27 กันยายน 2018

สิทธิมนุษยชน คืออะไร?

คุณมึงครับ 4: สิทธิมนุษยชน

คุณกู: คุณครับ…คุณมึงว่าการสักเนี่ย มันไปลิดรอนคนอื่นตรงไหนหรือเปล่าครับ

คุณมึง: ไม่นะครับ ไม่ลิดรอนสิทธิใครแต่คงไปลิดรอนความชอบใจของคนที่พบเห็นบางคน(ฮ่าๆๆๆ) ก็ชุดความคิดของคนบางกลุ่มมันยังไม่ได้เปิดรับขนาดนั้นนิครับ

คุณกู: ผมมีน้องสาวคนหนึ่งครับ เขาสักเต็มแขนเลย ผมก็ว่าเธอสักสวยดีนะครับ แต่เธอมาเล่าเรื่องที่เธอต้องอกหักจากการสมัครงานอยู่บ่อยครั้ง เธอว่าทุกครั้งคนสัมภาษณ์ก็ดูจะชอบพอในประวัติการทำงานและการเรียนของเธอดี แต่บ่อยครั้งเธอก็จะถูกบอกว่า “พี่ขอไปปรึกษาหัวหน้าเรื่องรอยสักน้องก่อน” และก็ไร้วี่แววการตอบกลับมาอีกเลย

คุณมึง: นั่นสิครับ เพราะเรื่องสักมันยังไม่ถูกยอมรับมากแต่จะว่าเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ๆ หรือหัวก้าวหน้าหน่อย เค้าไม่มาใส่ใจหรอกครับ ว่าสักไม่สัก ว่าแต่เธอเคยเจอเหตุการณ์อะไรพีคๆอีกไหมครับ

คุณกู: เอ…ครั้งหนึ่งเธอเคยเล่าว่า เธอนั่งรถเมล์กำลังจะไปที่ไหนสักที่ เธอก็ขึ้นไปนั่งจ่ายเงินรับตั๋วปกติ แต่สักพักเท่านั้นแหละครับ เธอก็ยินเสียพึมพำอยู่เบาะเยื้องๆด้านหลัง กำลังพูดถึงรอยสักของเธออยู่

คุณมึง: เขาว่ากันว่าไงบ้างครับ

คุณกู: เธอว่าพวกเขาพูดประมานว่า เป็นสาวเป็นนางทำตัวสกปรก ถ่อย อะไรประมานนี้ครับ

คุณมึง: แล้วเธอมั่นใจได้ยังไงครับ ว่าพวกเขากำลังพูดถึงเธออยู่

คุณกู: ตอนแรกเธอก็ไม่มั่นใจหรอกครับ จนตอนจะลงรถนะสิครับ เธอบอกว่าพวกเขาหยุดพูดกันไปสักพักแล้วแต่พอเธอเดินผ่านพวกเขาแล้วก็ได้ยินประโยคลอยขึ้นมา ว่า “ไร้ยางอาย”แต่เธอต้องรีบลงรถไปเสียก่อนเลยไม่ทันชูนิ้วกลางใส่พวกเขา

คุณมึง: ผมว่าจริงๆคนพวกนั้นไปลิดรินสิทธิของน้องสาวคุณเสียมากกว่านะครับ เพราะเอาเข้าจริงมันก็เป็นสิทธิในร่างกายของตัวเธอนะครับ เป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล ไม่ว่าเธอจะสัก จะโนบรา จะแต่งตัวโป๊ยังไง การไปตำหนิหรือก้าวก่ายมันดูไม่เป็นปัญญาชนที่ทันยุคทันสมัยเอาเสียเลย

คุณกู: ผมก็บอกเธอไปแบบนั้นครับ แต่เอาเข้าจริงคนประเทศนี้เค้าเข้าใจในสิทธิมนุษยชนกันแค่ไหนเชียวครับคุณมึงว่า

คุณมึง: ก็คงรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนมี แต่จริงๆคงไม่ทราบว่ามันหมายถึงอะไรกันบ้างหรอกครับ

คุณกู: แล้วจริงๆคำว่าสิทธิมนุษยชนมันมีขอบเขต/ความหมายแค่ไหนกันเหรอครับ…

สิทธิมนุษยชน คืออะไร?

สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นของคนทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ มีศาสนา ไม่มีศาสนา หรือมีความเชื่ออะไรใช้ชีวิตแบบไหนก็ตาม

สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามรถถูกพรากออกจากความเป็นมนุษย์ได้ แต่ทั้งที่ทั้งนั้นก็มีกรอบจำกัดตามกฎหมายหรือขนบต่าง ๆในสังคมนั้น ๆ ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น ความมีศักดิ์ศรี ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเคารพ และความเป็นอิสระ นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดที่เป็นนามธรรมเท่านั้น เพราะสิทธิมนุษยชนคือแนวคิดที่ได้รับการนิยาม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights)

ในปี 2491 หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติได้กำหนดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้แบ่งสิทธิและเสรีภาพออกเป็น 30 หมวด เช่น สิทธิในการแสวงหาที่ลี้ภัย สิทธิในการมีเสรีภาพจากการทรมาน สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการศึกษา ไม่มีใครสามารถพรากสิทธิและเสรีภาพนี้ไปจากเราได้ เพราะสิทธิและเสรีภาพนี้เป็นของพวกเราทุกคน

นับตั้งแต่มีการกำหนดปฏิญญานี้ขึ้นเมื่อเจ็ดสิบปีที่แล้ว ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ถูกใช้เป็นรากฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทุกฉบับ

เนื้อหาของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยข้อความ 30 ข้อ มีเนื้อหาแบ่งเป็น 4 ส่วน

ส่วนแรก ปรากฏในคําปรารภ ข้อ 1 และข้อ 2 กล่าวถึงหลักการสําคัญของสิทธิมนุษยชน ที่ว่า มนุษย์มีสิทธิติดตัวมาแต่เกิด มนุษย์มีศักดิ์ศรีมีความเสมอภาคกัน ดังนั้นจึงห้ามเลือก ปฏิบัติต่อมนุษย์และควรปฏิบัติต่อกันเสมือนเป็นพี่น้อง สิทธิมนุษยชนนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถโอน ให้แก่กันได้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศที่จะสร้างหลักประกันแก่ทุกชีวิตด้วยการเคารพ หลักการของสิทธิเสรีภาพที่ปรากฏในปฏิญญานี้เพื่อให้สิทธิมนุษยชนเป็นมาตรฐานร่วมกัน สําหรับการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอันจะเป็นพื้นฐาน แห่งเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก

ส่วนที่สอง ปรากฏใน ข้อ 3 ถึงข้อ 21 กล่าวถึงสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights)

ส่วนที่สาม กล่าวถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Economic Social and Cultural Rights) สิทธิดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ข้อ 22 ถึงข้อ 27

ส่วนที่สี่ กล่าวถึงหน้าที่ของบุคคล สังคม และรัฐ โดยการที่จะต้องดําเนินการสร้างหลักประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิที่ปรากฏในปฏิญญานี้ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ห้ามรัฐกระทําการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจํากัดสิทธิของบุคคลมิให้ใช้สิทธิมนุษยชนละเมิดของผู้อื่น สังคมและโลก สิทธิเหล่านี้ปรากฏอยู่ในข้อ 28 ถึงข้อ 30

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยข้อความ 30 ข้อ โดยสรุป ดังนี้

ข้อ 1 ทุกคนมีศักดิ์ศรีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน และต้องปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง

ข้อ 2 ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพ อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่และมีความมั่นคง

ข้อ 4 ห้ามบังคับคนให้เป็นทาส และห้ามค้าทาสทุกรูปแบบ

ข้อ 5 ห้ามการทรมาน หรือการลงโทษทารุณโหดร้ายผิดมนุษย์

ข้อ 6 สิทธิในการได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย

ข้อ 7 สิทธิในการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อ 8 สิทธิในการได้รับการเยียวยาจากศาล

ข้อ 9 ห้ามการจับกุม คุมขัง หรือเนรเทศโดยพลการ

ข้อ 10 สิทธิในการได้รับการพจารณาคด ิ ีอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย

ข้อ 11 สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ก่อนศาลตัดสิน และต้องมีกฎหมายกําหนดว่าการกระทํานั้นเป็นความผิด

ข้อ 12 ห้ามรบกวนความเป็นอยู่ส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน การติดต่อสื่อสาร รวมทั้งห้ามทําลายชื่อเสียงและเกียรติยศ

ข้อ 13 เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ในประเทศ รวมทั้งการออกนอกประเทศหรือกลับเข้าประเทศโดยเสรี

ข้อ 14 สิทธิในการลี้ภัยไปประเทศอื่นเพื่อให้พ้นจากการถูกประหัตประหาร

ข้อ 15 สิทธิในการได้รับสัญชาติและการเปลี่ยนสัญชาติ

ข้อ 16 สิทธิในการเลือกคู่ครองและสร้างครอบครัว

ข้อ 17 สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

ข้อ 18 เสรีภาพในความคิด มโนธรรม ความเชื่อ หรือการถือศาสนา

ข้อ 19 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รวมทั้งการได้รับข้อมูลข่าวสาร

ข้อ 20 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและรวมกลุ่ม และห้ามบังคับเป็นสมาชิกสมาคม

ข้อ 21 สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในรัฐบาลทั้งทางตรงและโดยผ่านผู้แทน อย่างอิสระ และมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณะโดยเท่าเทียมกัน

ข้อ 22 สิทธิในการได้รับความมั่นคงทางสังคม และได้รับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยการกําหนดระเบียบและทรัพยากรของประเทศตนเอง

ข้อ 23 สิทธิในการมีงานทําตามที่ต้องการ และได้รับการประกันการว่างงาน รวมทั้งได้รับค่าตอบแทนเท่ากันสําหรับงานอย่างเดียวกัน และรายได้ต้องพอแก่การดํารงชีพสําหรับตนเองและครอบครัว ตลอดจนมีสิทธิก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน

ข้อ 24 สิทธิในการพักผ่อนและมีเวลาพักจากการทํางาน

ข้อ 25 สิทธิในการได้รับมาตรฐานการครองชีพอย่างเพียงพอ ได้รับปัจจัยสี่ สวัสดิการ สังคม ประกันการว่างงาน เจ็บป่วย เป็นหม้าย ผู้สูงอายุตลอดจนต้องคุ้มครองแม่และเด็กเป็นพิเศษ

ข้อ 26 สิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อ 27 สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน และได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ข้อ 28 สังคมต้องมีระเบียบทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้บุคคลได้รับสิทธิและเสรีภาพตามปฏิญญานี้

ข้อ 29 บุคคลย่อมมีหน้าที่ต่อชุมชน การใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

ข้อ 30 ห้ามมิให้รัฐ กลุ่มชน หรือบุคคล กระทําการทําลายสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการ

รับรองในปฏิญญาน สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ ทําให้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันในการปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมไปถึงข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมระดับโลก โดยองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ได้ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้หลายมาตราด้วยกัน เช่น ในมาตรา 4 นั้นระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” และ ในหมวดที่ 3 ซึ่งเป็นหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตราที่ 25 ถึง 49 ยังได้บรรยายขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายด้านด้วยกัน เช่น ความยุติธรรมทางอาญา การศึกษา การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการแสดงออก การไม่ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจัดทำฉบับแรกในปี 2551 ในขณะที่ฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 3 พ.ศ.2557-2561 โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนนําไปใช้ในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิของประชาชนในประเทศต่อไป

ขอบคุณข้อมูลเรื่องสิทธิมนุษยชนจาก: https://www.amnesty.or.th/latest/blog/62/

และ เอกสารวิชาการส่วนบคคล (Individual Study) เรื่อง : สิทธิมนุษยชนในหลายมิติ โดยนายพีระศักดิ์ พอจิต

เรียบเรียงโดย: ลักษณพร ประกอบดี

เนื้อหาอื่นๆ

12 ธันวาคม 2019
21 มีนาคม 2020
04 ธันวาคม 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT