12 พฤศจิกายน 2022

ธรรมมาภิบาลที่หายไปในการดำเนินนโยบายป่าไม้ที่ดิน ของรัฐไทย

: มองผ่านการดำเนินงานของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

(1). เบียวมากแม่ ! – ความเหลื่อมล้ำของปัญหาที่ดิน มีรากเหง้าจากรัฐไร้แนวคิด เสพติดการขับไล่ประชาชน ... โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการ

หากย้อนตรวจตราดูระบบ ระเบียบแนวทางการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินของประเทศไทย จะถูกแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ระบบรัฐมีอำนาจจัดการเบ็ดเสร็จ กับระบบเอกชน ซึ่งการจัดการที่ดินในกรรมสิทธิ์ของรัฐ ก็เป็นไปในรูปแบบต่าง ๆ ตามสภาพแวดล้อมโดยรัฐมีการออกกฎหมายมารองรับ

และตรงนี้เอง ที่การดำเนินนโยบายใดกับพื้นที่ที่รัฐอ้างเป็นกรรมสิทธิ์ จึงมักมีการกระทบกระทั่ง หรือเกิดผลกระทบกับประชาชน หากที่ดินผืนนั้นอยู่ใกล้ชิด หรือไปเหมารวมเอาพื้นที่ของชาวบ้านและเอกชน โดยเฉพาะในช่วงหลังปี พ.ศ.2528 เมื่อประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 32 เปอร์เซ็นต์ ... นับจากวันนั้นรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าหลากหลายรูปแบบ เหมือนผืนแผ่นดินไทยได้รับโปรโมชั่นให้ความสำคัญ ทั้งการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้ระเบียบเรื่องความมั่นคงไปจัดการสัมปทานป่าไม้

จนมาถึงปี พ.ศ.2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) กระทำการยึดอำนาจ ก็มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ซึ่งฟังชื่ออาจดูดี แต่วิธีการของรัฐบาลก็ง่ายเกินกว่าจะได้รับการปรบมือ คือไล่ต้อนอพยพชาวบ้านจากพื้นที่ป่า พื้นที่ซึ่งพวกเขาอาศัยทำมาหากินกันมาตราบชั่วอายุคน ด้วยการอ้างว่าพื้นที่เหล่านั้น “เสื่อมโทรม” เมื่อไล่แล้วก็พายกครัวออกมาสู่พื้นที่รองรับ แล้วหลังจากนั้นรัฐก็ประกาศชัยชนะท่ามกลางใบหน้าสงสัยของประชาชน โดยขึ้นทะเบียนพื้นที่เหล่านั้นเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งส่งผลกระทบกับชาวบ้านจำนวนมาก และหากนับเฉพาะภาคอีสานก็มีมากกว่า 2,500 ชุมชน

จากความไม่อินังขังขอบของรัฐที่กระทำการโดยปราศจากกระบวนการพูดคุย ใช้อำนาจกวาดต้อนประชาชนไม่เหมือนสิ่งที่คนพึงกระทำต่อคนด้วยกัน นำมาสู่การรวมกลุ่มเรียกร้องของประชาชน “47 ป่า” ... จนกระทั่งรัฐรับฟัง แล้วมีมติคณะรัฐมนตรีอนุญาตให้ประชาชนสามารถกลับคืนถิ่นได้ แต่กลายเป็นว่า หากชาวบ้านกลับไปอยู่อาศัย หรือทำกินในพื้นที่เดิม ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นอุทยานหรือเขตอนุรักษ์ไปเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีปัญหาจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มงวดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ลักษณะการอยู่อาศัยของชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีสถานะเป็นแบบนั้นมายาวนาน ดำเนินไปพร้อมกับการแสวงหาความร่วมมือในการยุติปัญหาอย่างต่อเนื่อง ... แล้วก็เหมือนภาพเก่าฉากเดิมถูกนำกลับมาฉายซ้ำ หลังการยึดอำนาจในปี พ.ศ.2557

แนวคิดของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกสะท้อนอย่างขึงขัง ดุดัน เอาจริงเอาจังกับการผลักดันและอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่า แถมตีท้ายครัวด้วยดำเนินคดีชาวบ้านในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า ปัจจุบัน ณ นาทีนี้ มีจำนวนชาวบ้านและเกษตรกรถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าแล้วมากกว่า 40,000 คดี ทั่วประเทศ ... ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นอาชญากรพฤติการณ์ก็มีเพียงทำมาหากินบนผืนดินของตัวเอง....

ติดตามสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คลิกที่นี่

(2). เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน – ผสานรอยร้าว ... สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้าน พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีพื้นที่ปฏิบัติงานในภาคอีสานรวม จำนวน 26  ชุมชน รวม 8  จังหวัด โดยเเรกเริ่มของการทำงาน เป็นการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาป่าไม้ที่ดินที่มีข้อพิพาท ทั้งพื้นที่อุทยานเเห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่สาธารณประโยชน์ รวมถึงที่ดินของทางหลวง กระทรวงคมนาคมที่มีข้อพิพาทกับที่ดินเกษตรกร

รูปแบบของการทำงานของพวกเขา คือการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน พร้อมกับเป็นหน่วยงานกลางอิสระ ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ให้มาเจรจาหาข้อยุติปัญหารายกรณี รวมทั้งดำเนินการสนับสนุนด้านนโยบาย เพื่อให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง โดยมุ่งหมายให้นโยบายของรัฐสอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชน อรนุช ผลภิญโญ หนึ่งในตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เล่าให้ฟังว่า

“สิ่งที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินทำ เป็นเหมือนเลขาที่คอยรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อน พร้อมกับแสวงหาข้อเท็จจริง ความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน แต่อุปสรรคที่ผ่านมาก็มีหลายส่วน ทั้งจากข้อกำหนดหรือนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐ ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกษตรกร ชาวบ้านเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

รวมไปถึงทัศนคติในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีมุมมองคล้ายว่า จะไม่ชอบการรวมกลุ่มกัน หรือการเรียกร้องของประชาชนผู้เดือดร้อน โดยมองว่าเป็นความรุนแรง เป็นการไม่เชื่อฟังรัฐ ... ทั้งที่การทำงานของเรามีขั้นตอน แน่นอนว่าก่อนนำไปสู่ความเคลื่อนไหวถึงขั้นที่ชาวบ้านรวมตัวรวมกลุ่มกัน มันต้องมีพื้นที่พูดคุยเจรจามาก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้”

และจากกว่า 40,000 คดี ที่ชาวบ้าน เกษตรกรถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกแผ้วถางพื้นที่อุทยาน พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยาน การทำงานของอรนุช และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน พบข้อเท็จจริงสำคัญว่า บางครั้งกระบวนการยุติธรรม และการกระทำของผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ก็ไม่ใช่เรื่องสมควรจำทนต้องยอมรับ

“ขอยกตัวอย่างให้ฟังกรณีหนึ่ง ผู้ต้องหาซึ่งชาวบ้านก็ทำมาหากินในผืนดินของเขาตั้งแต่นานมา แต่วันที่รัฐจะประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ก็มีการแจ้งว่า ขอให้ออกจากพื้นที่ตรงนี้นะ ระหว่างนั้นก็มีการทำงานโดยการจัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน พูดคุย หาทางออกร่วมกัน ทั้งตัวชาวบ้าน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

ในขั้นตอนการหารือก็เหมือนจะดี เพราะมีการรับฟังว่าจะไปรังวัด และสำรวจที่ดินของชาวบ้านรายนี้ เพื่อกันออกจากการเป็นพื้นที่ที่จะถูกประกาศ แต่พออีกวันให้หลัง กลายเป็นว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเขา แล้วก็มีการจับกุมเขา โดยไม่ได้บอกใครเลย


กรณีแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้าน และสะท้อนวิธีคิดหลักของรัฐไทย คือ การจับเอาคนออกไปก่อน แล้วพิสูจน์ถูกผิดกันอีกที อาศัยว่าตัวเองมีกฎหมายอยู่ในมือ อีกรูปธรรมชัดเจนคือ ตอนมีนโยบายทวงคืนผืนป่าขึ้นมา ระหว่างนั้นมีกระบวนการพูดคุยหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งหน่วยงานรัฐเองก็มีตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ไม่วายที่ชาวบ้านจะถูกดำเนินคดี 14 ราย รวม 19 คดี ... แม้บนโต๊ะพูดคุยมีท่าทีว่าจะยังไม่ทำอะไร

แล้วที่แย่กว่านั้น บางรายถูกชี้ถูกชี้ผิด รับโทษไปพร้อม ๆ กับมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อถึงที่สิ้นสุด คือ พิสูจน์กันในรายละเอียดแล้วพบว่า พวกเขาไม่ใช่ผู้บุกรุกป่า ก็กลายเป็น บางคน ติดคุกฟรี ไม่มีความรับผิดชอบอะไรจากเจ้าหน้าที่ หน่วยงาน และรัฐบาล ... อ้างเพียง กระบวนการยุติธรรมยุติเสร็จสิ้นไปแล้ว ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายอะไรได้..."

(3). รูปธรรมความสำเร็จ เป็นที่สิ้นสุดของจุดเริ่มต้น – ถ้ารัฐรับฟังภาคประชาสังคมก็พร้อมเสนอทางออก

จากการพูดคุยกับอรนุช ผลภิญโญ พบว่า แม้จะมีไม่มากแต่บางพื้นที่ที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้มีส่วนร่วมดำเนินงานแล้วถือเป็นความสำเร็จก็พอมีให้เห็น เช่น พื้นที่ดอนฮังเกลือซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ในจังหวัดร้อยเอ็ด, พื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง หรือพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

อรนุชเล่าว่า “ทั้งสามพื้นที่นี้ หากรัฐมีความพยายามจะทำให้เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาคงทำได้ เพราะจากการทำงาน การต่อสู้ของชาวบ้านมามากกว่า 10 ปี ได้เกิด มติคณะรัฐมนตรีส่งมอบพื้นที่จากสวนป่าคอนสารให้กับกรมป่าไม้ เพื่อนำมาคืนให้ชาวบ้านจำนวน 366 ไร่ 78 ตารางวา อย่างน้อยก็ทำให้ชุมชนได้มีที่ดินทำกิน แม้ในทางกรรมสิทธิ์ที่ดินยังต้องมีการเจรจาพูดคุยกันต่อ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ยังมีที่ดินทำกิน มีพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ให้ได้ใช้สอย

แม้ในรายละเอียดการดำเนินการจะมีเรื่องให้ต้องคิดในใจว่า อิหยังวะ อย่างเช่นจะให้ชาวบ้านจับฉลากในการได้สิทธิบนที่ดิน แต่มันก็ผ่านมาได้ด้วยความเข้มแข็งของชาวบ้านเกษตรกร ที่ยืนยันจะดำเนินการกันเองภายในด้วยการทำข้อตกลงร่วมกัน”

นั่นอาจเป็นเพียงที่สิ้นสุดของจุดเริ่มต้น หากแต่ยังไม่สามารถวางใจได้ว่า หลังจากนี้แนวทางดำเนินการเกี่ยวข้องกับนโยบายป่าไม้และที่ดินจะออกมาในรูปแบบไหน แต่อย่างน้อยการมีองค์กรภาคประชาสังคมแบบเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและเสมือนเพื่อน และเลขาให้ประชาชนผู้เดือดร้อน ก็จะทำให้เชื่อได้ว่าชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายใช้อำนาจสุรุ่ยสุร่ายของรัฐไทย จะไม่ต้องเผชิญทุกข์ยากโดยลำพัง

ติดตามสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คลิกที่นี่

ในท้ายที่สุดอรนุช ยืนยันว่า การดำเนินงานของภาคประชาสังคมในฐานะหุ้นส่วนของรัฐ ในการพัฒนาประเทศ มิใช่เพียงต้องอยู่ในโอวาท เชื่อฟัง และทำตามคำสั่งรัฐเท่านั้น

“คือการบริหารจัดการประเทศในทุกยุคสมัย ควรมีองค์กรที่ถ่วงดุลและคอยสอดส่องการใช้อำนาจของรัฐ เพื่อไม่ให้การใช้อำนาจนั้นสะเปะสะปะ หรือเกินกว่าเหตุ จนส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน การมีองค์กรภาคประชาสังคมก็ดี หรือเครือข่ายภาคประชาชนก็ดีทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ใช่การมีคนลุกขึ้นมาขัดขวางกระบวนการพัฒนาประเทศ แต่เป็นการมีผู้ส่งเสียงให้รัฐดำเนินการใด ๆ อย่างรอบคอบ รอบด้านและรับฟังประชาชน เพื่อสามารถพูดได้เต็มปากว่าประเทศนี้ บ้านเมืองนี้มีรัฐที่มีธรรมาภิบาล"

เนื้อหาอื่นๆ

18 ธันวาคม 2020
17 ธันวาคม 2019
04 กุมภาพันธ์ 2022

Copyright © 2013 THETHAIACT