07 มีนาคม 2020

ขอนแก่น Smart City นครแห่งความสุข

อนาคตของการพัฒนาเมืองขอนแก่น ด้วยหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

“แก๊ง แก๊ง แก๊ง แก๊ง ที่นี่สถานีรถไฟขอนแก่น”
เสียงสั่นกระดิ่งทองเหลือง ตามด้วยประกาศจากนายสถานี ดังขณะรถไฟจอดเทียบชานชาลา เป็นภาพความทรงจำในอดีตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมเดินทางมาถึงจังหวัดขอนแก่นเป็นครั้งแรก รถไฟจึงเป็นบริการขนส่งของประชาชน ที่สะดวกและปลอดภัยที่สุดในเวลานั้น ขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง ของภาคอีสาน เป็นที่ตั้งของส่วนงานราชการต่าง ๆ สถานศึกษามีถึงระดับมหาวิทยาลัย และยังมีพื้นที่ความเป็นธรรมชาติของต้นไม้ ทุ่งนา ห้วย หนอง คลองบึง อยู่มาก ผู้คนก็ยังใช้ชีวิตกันแบบเรียบง่าย สบาย ๆ ไม่หวือหวาอย่างเมืองท่องเที่ยวเท่าไหร่นัก

แต่สองสามปีที่ผ่านมานี้ ผมรู้สึกได้ว่าขอนแก่นเมืองที่ผมอยู่ปัจจุบัน กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างมาก ผมบ่นกับตัวเองทุกครั้ง ขณะเดินทางในเมืองหมอแคน ที่มีการจราจรเริ่มติดขัด คับคั่งจอแจ เหมือนกรุงเทพมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วผมก็ได้ยินคำว่า “Smart City” หนาหูขึ้น

นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวที่มาที่ไปของ “Smart City” ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการพัฒนาขอนแก่น โดยมีภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หอการค้า สภาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย รวมไปถึงภาคท้องถิ่น ได้มีการประชุมเพื่อหารือ และแสดงความคิดเห็นในโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

จึงได้จัดตั้งเป็น “บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด” โดยเกิดจากการรวมตัวของคนขอนแก่น คอนเซ็ปต์หลักของบริษัท คือการดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเมืองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ระบบขนส่งมวลชน ศูนย์ประชุมฯ การจัดการรูปแบบ แผนผังเมือง การวางแผนพัฒนาพื้นที่เมือง หรือแม้กระทั่งโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เป้าหมายหลัก คือการสร้างเมืองที่ทำให้คนอยู่แล้วมีความสุข โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาอำนวยความสะดวก ทำให้ขอนแก่นเป็น “Smart City” และที่สำคัญ “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

ยังมีอีกความคิดเห็นของคุณกังวาน เหล่าวิโรจนกุล นักบริหารจาก กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง ได้พูดถึงรูปแบบ "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" เป็นการร่วมมือกันของภาคประชาสังคม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด และภาคการศึกษา ให้ขับเคลื่อนโครงการไปได้เป็นรูปแบบของ Social Enterprise นั่นคือ การทำธุรกิจ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ ตาม Concept คือ การช่วยพัฒนาเมือง ซึ่งอย่างที่บอก ว่าไม่ได้ไปทำธุรกิจแข่งขันกับคนเมือง แต่สิ่งที่ทำคือ สิ่งทำที่คนเมืองต้องการและเกิดประโยชน์ กับคนหมู่มาก ไม่ใช่เกิดประโยชน์กับใครบางคน ปัจจุบันก็คือเรื่องของ “City Bus” มี Wifi ให้บริการบนรถ และเชื่อมต่อด้วยระบบ Application ทำให้สามารถตรวจสอบได้ ว่าตอนนี้รถอยู่ตรงไหนแล้ว

ผู้เขียนได้ลองใช้บริการ City Bus แล้ว พบว่าเมื่อรถมาจอดรับประตูรถจึงเปิดออก พอก้าวขึ้นรถ ก็จะพบกับพนักงานขับรถบริการด้วยความสุภาพ ภายในรถมีความสะอาด และเก็บค่าบริการราคาเดียวตลอดสาย เป็นรถปรับอากาศขนส่งมวลชนสาธารณะ วิ่งอยู่ภายในเมืองและภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา จดทะเบียนในชื่อ “บริษัท ขอนแก่นทรานซิท ซิสเต็ม” เป็นบริษัทที่ได้สิทธิ์บริการรถไฟฟ้ารางเบาภายในเมือง ซึ่งได้รับบริจาครถรางจากเทศบาลฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นมา 1 ขบวน เพื่อเป็นการนำร่องสร้างรถไฟฟ้ารางเบา


นอกจากนี้ โครงการ Medical Hub ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกันได้ หากผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุใกล้โรงพยาบาลอื่น ๆ พร้อมกันนี้ยังมีโครงการศูนย์เก็บรวบรวมข้อมูลของเมือง (Information Center) ซึ่งจะเป็น Big Data ของเมืองในอนาคต


ขอนแก่น จะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ชาวขอนแก่นและลูกหลานได้อยู่ในเมืองที่มีความสุข “เปรียบเสมือนชายชราที่ปลูกต้นไม้ทั้งที่รู้ว่า อาจจะไม่มีโอกาสได้อาศัยร่มเงาต้นไม้ที่ปลูก วันนี้แม้ต้นไม้มันต้นเล็ก แต่มันจะโตได้ในอนาคต ซึ่งคนที่ได้ใช้ ก็คือ ลูกหลานชาวขอนแก่นนั่นเอง”

_________________

โดย อำนาจ พิราบขาวกลางกรุง

เขียนโดย”อำนาจ พิราบขาวกลางกรุง

เนื้อหาอื่นๆ

20 มีนาคม 2019
28 สิงหาคม 2023
21 มีนาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT