23 ธันวาคม 2018

หนีเสือดันมาเจอจระเข้

คน ป่า และภาคประชาสังคมกับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

ในเช้าวันที่ทีวีเครื่องเก่าหน้าร้านค้าของหมู่บ้านวังโค ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มีภาพโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นชายวัยกลางคนหน้าตาเกลี้ยงเกลา สวมแว่นตากรอบเงา กระชับเน็กไทให้เข้ากับชุดสูทกำลังพูดอยู่ท่ามกลางสื่อมวลชนว่า “การนำเสนอข้อมูลความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องเก่า และปราศจากความน่าเชื่อถือ” …ราวกับว่าในดินแดนสารขัณฑ์นั้นเรากำลังอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ไม่มีครัวเรือนไหนที่ยากไร้ และความเหลื่อมล้ำเป็นเพียงนิทานโกหก

โดยรอบอาณาบริเวณ 6 ไร่ ถัดออกไปจากทีวีเครื่องนั้นเอง เป็นพื้นที่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงกว่า 189 คน ซึ่งมีทั้งที่มีบัตรแสดงสถานะ และรอการพิสูจน์สิทธิตามกระบวนการอันล้าช้าของราชการ บางรายมีลูกหลานไปแล้วหลายคน จนแตกหน่อต่อเครือขยายครอบครัวออกไปเป็นรุ่น แต่กระบวนการพิสูจน์สถานะความเป็นพลเมืองไทยของกะเหรี่ยงในหมู่บ้านเขาก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุดไปเสียที

เรื่องนี้ The thaiact ได้พูดคุยกับ เกรียงไกร  ชีช่วง ตัวแทนจากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน และเป็นบุรุษผู้ลุกขึ้นมาทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงไม่ถูก “ยึดครอง” ไปโดยรัฐ เขาเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ให้ฟังว่า

“วัฒนธรรมกะเหรี่ยงอิงกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดไปจนตาย เราให้ความเคารพและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เราไม่ได้ล้างผลาญป่า ถ้าเราทำลายป่า ป่านนี้ทั่วประเทศคงไม่มีพื้นที่ป่าให้ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์แน่…ตอนนี้ความเป็นอยู่ลำบากมาก การเข้าไปเก็บพริก เก็บของป่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย พี่น้องในชุมชนมีคดีติดตัวมากกว่า 10 ราย”

ปัจจุบันพื้นที่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านวังโค ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าตะนาวศรี และด้วยน้ำเสียงท่าทีเข้มขรึมของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เข้ามายึดอำนาจการปกครองของประเทศไทย ได้ประกาศเน้นนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า”  ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านวังโคก็ถูกกดหัวลงไปให้จมกับวังวนของความ “ไม่มั่นคง” อีกต่อไป

“ต้นปี 61 ฝ่ายปกครอง อำเภอและทหารเข้ามาแจ้งชาวบ้านให้ย้ายออกจากหมู่บ้าน โดยมีเอกสารให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ โดยไม่มีที่รองรับเพื่อปลูกสร้างบ้านเรือน”

สิ่งที่ภาคประชาสังคมบ้าน ๆ แบบพวกเขาทำได้คือ การเร่งประสานงานกับองค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ สมาคม และเครือข่ายกฎหมายเพื่อขอความช่วยเหลือแนะนำ รวมทั้งหากมีการถูกจับกุมดำเนินคดี พวกเขาจะช่วยส่งต่อเรื่องให้กลุ่มองค์กรผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิอย่างทันท่วงที เสมือนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางการประสานการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ตามกำลังที่ทำได้ และนอกจากนั้น สิ่งที่พวกเขาพยายามทำงานอย่างหนักคือ การรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ หลักฐาน และบันทึกจากชุมชน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า แท้แล้วการอาศัยอยู่ในพื้นที่ของพวกเขานั้นไม่ได้เป็นไปในฐานะ “ผู้บุกรุก” แต่เป็นการอยู่ร่วมกันในแบบที่ เกรียงไกร  ชีช่วง บอกว่า “ป่าคือเรา เราคือป่า”…แม้สุดท้ายสิ่งที่ภาคประชาสังคมบ้าน ๆ อย่างพวกเขาทำ จะไม่เคยได้รับแม้โอกาสในการเข้าพบพูดคุย หรือเจรจาหาทางออกกับหน่วยงาน กับผู้กำกับนโยบายก็ตาม

หากในกรุงเทพฯ ผู้คนอาจไม่เคยรับรู้ข้อมูลเรื่องกะเหรี่ยงในทางที่ดีเท่าไหร่นัก นอกจากการจับพ่อค้ายาบ้า เป็นหัวหน้าพรานป่าล่าสัตว์ แต่หากพิจารณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชาติ ซึ่งมหานครนั้นให้กำเนิดตึกสูงมานานปี แต่กับชุมชนไกลปืนเที่ยงที่หมู่บ้านวังโค แม้น้ำไฟยังไม่สามารถเข้าถึงทุกครัวเรือน เช่นนั้นแล้วการส่งเสริมให้คนในชาติเข้าถึงสิทธิและโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำได้มากกว่ามีใครในทีวีดีแต่พูดว่า “การนำเสนอข้อมูลความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องเก่า และปราศจากความน่าเชื่อถือ” หรือไม่

เพราะสุดท้ายสิ่งที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมต้องการ อาจไม่ได้เป็นการดิ้นรนเพื่อตัวเองเลยแม้แต่น้อย อย่างที่ เกรียงไกร ทิ้งท้ายก่อนแยกย้ายกันไปว่า

“การให้สิทธิและสัญชาติตามกระบวนการดำเนินการชักช้ามากครับ สำหรับพ่อแม่ไม่เป็นไร แต่ที่เกิดในแผ่นดินไทย ควรจะได้สัญชาติไทยและได้รับสิทธิ อย่างน้อยก็เรื่องการศึกษา เพราะพอไม่มีบัตร ก็ทำอะไรไม่ได้ เรียนถึง ป.ห้าป.หก ก็ต้องออกมาเพราะไม่มีประโยชน์ จบไปก็เรียนต่อไม่ได้ พอออกมาก็ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ทำงานก็คุณภาพชีวิตแย่ลงไปอีก แบบนี้จะให้พวกเราทำยังไง ?”

เนื้อหาอื่นๆ

22 มกราคม 2024
18 มิถุนายน 2019
12 พฤศจิกายน 2022

Copyright © 2013 THETHAIACT