17 ธันวาคม 2019

จากพ่อบ้านเรือนจำ สู่ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้นักโทษ

นช.อัครินทร์ ปูรี ผู้ปลุกตัวเองให้ตื่นจากฝันร้าย

ชายหนุ่มแววตาสีฟ้าหน้าคมเข้มถอดร่างนายแบบนาม อัครินทร์ ปูรี มีรอยสักเต็มตัว เขาสูญเสียวัยฉกาจฉกรรจ์ กว่า 30 ปี ไปกับชีวิตเข้าออกเรือนจำจนคล้ายกับเป็นเรือนนอน ขาประจำของเรือนจำรายนี้ไปไกลถึงขนาดไต่ไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของบรรดานักโทษที่ต่างพากันขนานนามให้เป็น “พ่อบ้านในเรือนจำ” จากย่างก้าวบนหนทางดำสนิท วันนี้เขาลิขิตชีวิตใหม่ ด้วยการร่วมกับกลุ่มคริสเตียน มูลนิธิบ้านพระพร ไปเป็นหนึ่งคนที่คอยให้กำลังใจผู้ต้องขัง ช่วยเหลือหางานให้ผู้พ้นโทษและประสานงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตหลังพ้นพันธนาการ ราวกับตื่นจากฝันร้ายมาเจอกับชีวิตใหม่ เพื่อเป็นชายที่ช่วยเหลือผู้อื่น

โลต้าน้อยสู่เส้นทางของหรั่ง

อัครินทร์ ปูรี หรือ “หรั่ง” เป็นเด็กชายลูกครึ่งไทยอินเดีย ลูกชายคนเดียวในบรรดาพี่น้อง 4 คน แท้แล้ว “โลต้า” ต่างหากคือชื่อเล่นที่ครอบครัวตั้งให้เขา “เราเกิดมาฐานะยากจน พ่อไม่สามารถเลี้ยงทั้งหมด 4 คนได้ พ่อแม่เลยส่งพี่สาวคนโตให้ไปอยู่ทางญาติสายคุณแม่ ส่วนน้องสาวคนเล็ก พ่อยกให้เป็นลูกบุญธรรมคนอื่นที่สามารถรับไปดูแลได้ ก็เลยเหลือผมกับพี่สาวคนกลางอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นไม่นานคุณแม่เกิดป่วยจนเสียชีวิต เหลือพ่อเป็นเสาหลักของครอบครัวเพียงคนเดียว”

งานหนักของผู้เป็นพ่อมาพร้อมกับอาการติดแอลกอฮอล์ ติดจนถึงขั้นต้องดื่มอยู่ตลอดเวลา และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในครอบครัว

“พ่อต้องออกไปทำงานแต่เช้า พอกลับมาบ้านก็เริ่มดื่มจนเมา เมื่อกินเหล้าแล้วเกิดอะไรไปขัดใจ พ่อก็จะตี ตีอย่างเดียว ไม่หาเหตุผลพูดคุยเลย พ่ออยากให้เราทำ หรือหยุดทำอะไรพ่อก็หวดลูกเดียว”

ความรุนแรงเริ่มเป็นเพื่อนสนิทในความทรงจำของโลต้าน้อย จนวันหนึ่งเขาและพี่สาวกำลังเดินทางไปเรียน เดินสวนกับเพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่ง ด้วยความที่หน้าตาของพวกเขาเป็นลูกครึ่ง จึงถูกล้อ เขาอดไม่ไหวตัดสินใจใช้กำลังในการแก้ปัญหา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาต้องใช้กำลัง “หลังจากที่เราได้แสดงความรุนแรงออกไป ไอ้คนที่เคยล้อเลียนเรากลายเป็นเพื่อนเรา เราก็ซึบซับวิธีแบบนี้มา เวลามีใครทำอะไรเราก็ต่อย ยิ่งทำคนก็ยิ่งทำให้เกิดการยอมรับ ให้เกียรติเรา จนเรื่องมันรุนแรงขึ้นตามช่วงอายุ”

สัญญาณเฉียดตะรางตะรางของเขาเริ่มขึ้น จากวันที่ถูกจับด้วยข้อหาทะเลาะวิวาท เขาเล่าว่าในสมัยนั้นเป็นช่วงกำลังคึกคะนอง ใครว่าอะไรจะยอมไม่ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขากลัวมากที่สุดคือพ่อ วันที่เกิดเหตุเขาโดนจับไปพร้อมกับเพื่อนอีกหลายคนพอตำรวจอบรมสั่งสอนเสร็จ ก็เรียกผู้ปกครองมารับตัวทุกคนกลับบ้าน โชคดีที่ทางสถานีตำรวจไม่ได้เอาความอะไรในสมัยนั้น แต่เหลือเพียงเขาเป็นคนสุดท้ายที่ผู้ปกครองไม่มา

“พ่อผมโมโหมาก ไม่ยอมเซ็นไม่รับอะไรเลย จะให้นอนที่สถานีตำรวจท่าเดียว กะว่าจะดัดสันดานไปเลย ตำรวจคุยกับพ่อไม่รู้เรื่อง คือยังไงพ่อก็จะให้นอนในตารางให้ได้ สุดท้ายตำรวจให้ผู้ปกครองเพื่อนเซ็นรับออกไป เราออกมากับเพื่อนจึงไม่กล้ากลับบ้าน เพราะรู้ว่าต้องโดนพ่อหวดแน่ เลยยืมโทรศัพท์เพื่อนเพื่อโทรหาพ่อ คำแรกที่พ่อบอกคือ ออกมาทำไม กลับมากูจะตีมึง เราได้ยินก็กลัว เลยไปอยู่กับเพื่อนไม่กลับบ้าน เพื่อนคนนี้พอดึก ๆ เขาซื้อยาบ้ามาเสพ แน่นอนว่าเพื่อนต้องชวนเรา ด้วยความที่เราน้อยใจพ่อผสมกับความกลัว ไม่ยอมให้กลับบ้านเลยอยากรู้อยากลอง สูบครั้งแรกก็ติดใจเลย หลังจากนั้นผมใช้เสพยาเสพติดเรื่อยมา ช่วงนี้เองที่เพื่อนพากันเรียกชื่อผมว่าหรั่ง”

แล้วมันก็เริ่มขึ้นตอนหรั่งอายุเพียง 15 ปี ที่เขาต้องระเห็ดไปใช้ชีวิตในสถานพินิจเด็ก เขาเล่าว่าวันเกิดเหตุ กลุ่มของเขาชวนกันโดดโรงเรียนเพื่อจะไปมั่วสุมเสพยาเสพติดที่บ้านร้างหลังหนึ่ง แต่เพื่อนดันพาเด็กผู้หญิงมาทำมิดีมิร้ายด้วย เขาไม่สนใจเพราะเขาต้องการเพียงเสพยาเสพแล้วกลับบ้าน แต่ไม่นานทั้งกลุ่มก็ต้องไปแสดงตัวที่สถานีตำรวจ

“พ่อตามหาตัวผมจนเจอ ถามผมใหญ่ว่าผมไปทำอะไรมา ผมบอกพ่อว่าไม่ได้ทำอะไรผู้หญิงทั้งนั้น พ่อถามไม่ได้ทำแล้วเข้าไปทำไม เราเลยยอมรับตรง ๆ กับพ่อว่าติดยา ผมเข้าไปเพื่อเสพยา พ่อรู้ก็ตกใจแล้วรีบพาไปสถานีตำรวจ สุดท้ายก็โดนข้อหาพรากผู้เยาว์ร่วมกับเพื่อน แม้ว่าสุดท้ายผมสู้คดีจนพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ยุ่งกับผู้หญิงจริง ๆ แต่ในช่วงนั้น ที่บ้านไม่มีเงินมาประกันตัว ทำให้ต้องเข้าไปอยู่สถานพินิจก่อน พ่อกับพี่สาวบอกให้อยู่ไปก่อน เดี๋ยวจะไปยืมเงินมาประกัน ตรงนี้แหละคือจุดเปลี่ยนในเส้นทางของผม”

ม่านชีวิตเบื้องหลัง ประตูกรงขังคือประตูบ้าน

ความกลัวคือสิ่งแรกที่เด็กคนหนึ่งจะจินตนาการถึงห้องขังและโซ่ตรวนภายในสถานพินิจ

“ช่วงแรกเข้าไปผมกลัวมากครับ กลางคืนผมนอนร้องไห้ทุกคืน ไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง ห้องขัง ผู้คุม แล้วผมต้องเจอกับคนสถานพินิจที่เกเรต่อยตีกันตลอด”

เขาเข้มแข็งพอที่จะเก็บความอ่อนแอในใจลงไปก่อน ไม่งั้นจะถูกแกล้งและอีกสารพัดจะตามมา แต่ด้วยอะไรบางอย่างที่ไม่รู้ว่าดีหรือร้ายกันแน่ เขาเจอกับเพื่อนที่ถูกจับคดียาเสพติดมาก่อนหน้า เพื่อนของหรั่งสอนทุกอย่างเขาที่ต้องรู้ และต้องทำเพื่อใช้ชีวิตโดยไม่โดนรังแก จนคดีสิ้นสุดศาลตัดสิน เขาบริสุทธิ์จากคดีดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถหนีออกจากวงเวียนแห่งยาเสพติดได้

“ผมออกจากสถานพินิจมาครั้งแรก เพื่อนกลุ่มที่เราคบ เห็นเราออกมาจากบ้านเมตตา มันก็มาชูโรงเราใหญ่เลยว่าเราแม่งแน่ ผ่านอะไรมา ด้วยความที่เรายังเด็ก เราก็คิดว่าเราเท่ มีเพื่อนฝูงยอมรับ ไม่ทันไรโดนจับเพราะเสพยาอีกแล้วคราวนี้เป็น ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 เรียกว่าเดินเข้าออกเป็นว่าเล่นเลย”

ในครั้งที่ 7ซึ่งเขาถูกปล่อยตัวออกมาจากสถานพินิจ เขาพบว่าพ่อป่วยด้วยโรคร้าย พ่อไล่ให้เขาไปสมัครเป็นทหาร จะได้เลิกยาเสพติดได้เสียที เพราะการเป็นทหารต้องอยู่ในกฎระเบียบ

เขายอมไปโดยดี

หรั่งเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่เขายอมไปเป็นทหาร เพราะก่อนหน้านี้พ่อของเขาเคยพาไปบำบัดอาการติดยาเสพติด ซึ่งตัวเขาไม่รับอะไรทั้งสิ้นจะเสพยาท่าเดียว กลับกลายเป็นเขาเกลียดพ่อไปเลยจนถึงวันที่เขาสำนึกผิด “ตอนนั้นผมแช่งให้พ่อตายทุกวัน ผมไม่เคยรู้ว่าพ่อรักผมจนตอนที่ผมติดสถานพินิจหลายครั้งเข้า ทุกครั้งพ่อไม่เคยทิ้งเราไปเลย พ่อป่วยแต่ก็ยังมาหา จนเราสำนึกขึ้นมาได้ เราจึงตัดสินใจจะไปเป็นทหารให้พ่อ เป็นทหารได้ไม่นาน พ่อก็เสียชีวิตลง”

หลังจากนั้น เขาไปเป็นทหารขึ้นกองร้อย แต่ยังไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ ซ้ำร้ายต้องติดคุกทหารอีก 1 ปี 6 เดือน เขารู้ตัวในทันทีว่า ชีวิตเขาเหลือเพียงพี่สาวเพียงคนเดียวที่เป็นครอบครัว “ในใจเราอยากเลิกนะ แต่เราทำไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงเพื่อนให้ แรก ๆ เราก็ปฏิเสธ แต่เราก็ยังอยู่กับเพื่อนกลุ่มเดิม แล้วไงสุดท้ายมันกลายเป็นวงจรเดิม ช่วงนั้นเราถึงขั้นลักขโมย ทำมาหมดทั้งกระชากทองชิงทรัพย์ เพื่อแลกยา จนถึงขั้นที่ต้องขายเสียเอง วันหนึ่งเจอผู้หญิงเข้ามาซื้อยาที่เรา แต่เขาใส่ทองมาด้วย เราคิดเลยว่า นางนี่เสพยาเหมือนกันคงไม่กล้าไปแจ้งตำรวจถ้าทำอะไร เลยปล้นเอาทองมา สุดท้ายเขาไปแจ้งตำรวจ หมายศาลตามจับผมได้ ผมเลยโดนคดีร่วมกันชิงทรัพย์ ซึ่งตอนนี้เป็นคุกผู้ใหญ่แล้ว เพราะเราอายุเลย 18 แล้ว”

ปัญหาที่ส่วนใหญ่นักโทษเจอคือ เมื่อพ้นคดีออกมาแล้วมักจะทำผิดซ้ำ เพราะบางครั้งพวกเขาไม่มีสังคมที่ยอมรับ ปราศจากโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การสมัครงานเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็แทบไม่มีใครรับ จนต้องกลับไปหาเพื่อนและกลุ่มคนที่ยอมรับพวกเขา ซึ่งก็คือกลุ่มเดิม ๆ การกลับตัวจึงทำได้ยาก

หรั่งต้องโทษตามคดีความผิด และเพราะทำผิดซ้ำซ้อนหลายครั้ง คราวนี้เขาถูกตัดสินให้จำคุก 10 ปี และด้วยอายุของเขาบรรลุนิติภาวะ ทำให้ต้องโยกย้ายสู่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ด้วยสภาพสังคมด้านใน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักโทษที่มาจากสถานพินิจวัยเยาว์แล้วไม่สามารถกลับตัวได้แทบทั้งสิ้น ส่งเสริมให้เขาเกเรยิ่งกว่าเดิม

“เหมือนมันต่อยอดตัวเอง ชีวิตวนซ้ำเกเร ใส่ตรวนขึ้นขังเดี่ยว ทำแทบทุกอย่าง ผมไม่รู้เจอสถานการณ์อะไรทำให้หลุดโลกได้ขนาดนี้ เหมือนเราโดนปลูกฝังไปแล้วว่า เราเป็นคนเลวกลับตัวไม่ได้แล้ว งั้นกูก็จะเลวอยู่ในนี้มันนั่นแหละ เอาให้สุดในทางนี้ไปเลย แล้วเพื่อนผมมันก็สถาปนาผมเป็นพ่อบ้าน จุดหนึ่งที่ทำให้ผมพีคสุดคือ ปี พ.ศ.2552 แดน 4 ผมเหมือนใหญ่สุดจนคับแดน”

สู่จุดสูงสุดหลังลูกกรง

พ่อบ้าน คือคำเรียกแทนเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในบ้าน และในกลุ่มพวกพ้องของตัวเอง ซึ่งบ้านหมายถึงสังกัดที่ผู้ต้องโทษสร้างขึ้นแล้วแบ่งแยกกันเอง โดยนักโทษมาจากสถานที่ไหนก่อนเข้ามาในเรือนจำ ก็จะต้องสังกัดบ้านนั้น ๆ โดยมีพ่อบ้านเป็นผู้ควบคุมทั้งหมดนั่นเอง “แรก ๆ เราเข้าไปโดนกดดันจากพ่อบ้าน บังคับให้เราเป็นคนใช้ ดีที่เราไม่ถูกทำมิดีมิร้าย บังคับให้เราซักกางเกงในถือสบู่ ทำทุกอย่างให้เขา ตอนนั้นพูดในใจเสมอว่า กูไม่อยากเป็นแบบนี้ กูอยากเป็นขาใหญ่อยู่สบาย”

ต่อมา หรั่งเริ่มสร้างอิทธิพลของเขาจนกลายเป็นที่ยอมรับ จนในที่สุดก้าวขึ้นสู่การเป็นพ่อบ้าน ประจำบ้านพระนคร และต่อกลายมาเป็นชื่อเรียกที่บรรดาผู้ต้องโทษในเรือนจำต่างรู้จักและเคารพ “คนที่เป็นขาใหญ่ในเรือนจำไม่ใช่ว่าเราต่อยตีเก่งนะครับ คือคนต่อยตีเก่งแค่ไหนโดนรุมก็ตายอยู่ดี มันเป็นเรื่องของการใช้หัว มีเครือข่ายมีเบื้องหลังเบื้องลึก มีเจ้าหน้าที่มือปราบเป็นลูกพี่เรา มีผลประโยชน์ว่าไป เราสร้างขบวนการในแดนครึ่งนึง 500 คนเป็นพวกเรา มันเป็นกระบวนการของคนจะเป็นพ่อบ้าน มันไม่ได้หมายความต่อยเก่งอย่างเดียว แต่ต้องดูว่าจะเลี้ยงดูคนของเรายังไง เวลามีเรื่องคนพวกนี้ไม่ทิ้งเรามันเป็นเรื่องของการจัดการ ไม่ใช่แค่ไปไล่ตีคนอย่างเดียว”

การขึ้นชั้นเป็นพ่อบ้านทำให้หรั่งอยู่สบาย แม้แต่เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ค่อยยุ่งกับกับเขา เพราะเขามีอิทธิพลต่อคนอื่นในคุก ช่วงหลังเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการดึงพ่อบ้านมาเป็นพวกด้วย

“สมัยก่อนเจ้าหน้าที่ค่อนข้างรุนแรง เจ้าหน้าที่ตีนักโทษปางตายคาไม้กระบองนี่คือเรื่องจริง อย่างผมเป็นคนเกเรไม่รู้ถูกตีเท่าไรต่อเท่าไรแล้ว ร่างกายเราบอบช้ำ เพื่อนเราถูกตีตายข้างในเลยก็มี เราไม่ได้จะบอกว่าเจ้าหน้าที่โหดร้ายนะ แต่สมัยก่อนถ้าเจ้าหน้าที่ไม่หวด มันจะพาลลากไปถึงการแหกขัง การจลาจลในคุก ผมอยู่ปี 2543 เป็นสถานพินิจบ้านกรุณา เป็นครั้งแรกที่สถานพินิจถูกทุบแตกแหกคุกหมดเลย เนื่องจากเจ้าหน้าคุมเข้มข้นเกินไป เด็ก 1,500 คนเลยพากันแหกคุกออกหมด ทุบกำแพงแลพเทะทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย”

ปัจจุบันคำว่านักโทษล้นคุกไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินเลย จากข้อมูลของไทยรัฐออนไลน์เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขัง 350,366 คน ที่อยู่ในความรับผิดชอบเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ แต่สภาพเรือนจำขณะนี้รองรับได้เพียง 122,047 คน นักโทษเกินกว่าความจุ 208,727 คน เกินการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ขณะนี้เรือนจำไทยติดอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ที่นักโทษล้นคุก

“นักโทษในปัจจุบันไม่ทะเลาะใช้ความรุนแรงกันอีกแล้ว เพราะระบบเปลี่ยนไป การอยู่ในคุกลำบาก เพราะคุกแออัด ทะเลาะไปไม่ได้อะไร ช่วยกันดีกว่า เริ่มแบ่งกันถ้อยทีถ้อยอาศัย ถ้าเกิดโดนย้ายลำบากอีก ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมา นักโทษข้างในจะพูดจาดี พูดจาครับผมกันหมด เปลี่ยนสังคมไปเลย สถานการณ์แบบนี้ เจ้าหน้าที่เองไม่ได้โหดร้ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ดูจะพยายามใช้ความสัมพันธ์แบบครอบครัว เหมือนพี่ น้อง ไปโหดมากเดี๋ยวเสี่ยงคุกแตกอีก เพราะคนมันเยอะ 3 หมื่นต่อ 3 แสน กำแพงก็เอาไม่อยู่หรอกครับ ดังนั้นจึงต้องอะลุ่มอล่วยระหว่างกัน”

แม้ว่าหรั่งจะขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดของบรรดานักโทษในบ้านพระนคร แต่เขาเองยังมีความกลัว ซึ่งเขารู้ดีว่าการเป็นพ่อบ้าน ไม่สามารถเป็นไปได้ตลอด “ในแดนนั้นมีนักโทษประมาณ 1,000 คน มีบ้านอยู่กับผม 500 คือพระนคร อยู่กับผมหมดเลย เราอยู่ในจุดที่สูงที่สุดแล้ว แต่กลางคืนเรานอนไม่เคยหลับ วันนี้อาจจะโชคดีพวกเราเยอะและมีอิทธิพล แต่วันอื่นใครจะมาทำร้ายเราก็ได้ เคยมีเพื่อน ๆ เราที่เป็นขาใหญ่เหมือนกัน สุดท้ายโดนทำร้ายตายอยู่ในคุก คลื่นลูกใหม่มาแรงแทงตายบ้าง พิการบ้าง มาจนตอนนี้ เรามองตัวเองออกแล้วว่า ไม่มีใครสามารถใหญ่ค้ำฟ้าตลอดเวลา มีขึ้นมีลง เราเห็นแน่ ๆ ว่าเดี๋ยวเราแก่ลงเราก็โดนเก็บ ในใจเราร้องไห้เราไม่อยากทำแบนี้เลยอยากจะกลับบ้าน เรารู้ว่าการเป็นขาใหญ่จุดจบมันไม่สวย”

หรั่งเริ่มรู้สึกแล้วว่า บ้านนอกรั้วกันนั่นคือสิ่งสำคัญสำหรับเขา สิ่งที่เขาได้รับมาทั้งหมดเขาไม่อยากได้อีกต่อไป เขาคิดถึงพี่สาวซึ่งเป็นคนสุดท้ายในครอบครัวที่หลงเหลือ มีครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่มาพูดกับเขาว่าคนอย่างเขาคงไม่สามารถกลับตัวได้ อาจไม่ใช่ประโยคบอกเล่าที่น่าเชื่อ แต่หรั่งคิดเสมอว่าอยากเป็นคนดี

หันหลังให้เส้นทางมืดดำ สู่การนำกำลังใจให้ผู้ต้องขัง

ปัจจุบัน อัครินทร์ ปูรี หรือ หรั่ง มีอาชีพสุจริตในการทำอุปกรณ์ดนตรีขาย พร้อมกับอีกหนึ่งหน้าที่ คือเป็นวิทยากรให้กำลังใจนักโทษที่เคยเป็นเหมือนเขา และพร้อมที่จะกลับตัวเป็นคนดีในสังคม เขาเชื่อเสมอว่าต้องมีนักโทษอีกไม่น้อยที่ไม่ได้เป็นคนไม่ดี “ช่วง 2 ปีแรก หลังออกมา เพื่อนผมเขาไม่เชื่อเลยว่าผมจะกลับตัวได้ ผมโดนดูถูกถากถางว่า ดูสิมึงจะไปได้สักกี่น้ำ ไอ้หรั่ง จะเป็นคนได้สักกี่น้ำ แต่กาลเวลามันเป็นเครื่องพิสูจน์ จนตอนนี้เพื่อนเกเรของผมทั้งหมดยอมรับ เพื่อนบอกเลยว่ายอมรับใจเลยหรั่ง เพื่อนชวนผมเที่ยวผับสูบบุหรี่ ผมไม่ทำอีกเลย 5 ปีแล้วไม่กินเหล้า ไม่เข้าสังคมไม่ดีอีกเลยเลย เพื่อนทุกคนเราคบหมด แต่เราไม่เอาตัวไปอยู่ในวิถีโคจรแบบนั้น เช่น เพื่อนผมออกมายังขายยาทำตัวเกเร ชวนผมไปกินข้าวที่บ้านเขา ผมบอกเราไปได้แต่มาเจอกันครึ่งทางไหม ที่ห้างหรือโบสถ์อะไรว่าไป พูดคุยเป็นเพื่อนได้เสมอ พร้อมช่วยเหลือให้เข้าสู่เส้นทางที่ดี”

จุดเปลี่ยนของหรั่ง เกิดจากการที่มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียนเข้าไปสอนเขาทำกีตาร์ในเรือนจำ แต่อีกหนึ่งบุคคลที่บันดาลใจให้เขาลุกขึ้นมาทำความดี และเขานักเป็นครูคนแรกในคุกคือผู้คุมคนหนึ่ง ตัวเขาเองอยากเป็นครู แต่ไม่สามารถเป็นได้ จึงหันมาเป็นผู้คุมพร้อมกับครูสอนนักโทษในเรือนจำแทน เขาไม่เคยใช้กำลังกับนักโทษ จะใช้วิธีพูดคุยและให้กำลังใจไป หรั่งจึงเริ่มเรียนรู้ว่าวิธีแบบนี้สามารถใช้ได้ผล

“เมื่อชีวิตเรายังไม่ดีเลยเราจะไปบอกใครเขาได้ เราจะไปพูดเป็นวิทยากรไปบอกให้คนอื่นทำเรื่องดี แต่ เรายังไม่เลิกเลยเกเรเลยใครจะเชื่อเรา การเป็นวิทยากรในเรือนจำผมต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะ ไม่ใช่ไปยืนพูดได้เงิน แต่เราพูดเพราะเราถ่ายทอดจริง ๆ กลับตัวได้จริง ๆ สิ่งที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง อันไหนทำไม่ได้ก็ฝึกจนกว่าจะชนะมันได้ ปั้นตัวเองให้เป็นโมเดลให้ได้ จะเป็นคนดีก็ต้องสนใจดูแลคนอื่น ดูแลสังคมด้วย เรานำสิ่งเหล่านี้ไปบอกนักโทษ เราไม่ได้สอนเขา สำนึกผิดชอบชั่วดีเขารู้อยู่แล้ว การเริ่มใหม่ มันต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป”

นอกจากหน้าที่สร้างกำลังใจให้นักโทษอยู่เป็นประจำเเล้ว หรั่งในนามกลุ่มเพื่อนคริสเตียนยังเป็นคนหลักในการช่วยประสานเพื่อหางานให้กับผู้พ้นโทษได้กลับเข้ามาสู่สังคม แต่เขาเองออกตัวว่า ต้องมองสองมุมตลอดในเรื่องนี้ เขาไม่ได้แน่ใจว่านักโทษทั้งหมดจะสามารถกลับตัวได้ แต่สิ่งที่เขาขอร้องให้สังคมช่วยเหลือ คือนักโทษที่พร้อมแล้วสำหรับการกลับตัวควรได้รับโอกาส

นี่เป็นสิ่งที่ภูมิใจที่สุดของหรั่ง จากคนใช้การไม่ได้ กลายเป็นได้เริ่มทำประโยชน์ให้สังคม

"การได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น จะทำให้มือทั้งสองข้างไม่ว่างเว้นไปคิดเรื่องฉกชิงวิ่งราวอีกต่อไป"

เนื้อหาอื่นๆ

05 มีนาคม 2023
14 สิงหาคม 2023
17 ธันวาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT