11 กรกฎาคม 2022

เมื่อหัวใจไร้พรมแดน

จากโครงการอาสาสมัครนักสิทธิ ถึงพื้นที่ความทรงจำของ หยี่ มะ

หากคุณเปิดเข้าไปในเว็บไซต์ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยเฉพาะในหน้าแนะนำโครงการอาสาสมัครนักสิทธิ คุณจะผ่านตากับ ที่มา ที่ไป และเป้าหมายของการดำเนินโครงการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้ง 16 รุ่น พวกเขาใช้เวลามาไม่น้อยกว่า 16 ปี ที่พาเยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้มีใจอาสาไปเปิดประตูหัวใจ สู่การลงสนามจริงเพื่อทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ

ในย่อหน้าสุดท้ายหลังจากไล่เรียงความสำคัญทั้งหมด ปรากฏข้อความน่าสนใจว่า “การเป็นอาสาสมัครคือ การพาตนมาเดินอยู่บานเส้นทางแห่งการพัฒนาตนเอง ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การเป็นอาสาสมัครจึงไม่จำกัดอยู่ที่ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แท้จริงอาสาสมัคร เป็นงานที่เราควรทำไปตลอดชีวิต”

และถัดจากนี้ไป จึงเป็นเรื่องราวจาก 1 ปี การทำงานจริง ในองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยเจ้าของนามปากกา หยี่ มะ

1. ไม่ควรมีใครถูกจำกัดเวลาในการเข้าห้องน้ำ

จากหลายปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่ถูกร้องเรียนเข้ามา หยี่ มะ ทำหน้าที่ในการรับเรื่อง สอบถามและบันทึกข้อเท็จจริงก่อนจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือ หนึ่งในปัญหาที่เธอพบว่ามีมากสำหรับแรงงานข้ามชาติในโรงงานคือ การถูกจำกัดเวลาในการเข้าห้องน้ำ เพียงวันละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 5 นาที ...ไม่ว่ามีจะเพศอะไรก็ตาม

นี่เป็นเรื่องปัญหาสุขภาวะของผู้หญิงที่จำเป็นต้องได้รับการคลี่คลาย เพราะมันจะส่งผลกระทบกับชีวิตและคุณภาพในการทำงาน แม้ที่ผ่านมาจะมีการร้องเรียนไปที่สหภาพคนงาน หรือแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข จนแล้วจนรอดก็ต้องใช้วิธีให้มูลนิธิของเราเข้าไปเจรจา จนเป็นที่มาของการยินยอมลดระดับและโยนนโยบายแบบนี้ทิ้งไป

2 ลดปัญหา ลดการปะทะและความเกลียดชัง ด้วยการสร้างเครือข่ายโรงงาน

ใช่ว่าการแก้ไขปัญหารายกรณีจะเป็นสิ่งดีงามตามบัญญัติไตรยางศ์ของการแก้ปัญหาเสมอไป เพราะอาจหมายถึงการพอกพูนหรือเพิ่มปัญหาใหม่ให้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องการจำกัดเวลาในการใช้ห้องน้ำของแรงงานข้ามชาติ ที่หยี่ มะ และองค์กรของเธอได้เข้าไปมีส่วนร่วมคลี่คลาย แต่กลายเป็นว่า ‘ผู้ร้อง’ หรือต้นเรื่องที่ร้องเรียนเรื่องนี้กลับตกเป็นเป้าของการเลือกปฏิบัติ

หยี่ มะ เล่าว่า ผู้ร้องของเธอถูกระงับไม่ให้ทำงานล่วงเวลา(OT) ทั้งที่แรงงานข้ามชาติคนอื่นสามารถทำงานล่วงเวลาได้ ทำให้เขาต้องสูญเสียโอกาสในการมีรายได้ไป ... กลายเป็นว่าเมื่อแก้ปัญหาหนึ่ง จะเจอกับอีกปัญหาตามมาทันทีต่อเรื่องนี้ หยี่ มะ เล่าให้ฟังว่า

แม้เราจะพยายามสนับสนุนด้านองค์ความรู้ด้วยการอบรม หรือสอนเรื่องทักษะการเจรจาเมื่อมีปัญหากับนายจ้าง แต่หลายกรณีที่เจอปัญหาซ้ำซ้อนเข้ามากลับต้องจำยอม เช่น กรณีที่ถูกระงับให้ทำโอที เขาก็จะเลือกไม่เจรจา แล้วก้มหน้ายอมรับชะตากรรม สิ่งที่เราทำได้ไม่ใช่การดีใจว่า เออ ฉันช่วยแก้ปัญหาหนึ่งแล้ว อีกปัญหาเป็นหน้าที่เธอ แต่ต้องพยายามหาทางออก และให้ความช่วยเหลือต่อไป เพราะเมื่อยังมีปัญหา บทบาทของประชาสังคมคือ ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข

อย่างในกรณีนี้ เราเลือกที่จะทำงานกับผู้มีส่วนร่วม ทั้งโรงงาน หน่วยงานรัฐ ตัวแกนนำผู้ใช้แรงงาน และองค์กรภาคประชาสังคม ในการสร้างเครือข่ายเพื่อถ่ายเทข้อมูลความรู้ จนถึงสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเกลียดชัง ลดการสร้างปัญหาใหม่ที่จะตามมา แม้ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ แต่เมื่อเกิดการรับรู้และมีความเข้าใจ กระบวนการนี้อาจทำให้ปัญหาหมดไปก็ได้ โดยไม่ต้องไปพึ่งพากระบวนการยุติธรรมอย่างเดียว

3.ไม่ควรมีพรมแดนในหัวใจของมนุษย์

หากได้ฟังจากปากของ หยี่มะ เธออาจบอกว่านี่เป็นเพียงถ้อยคำที่ถอดความมาจากอุดมคติ ซึ่งมาจากความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่า จะมีสัญชาติ สถานะ ผิวสี หรือมีความแตกต่างหลากหลายอย่างไร ก็ควรสามารถเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ถูกละเมิดและถูกเลือกปฏิบัติ

ปัญหาสำคัญของเรื่องแรงงานข้ามชาติมาจากทัศนคติ ที่คิดว่าคนนั้นคนนี้ต่างจากตน เช่น แรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมาย แย่งงานคนไทยทำรวมทั้งเป็นคนที่ไม่เป็นมิตรไม่น่าคบหา สิ่งเหล่านี้ประกอบสร้างร่วมกับการได้รับข้อมูลซ้ำ ๆ โดยเฉพาะภาพลบของแรงงานข้ามชาติ ทำให้เกิดอคติ แล้วเมื่อมีอคติในหัวใจ เราก็จะคิดว่าทำอะไรกับพวกเขาแบบที่แตกต่างออกไปก็ได้ เช่น จำกัดเวลาเข้าห้องน้ำ ไม่ให้ค่าแรงตามที่สมควร หรือโกงสิทธิต่าง ๆ ที่พึงมี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่แบ่งแยกคนออกจากกัน จนละเลยหลักการสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ควรมีอย่างเท่าเทียมกันในฐานะแรงงานและในฐานะมนุษย์

0. หยี่ มะ กับความเห็นต่อภาคประชาสังคมที่จำเป็นต้องปรับตัว

บทส่งท้ายนี้ หยี่ มะ อยากสื่อสารกับองค์กรภาคประชาสังคม จากฐานะหนึ่งในผู้ผ่านประสบการณ์ทำงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ว่า

"เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีเหตุผล มีความสนใจ และเลือกทำงานที่ตอบโจทย์กับชีวิตและจิตวิญญาณ ซึ่งที่เห็นผ่านมาตัวเองก็ผ่านตากับโครงการลักษณะนี้ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมมานานแล้ว แต่ด้วยเงื่อนไขของชีวิตที่จะต้องมีทุนสำรอง ให้ตัวเองก่อนจึงเพิ่งได้สมัครในปีที่ผ่านมา

ดังนั้น สิ่งสำคัญอยากจะบอกว่า ไม่ใช่วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ละเลย ไม่สนใจปัญหา ทิ้งงานประชาสังคม แต่การทำงานเพื่อคนอื่นนั้น เราต้องไม่ลำบาก นี่ไม่ใช่ยุคที่ต้องไปฝังตัวลำบากตรากตรำทำงานเพื่อให้มีน้ำมีไฟใช้ ถ้าเราอยากเห็นงานแบบนี้มันถูกส่งไม้ต่อ องค์กรภาคประชาสังคมก็ควรเริ่มปรับตัวเพื่อให้ได้รับความร่วมมือและความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ทั้งเรื่องการจำเป็นต้องตอบโจทย์ความมั่นคงให้กับคนทำงาน คือไม่ใช่ทำให้ร่ำรวย แต่ทำให้เขาไม่ขัดสนจนเกิดไปโดยการอ้างว่านี่คือการทำงานด้วยจิตใจ และเป็นงานแบบอาสามาทำ ... รวมทั้งอีกเรื่องที่สำคัญ คือการที่องค์กรต้องมีจุดยืนรักษาหลักการ ของตัวเองให้มั่น ไม่ใช่ว่าเมื่อหมดต้นทุนทำงานกับกลุ่มเป้าหมายหนึ่งก็เปลี่ยนไปหากลุ่มเป้าหมายใหม่ นั่นไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับคนที่มองมาเลย”

ในท้ายที่สุด หยี่ มะ หนึ่งในอาสาสมัครโครงการอาสาสมัครนักสิทธิ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมรุ่น 16 จากกว่า 80 คน ประเมินกับตัวเองว่า ตลอดปีที่ผ่านมาเธอพึงพอใจอย่างมาก ที่ได้พาตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และการทำงานเพื่อสังคม ซึ่ง “ตอบโจทย์” ในช่วงชีวิตนี้ของเธอ

สำหรับท่านที่สนใจโครงการอาสาสมัครนักสิทธิ สามารถติดตามเรื่องราวของปี พ.ศ.2565 ได้ที่แฟนเพจมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เพราะวันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ และเป็นวันแรกที่อาสาสมัครรุ่น 17 ซึ่งถือเป็น “รุ่นน้อง” ของหยี่มะจะเริ่มต้นปฏิบัติงานในองค์กรทั่วประเทศ

เนื้อหาอื่นๆ

05 มีนาคม 2023
21 กรกฎาคม 2020
14 มิถุนายน 2021

Copyright © 2013 THETHAIACT