03 กุมภาพันธ์ 2019

พะเยา

กว๊านอยู่ได้ คนอยูได้ ให้สมดุล

ออกตัวก่อนเลยว่าเรารู้ข้อมูลของจังหวัด พะเยา น้อยมากจึงได้ทำการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจึงพบว่าเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ทางภาคเหนือตอนบน ซึ่งได้แยกตัวออกมาจากจังหวัดเชียงราย จนกลายมาเป็นจังหวัดลำดับที่ 72 ของประเทศไทย ในความรู้สึกเราแล้วจังหวัดพะเยายังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากต้นน้ำ ป่าไม้ ภูเขา มองไปทางไหนก็เห็นธรรมชาติอยู่รอบตัว พะเยาเป็นจังหวัดที่มีความเงียบสงบ เรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ที่แอบซ่อนเพื่อให้เราออกไปค้นหาและสัมผัสด้วยตัวเอง โดยสถานที่ที่เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับคือ “โฮงเฮียนกว๊านพะเยา” ที่เป็นมากกว่าโฮงเฮียน

โฮงเฮียนกว๊านพะเยาเริ่มจากปัญหาสำคัญ คือ การที่คนหาปลาริมฝั่งมาช้านานถูกริบอาชีพประมง เพราะภายหลังจากมีกว๊านพะเยา พื้นที่ของสองฝั่งกว๊านก็ถูกแบ่งการปกครอง ทั้งจากกรมประมงและองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ในพื้นที่ที่สามารถจับสัตว์น้ำได้นั้นไกลออกไปจากฝั่ง แต่เมื่อจับสัตว์น้ำได้แล้วก็จะไม่สามารถเเล่นเรือกลับฝั่งยังบ้านของตัวเองตามทางเดิมได้ เพราะอยู่ในอาณาเขตที่ดูแลโดยกรมประมงซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์และห้ามจับสัตว์น้ำ โดยเรกเริ่มหลังจากมีประกาศห้ามชาวประมงจับสัตว์น้ำก็มีชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องออกไปใช้ชีวิตปกติ หาปลา กลับมาบ้านแล้วถูกจับ ถูกปรับ

ในบางช่วงบางตอนของการพูดคุยกับ คุณสมศักดิ์ เทพตุ่น ประธานชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพะเยา ได้เล่าถึงประสบการณ์การรวมตัวกันของชาวประมงคนเล็กคนน้อยว่า

“ชมรมชาวประมงตั้งขึ้นโดยปัญหาของพี่น้องชาวประมงเอง จึงลุกขึ้นมาตั้งเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างพลังในการต่อรองกับหน่วยงานของรัฐ โดยรวมตัวกับพี่น้องชาวประมงเข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานประมงจังหวัด ซึ่งได้มีการเจรจาต่อรองขอร่นระยะเขตและขอทำแนวเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาทั้งหมดรวมไปถึงเขตที่กรมประมงดูแลด้วย ถ้าหากให้ชาวประมงมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการกว๊านร่วม ก็จะเห็นการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในกว๊านพะเยา อันนี้ยังไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะถ้าเราไม่จับ เราอนุรักษ์ เราอนุบาล มันเยอะอยู่แล้วตามธรรมชาติของมัน แต่ที่ได้นอกเหนือจากนั้นคือจิตสำนึกของพี่น้องชาวประมง อันนี้เงินซื้อไม่ได้ กฏหมายอะไรก็ซื้อไม่ได้ ถ้าเขามารวมตัวกันโดยที่เอาปัญหาตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วก็ร่วมกันทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาของแต่ละชุมชนซึ่งในปัจจุบันมี 17 ชุมชน เกิดความเป็นพี่เป็นน้อง การมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วม”

โดยบทสรุปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคุณสมศักดิ์และพี่น้องชาวประมงได้ร่วมกันต่อสู้ โดยหาทางออกและแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากบทพิสูจน์ จนกลายเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานราชการในท้องถิ่น ซึ่งล้วนมาจากความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ที่มีส่วนช่วยให้วิถีชีวิตชาวประมงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อเลี้ยงและดูแลครอบครัว รวมไปถึงการอนุรักษ์อาชีพของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป ทั้งยังรักษากฏหมายได้อีกด้วย

ทั้งนี้ การทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีของรัฐ ทำให้เกิดพลังรวมไปถึงการร่วมมือกับชุมชนเครือข่ายลุ่มแม่น้ำอิง ลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อทำการผลักดันเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการงดหาปลาในช่วงฤดูวางไข่ ต่อยอดความคิดไปถึงว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้ มีอาชีพเสริมในช่วงงดหาปลา จึงเกิดความคิดในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถีประมงพื้นบ้านขึ้นมา มีเวทีแลกเปลี่ยนในการทำมาหากิน สร้างกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องของการทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา

สุดท้ายจึงมีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนวิถีประมงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวรอบกว๊านขึ้น โดยผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น มีการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ โดยจะมีศูนย์ประสานงานท่องเที่ยวและศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีประมงในอนาคตต่อไป

จะเห็นได้ว่าปัญหาไม่ได้เป็นเพียงของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ “เรา” ทุกฝ่ายต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการพูดคุยเข้าหากัน ปัญหาของเขาในวันนี้ อาจเป็นปัญหาของเราในอนาคตก็ได้ เพราะฉะนั้นการร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา หรือการป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น ช่วยส่งผลลัพธ์ในทางที่ดีแบบยั่งยืน

คุณสมศักดิ์ยังได้กล่าวสโลแกนทิ้งท้ายไว้อีกว่า “กว๊านอยู่ได้ คนอยู่ได้ ให้สมดุล” ทุกอย่างอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทำให้เรารู้สึกว่าบางทีหากมีปัญหาก็ไม่จำเป็นจะต้องหา “ผู้แพ้” หรือ “ผู้ชนะ” แต่บางครั้งการเป็น “ผู้เสมอ” มันกลับดีเสียอีกด้วยซ้ำ ทำให้เรานึกถึงข้อความที่ว่า “พลังความดีเริ่มต้นที่ตัวเรา”

Story by : ภัทรภร ลี้สุริยวงค์

เนื้อหาอื่นๆ

08 มิถุนายน 2020
15 มกราคม 2024
09 สิงหาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT