25 พฤษภาคม 2020

กองทุนภัยพิบัติชุมชน

ข้อเสนอจากคนในสนาม เมื่อการช่วยเหลือกันในชุมชนเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเริ่มต้น

ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนระหว่างมีนาคม ถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ผู้คนทุกภูมิภาคได้รับความเดือดร้อน ทั้งจากโรค และการว่างงาน การอยู่อาศัย แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ทำให้อาสาสมัครชุมชนจากทั่วประเทศ ได้มีบทบาทในการร่วมควบคุม ติดตาม เพื่อป้องกันการระบาด รวมทั้งยังเป็นหน่วยบริการคอยคัดกรองผู้คนที่เข้าออกในพื้นที่ เพื่อรายงานถึงส่วนกลางอย่างทันท่วงที มิหนำซ้ำยังคอยส่งข้าวของและการช่วยเหลือต่าง ๆ ให้ถึงมือคนในชุมชน

ที่ตำบลเขาดิน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เช่นกัน ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ใกล้บ้านของเขาไม่ต่างจากที่อื่น ๆ โดย คุณนันทิยา สิงสีทก ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเล่าให้ฟังว่า

ช่วงโควิดระบาด เรามีการแจกหน้ากากอนามัยกับเจลล้างมือ ไปพร้อม ๆ กับข้าวสารอาหาร ปลากระป๋อง ตอนที่เราแจก ก็พบว่าจริง ๆ นอกจากอุปกรณ์ป้องกัน พี่น้องในตำบลเรามีกลุ่มคนที่เราเห็นเขา แต่ฐานข้อมูลตำบล หรือการให้การช่วยเหลือตามนโยบายจะไม่ค่อยเห็นอยู่เยอะเหมือนกัน คนเหล่านี้คือมีเพียงที่อาศัย แต่ไม่ได้มีบ้านเลขที่ เลยตกสำรวจจากการช่วยเหลือของทางการ

จากที่นันทิยา เคยรู้สึกว่าระแวกบ้าน และผู้คนในชุมชนของเขา คงจะมีกลุ่มคนเดือดร้อนน้อย เพราะด้วยกลไกการช่วยเหลือแบบถึงประตูบ้าน แต่จากการร่วมขบวนช่วยเหลือ สำรวจ กลุ่มประชากรภายใต้สถานการณ์โควิด ทำให้เขาเห็นว่า นอกจากกลุ่มคนไทยไร้สิทธิแล้ว ยังมีผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงอยู่อีกเป็นจำนวนมากในตำบลเขาดิน

“การที่เราเป็นชุมชนห่างไกลเมือง กลายเป็นเรื่องดี เพราะเราทำงานตรงนี้ ก็พอจะเห็นหน้าค่าตา จำกันได้ เวลาให้การช่วยเหลือมันจะได้อย่างทั่วถึง พอมีโรคนี้ระบาด เรายิ่งเห็นเลยว่า จริง ๆ แล้วบ้านเรามีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบแน่ ๆ หลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงในตำบล แล้วก็คนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายควบคุมโรคของรัฐ เช่น พอมีเคอร์ฟิวส์ จะออกไปเก็บผักขายผัก ขายหมูก่อนตีสี่ เป็นไปไม่ได้ ไหนจะหัวหน้าครอบครัวที่เป็นยามในตัวเมือง พอต้องเลิกงานสี่ทุ่มก็ ลับบ้านไม่ได้ ลูกรอนั่นไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ บ้านช่องไม่กลับ สถานการณ์ในครอบครัวมันก็ไม่สู้ดี”

การมองเห็นสภาพความจริงอย่างกว้างขวาง ทำให้ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนและผู้นำในแต่ละหมู่บ้าน เริ่มมีการพูดถึง กองทุนภัยพิบัติชุมชนโดยมีการเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ตำบลของพวกเขาควรจะมีกองทุนในลักษณะนี้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์คนในตำบลเขาดิน เป็นไปอย่างทันเรื่องท่วงที พวกเขากำลังวางแผนหาทาง ระดมทุน ด้วยการเปิดรับบริจาคจากคนในชุมชน รวมทั้งการทอดผ้าป่าสามัคคี

“รายละเอียดเรื่องกองทุนภัยพิบัติตำบลเราเนี่ย ยังไม่มี แต่พวกเราหลายคนเห็นตรงกันว่า ต้องมีได้แล้ว เพราะภัยพิบัติ ในความหมายชาวบ้านอย่างพวกเรา มันอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ผ่านมาทุกปีพวกเราเผชิญกับภัยแล้ง ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเสี่ยงที่จะนำมาซึ่งอัคคีภัย แล้วถ้านับพวกโรคระบาดแบบตอนนี้เข้าไปด้วย มันกลายเป็นว่า ภัยพิบัติในชุมชนนั้นอาจเกิดขึ้นอยู่ทุกวันก็ได้ ซึ่งการช่วยเหลือภายใต้กองทุนนี้ จะต้องรวดเร็ว เข้าถึงง่าย ไม่ต้องรอประชุม ไม่ต้องรอนั่นนี่นู่นให้มันยุ่งยาก เรายังคงต้องรับการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน แต่บางครั้งการช่วยเหลือก็ล่าช้า ผ่านภัยไปเป็นเวลานานแล้วก็มี อย่างเลวร้ายคือมันมีภัย เกิดภัยจริง ๆ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการได้รับการช่วยเหลือได้ เพราะคุณสมบัติบางข้อบกพร่อง เช่น เป็นคนไทยไร้สิทธิ เป็นคู่ชีวิตที่อาศัยด้วยกันแก่ตัวไปก็ไม่รู้จะไปหาใครมาให้ช่วยเหลือ”

เรื่องของ กองทุนภัยพิบัติชุมชน ในตำบลเขาดิน กำลังดำเนินไปแบบวิถีชาวบ้าน นับจากวันนี้จะมีการร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และพูดคุยกันถึงข้อสรุปตัวบทกฎเกณฑ์ให้เรียบร้อย แม้จะเป็นกองทุนเฉพาะของตำบล แต่นันทิยายอมรับว่าพวกเขาเองเพิ่งเริ่มต้นตั้งไข่ จึงยินดีรับความช่วยเหลือทั้งทางข้อมูล และการแนะนำจากทุกฝ่าย และในท้ายที่สุด ได้ทิ้งท้ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดหมาง หรือเข้าใจผิดกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ว่า

“คือการที่ชาวบ้านแบบเรารวมกลุ่มกันนี่ ไม่ได้แหกปากตะโกนว่ารัฐบาลห่วย หรือหน่วยงานราชการมีปัญหา แต่บางเรื่องบางภัย คนในชุมชนมันเป็นกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญไปด้วยกัน การรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะช่วยได้ทั้งหมด ยังคงต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน ที่สำคัญความช่วยเหลือของส่วนกลาง ยังเป็นเรื่องจำเป็น แต่การช่วยเหลือในแบบของกองทุนภัยพิบัติชุมชน จะเป็นด่านแรกที่ไปเคาะประตูบ้านคนเดือดร้อน แล้วบอกว่า คุณไม่ได้ถูกทอดทิ้งนะ เราจะร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้”

เนื้อหาอื่นๆ

17 ธันวาคม 2019
07 พฤษภาคม 2020
18 มกราคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT