19 กุมภาพันธ์ 2020

ภาคประชาสังคม คืออะไร

หาคำตอบได้จากบทความของ กุลนิดา ประจำที่

สังคมไม่ใช่เพียงสถานที่ที่เราอยู่ ไม่ใช่ บ้าน วัด โรงเรียน

แต่สังคมประกอบจากผู้คนในพื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกัน

ผู้คนไม่ใช่แค่คนหนึ่งคน สองคน แต่มากกว่านั้น สิ่งที่เชื่อมโยงกัน และเกิดเป็นความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างคนที่อยู่รวมกันในพื้นที่หนึ่ง หมู่บ้านหนึ่ง เขตหนึ่ง ตำบลหนึ่ง จังหวัดหนึ่ง จนถึงภูมิภาค หรือระดับประเทศ การเป็นประชากร ณ ตรงนั้น เราเรียกรวมว่าสังคมหนึ่ง

กิจกรรมพัฒนาสังคมโดยภาคประชาสังคม บางคนอาจรู้สึกไม่คุ้นเคยกับมัน แต่ถ้าเราเล่าว่า เราอยากให้คนสูงวัย ซึ่งอาจเป็นคนในบ้านเราหันมาสนใจการออกกำลังกาย เราจึงเริ่มมานำทุกคนลุกขึ้นมาออกกำลังกาย แต่ถ้าเป็นคนสูงวัยในตำบลหนึ่งล่ะ? เราจะทำคนเดียวได้หรือไม่ เราจัดทำแผนประชาสัมพันธ์คนเดียว หาสถานที่จัดกิจกรรมคนเดียวหรือ ?

เบื้องหลังความจริงของโครงการทุกโครงการ ที่ฝั่งเอกชนหรือภาคประชาชนอย่างเรา ๆ คิดและจัดทำ ไม่ได้เกิดขึ้นและอยู่ได้โดยคนคนเดียวแน่นอน ถ้าไม่มีคนเห็นด้วยกับโครงการ ไม่เกิดขึ้นเป็นทีมงาน เราก็คงไม่มีวิธีการปลุกกระแสให้คนออกมาทำกิจกรรม บางโครงการเราเห็นชัดว่า รัฐสนับสนุนไม่เพียงพอ แต่คนในสังคมอย่างเรา ผลักดันจนมันเกิดความเปลี่ยนแปลงได้

องค์กรอิสระจากภาคประชาชน ที่จัดกิจกรรมพัฒนาสังคมในรูปแบบภาคประชาสังคม (Civil Society Organization : CSO) อาจนำไปสู่คำถามของคนทั่วไปว่า ทำไมรัฐไม่มาทำเอง? เป็นประเด็นน่าสนใจ กับแวดวงหัวข้อทางการเมือง ซึ่งสำหรับวิธีคิดของภาคประชาสังคมเหนือกรอบตรงนั้น คือโดยทางอ้อม เราเชื่อว่ากิจกรรมพัฒนาสังคม ไม่แตกต่างจากกิจกรรมทางการเมืองอื่นของประชาชน ที่ต้องการแสดงออกให้เห็นว่าปัญหาบางอย่างที่ควรได้การแก้ไขที่จริงจังกว่านี้ แต่เพราะคำว่า สังคม เป้าหมายหลักของ CSO จึงเป็นสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เป็นรูปธรรม

รูปธรรมของเรา อาจไม่ใช่การว่ายน้ำข้ามจังหวัด แต่อาจเป็นกลุ่มคนทำเกษตรในเมือง ที่หาพื้นที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ ชมรมอนุรักษ์ท้องทะเล ที่รณรงค์เรื่องการจัดการขยะบนชายหาดหลังจากจำนวนสัตว์ทะเลที่ต้องตายเพราะขยะพลาสติกสูงขึ้น เพื่อผลักดันสิทธิ โอกาสการเรียนรู้ การพัฒนา บูรณาการ รวมทั้งการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม องค์กรอิสระอีกมากมายพร้อมผลักดันโครงการผ่านภาคประชาสังคม

ตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว มีการยื่นร้องแก้ไขหลักสูตรการเรียนการสอนโดยสมาคมฟ้าสีรุ้ง ที่ทำงานกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยื่นร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการให้บรรจุหลักสูตรสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ความสำเร็จตรงนี้มาจากการโหวตและลงชื่อสนับสนุนใน Change.org แท้จริงแล้ว ทุกปัญหาที่เรามองเห็นไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาในมุมมองปัจเจก ความจริงแล้วเราอยู่ร่วมกับมันมาตลอด เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เป็นวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ทั้งอดีต ปัจจุบัน เป็นอนาคตของเราและคนรุ่นหลังจากเรา

ณ วันที่เราเริ่มขบคิดถึงปัจจุบันและอนาคต เราอาจวาดฝันสังคมที่เราอยากจะอยู่ จุดเริ่มต้นของ CSO เริ่มได้จากตรงนี้ ฝันของเราจะกลายเป็นคติหนึ่ง เพื่อเริ่มต้นทำในสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมที่ดีกว่าโดยองค์กรที่มาจากภาคประชาชน ที่แปลว่าจะเป็นใครก็ได้ ที่มองเห็นปัญหาเดียวกันแล้วลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนเเปลงด้วยตัวเอง

____________________________________________

บทความร่วมประกวดภายใต้กิจกรรม : ประกวดบทความ และสารคดี We are CSO ภาคประชาสังคมใคร ๆ ก็เป็นได้

โดย : กุลนิดา ประจำที่

เนื้อหาอื่นๆ

28 พฤศจิกายน 2019
04 กุมภาพันธ์ 2022
07 มีนาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT