ามา ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ยังไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ตาม รธน.มาตรา 77 ชัดเจนว่า พยายามจะตีเนียนให้เข้ากับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ... ทั้งที่ควรจะเป็นวาระจรมากกว่า การที่ ครม.รับหลักการ ถือว่าเป็นอันตรายต่อประเทศ เพราะการกำหนดว่าองค์กรภาคประชาสังคมต้องปฎิบัติตามกฏหมายที่จะออกมา ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ต้องมีการควบคุมรายรับ เช่น รายรับจาก ตปท. ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา องค์กรภาคประชาสังคมทำนอกกรอบไม่ได้ ในหลักการยังผิดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 42 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมรวมตัวเป็นองค์กร ชุมชน สหภาพ องค์กรได้ แต่ในกฏหมายมีบทบัญญัติให้อำนาจผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง ทั้งนี้ ไม่เห็นมีความจำเป็นออกกฏหมายมาควบคุม ต้องโต้แย้งด้วยเหตุผล ควรใช้เหตุผลมาหักล้าง มากกว่าที่จะมาออกกฏหมายควบคุม ซึ่งประเด็นที่ว่าองค์กรภาคประชาสังคมแสวงหารายได้จำนวนมาก เรื่องนี้สามารถใช้กฏหมายฟอกเงินเข้ามาจัดการได้อยู่แล้ว

“องค์กรรัฐทำโดยคำสั่งของผู้มีอำนาจไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งร่างกฏหมายนี้จะคล้ายกับการทำงานของภาครัฐกรณีระงับ 3 สารอันตราย ที่ประเทศไทยมี พรบ.คณะกรรมการว่าด้วยวัตถุอันตราย แต่กรรมการฯกลับทำตรงกันข้ามอนุญาตให้ใช้สารพิษ ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันนี้ จึงจำกัดเสรีภาพร้ายแรงสุด” นายสรรพสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

นางสุนี ไชยรส ผู้ริเริ่มในการเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. .... ฉบับประชาชน : ภาพโดย C.Faozee

ขณะที่ นางสุนี ไชยรส ในฐานะผู้ริเริ่มในการเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน) เสนอว่า รัฐบาลควรมีการทบทวนการรับหลักการร่าง พรบ. ดังกล่าว เพราะถือว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการเสนอร่าง พรบ.ฉบับภาคประชาชน ตามขั้นตอนกระบวนการร่างกฎหมาย แต่รัฐบาลกลับนำร่าง พรบ.ฉบับของรัฐบาลเสนอประกบเข้ามา โผล่มาจากไหนไม่ทราบ เหมือนตั้งใจสอดไส้ รัฐบาลทำแบบนี้มีโอกาสที่สาระสำคัญในร่างของภาคประชาสังคมจะตกไป ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บิดเบี้ยวไปคนละทิศคนละทาง

“กฎหมายที่สอดไส้ไม่รับฟังความคิดเห็น เป็นการหมกเม็ดอย่างมาก เหมือนต้องการควบคุมการเติบโตของภาคประชาสังคม ทั้ง ๆ ที่ควรคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัว ทั้งส่วนที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล กลับต้องมาจดแจ้งตรวจสอบ การทำงานที่ผ่านมาไม่ต้องจดทะเบียนก็สามารถทำงานได้ เช่น ภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม องค์กรก็ต้องมีการจดแจ้งกับหน่วยงานที่จะทำงานเป็นไปตามระเบียบการปฎิบัติงานอยู่แล้ว ส่วนการตรวจสอบในเรื่องของค่าใช้จ่าย ก็มีระบบที่ตรวจสอบอยู่แล้ว เป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม และเสียภาษีเงินได้เหมือนคนทั่วไปทุกคน

นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลจากทาง พม.ที่ทำให้เกิดความสับสน เพราะเนื้อหาเป็นคนละเรื่องเดียวกัน และบอกอีกว่า มีหลายหน่วยงานสนับสนุน เนื้อหามีความใกล้เคียงกัน ถือว่าบิดเบือนอย่างมาก ในฐานะภาคประชาสังคม จะไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปแน่นอน ภาคประชาสังคมไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ควรจะให้อิสระในการดำเนินงาน การตรวจสอบก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่วิจารณ์ไม่ได้ ในทางสากลประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้ามาทำงาน และเติบโต ซึ่งเป็นการช่วยภาครัฐ อุดช่องว่างที่หน่วยงานของรัฐเข้าไม่ถึง หรือมีข้อจำกัด ทุกวันนี้ควรยอมรับว่ามีเรื่องมากมายที่รัฐเองก็รับมือไม่ไหว”

ทางด้าน นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอย่างเปิดใจว่า "ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลักดัน และติดตาม รู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ ครม.อนุมัติหลักการของร่างกฎหมายอีกฉบับเข้ามาด้วย ซึ่งว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ที่เป็นกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาสังคม แต่ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายยาวนานในการทำงาน เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา กลับไม่ได้เป็นร่างหลัก แต่เป็นเพียงติ่งที่จะนำมาพิจารณา ขณะเดียวกันร่างพระราชบัญญัติอีกฉบับก็โผล่มาโดยที่ไม่มีที่มา เป็นกฎหมายที่ควบคุมมากกว่าส่งเสริม ในฐานะที่ติดตามกฏหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น ต้องตั้งคำถามกับมติ ครม.ครั้งนี้ และจะปฏิบัติตามกรอบหน้าที่ของ สว. ในการตั้งกระทู้ หรือสอบถามไปยังรัฐบาล ต่อเจตนารมย์ของกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนจะดำเนินการอย่างไร และหวังว่าจะมีการชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น ในการผลักดันกฎหมาย และคาดหวังอะไรจากภาคประชาสังคมกันแน่"

เนื้อหาอื่นๆ

27 มกราคม 2020
11 กรกฎาคม 2022
21 กรกฎาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT