09 ตุลาคม 2023

20 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายใหม่ของปัญหายาเสพติดในชายแดนใต้ ตอนที่ 1

ผู้รอดชีวิตจากเฮโรอีน สู่อาสาสมัครผู้ใช้สารเสพติดในพื้นที่ชายแดนใต้

ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2537 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถือว่าเป็นแหล่งพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรงของกัญชาและเฮโรอี ที่ถูกนำเข้ามาจากทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ตูน (นามสมมุติ) ในวัย 15 ปี คือหนึ่งในผู้ใช้สารเสพติด ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาเล่าว่า เพื่อนรุ่นเดียวกันกับเขาที่เสพเฮโรอีน มีเพียงเขากับเพื่อนอีกคนเท่านั้น ที่รอดชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้


ปัจจุบันตูนอายุ 44 ปี ผันตัวเองมาทำงานเป็นอาสาสมัครผู้ใช้สารเสพติด ในพื้นที่ จ.สงขลา เป้าหมายการทำงานของตูนไม่ใช่การไปบอกให้ผู้ใช้สารเสพติดคนอื่น ๆ นั้นเลิกใช้ยาเสพติด แต่เป็นการทำให้พวกเขาสามารถใช้สารเสพติดได้อย่างปลอดภัย และสามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนและครอบครัว เยี่ยงคนธรรมดาคนหนึ่ง

“งานของผม คือทำให้ผู้ใช้สารเสพติดสามารถดูแลตัวเองได้ ส่วนเรื่องที่เขาจะใช้ยาหรือไม่เล่นนั้น ผมไม่มีสิทธิ์ไปห้ามเขา”

เวลากว่า 20 ปี ที่ตูนคลุกคลีอยู่กับการใช้เฮโรอีน เข้า-ออก เรือนจำเหมือนบ้านหลังที่ 2 สูญเสียทั้งคนรัก ครอบครัว และทรัพย์สินจนหมดตัว เขากล่าวว่ารู้สึกเสียดายช่วงเวลาที่สูญเสียไปให้กับการใช้สารเสพติด ในขณะเดียวกันเขาก็หวังว่าประสบการณ์ของตัวเองนั้น จะสามารถใช้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้อื่น ผ่านงานที่เขาทำในการเป็นอาสาสมัคร และการบอกเล่าเรื่องราวของเขา ในมุมมองของผู้ที่ผ่านการใช้สารเสพติดมาครึ่งค่อนของชีวิต

ชีวิตที่สูญเสียไปให้กับเฮโรอีนราชาแห่งยาเสพติด

“ผมเริ่มใช้ยาเสพติดเหมือนคนทั่วไปคืออยากลอง ใช้แล้วช่วงแรกมันมีความสุข”


ตูนเริ่มต้นด้วยการเสพกัญชาร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียนเทคนิคแห่งหนึ่ง ใน จ.สงขลา เขากล่าวว่าถ้าไม่เสพ ก็อยู่ร่วมกับกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนลำบาก เขาได้รับความสุขแบบที่ไม่เคยได้สัมผัสในช่วงแรก จนกระทั่งผ่านไป 1 ปีเขาก็ค้นพบว่าเขาขาดมันไปไม่ได้แล้ว

“แรก ๆ มันก็มีความสุขดี แต่หลัง ๆ เริ่มไม่มีความสุข ตอนที่เลิกมันไม่ได้” จนกระทั่งตูนเริ่มติดเฮโรอีน เขากล่าวว่าเฮโรอีนเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่งที่เลิกมันได้ยากที่สุด เพราะมันจะมีผลต่อความเจ็บปวดไปทั่วร่างกาย ในช่วงเวลาที่เขาหยุดใช้

“คนที่ใช้เฮโรอีนและเลิกมันได้ขาด คนเดียวที่ผมเห็นคือคนตาย บางทีผมยังนอนฝันเลย มันอยู่ในจิตใต้สำนึกเรา”


ตูนกล่าวอ้างเช่นนั้น เขายิ่งเสพหนักขึ้นเมื่อย่างเข้าอายุ 20 ปี ตอนที่เขาเรียนจบแล้วและได้งานประจำทำเป็นโฟร์แมนคุมงานก่อสร้าง ตูนเล่าว่ายิ่งเขามีรายได้มากขึ้นเท่าไหร่ เขายิ่งเสพหนักขึ้นเท่านั้น ... หลังจากนั้นตูนลาออกจากงานประจำ กลับมารับช่วงต่อธุรกิจร้านขายน้ำแข็งต่อจากพ่อของเขา ตูนปล่อยให้คนงานเป็นคนดูแลกิจการ และใช้เวลาไปกับการเสพยา จนผ่านมาได้ไม่กี่ปี เขาก็ตัดสินใจปิดกิจการ


“เซ็งร้านขายทั้งบ้านและรถ ได้เงินมา 6-7 แสนบาท ตอนแรกคิดว่าขายทรัพย์สินตรงนี้ เพื่อนำเงินไปทำธุรกิจอื่น แต่ความจริงคือพอได้เงินมาผมก็เอาเงินไปเสพยาอย่างเดียว”


เงินทั้งหมดของตูนหมดไปในระยะเวลา 1 ปี หนำซ้ำตูนในวัย 27 ปี ถูกจับเข้าเรือนจำ 6 เดือน ในข้อหาการเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1


“สำหรับผมในวัยนั้น จะอยู่ข้างนอกหรือข้างใน (เรือนจำ) มันก็เหมือนกัน”


ช่วงชีวิตของตูนในวัยนั้นจึงเข้า-ออก เรือนจำอีกหลายต่อหลายครั้ง เขาถูกจับครั้งที่ 2 ตอนอายุ 32 ปี อยู่ในเรือนจำไปอีก 4 ปี 8 เดือน ตัวเขาเองพยายามเลิกเฮโรอีนแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ เขาถูกจับครั้งที่ 3 อยู่ในเรือนจำไปอีก 3 ปี 10 เดือน เมื่อออกมาคราวนี้เขาตัดสินใจบวช 1 พรรษา โดยในระหว่างบวชนั้นเขารับยาเมทาโดน เพื่อช่วยบรรเทาอาการเสี้ยนยาโดยเมทาโดน (Methadone) คือยาโอปิออยด์หรือยาระงับอาการปวดที่ออกฤทธิ์ต่อสมองและไขสันหลัง ช่วยยับยั้งอาการเมาที่เกิดจากการใช้สารเสพติด เช่น เฮโรอีน รวมทั้งใช้ลดความอยากและอาการถอนยาเสพติด วงการแพทย์ได้นำเมทาโดนมาใช้เพื่อบำบัดรักษาผู้ใช้สารเสพติด โดยเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มาตั้งแต่ปี 2551


แต่เมื่อสึกออกมาเขาก็กลับไปใช้เฮโรอีนอีกครั้ง จนถูกจับอีกครั้งเป็นรอบที่ 4 เขาออกจากเรือนจำมาในช่วงปี พ.ศ. 2554 และพ่อของเขาก็มาเสียชีวิตในปีถัดมา

จุดเปลี่ยนของชีวิต สู่การเป็นอาสาสมัครผู้ใช้สารเสพติด

ตูนในวัยกำลังย่างเข้า 40 ปี มองชีวิตตัวเองคือความผิดพลาดที่เลือกใช้สารเสพติด เวลาเขามองไปที่เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันและพบว่า คนที่ไม่ได้เสพยาแบบเขา ต่างมีชีวิตและหน้าที่การงานมั่นคง ในขณะที่เขาในตอนนั้นยังคงต้องทำงานหาเงินเพื่อมาเสพยาไปวันต่อวัน


“รพ. มันเป็นทางผ่านที่เราต้องไปซื้อยามาเสพ จึงตัดสินใจเข้ารับเมทาโดน จะได้ไม่ต้องเสพยาหนักมากและเสียเงินเยอะ”


จุดเริ่มต้นเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลของตูนนั้น ความต้องการหลักของเขาไม่ใช่การเลิกใช้สารเสพติด แต่การที่เขารับเมทาโดน เสมือนเป็นยาช่วยที่ทำให้ไม่ต้องเสพยาหนักและเสียเงินเยอะ ก็ช่วยให้เขาพึงพอใจต่อการใช้เสพยาของตัวเอง
แต่นั่นก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เขาค่อย ๆ สามารถลดการใช้เฮโรอีนลงมาได้เรื่อย ๆ และเริ่มเข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครร่วมกับศูนย์สุขภาพด้านสารเสพติด มูลนิธิโอโซน ในพื้นที่ จ.สงขลา


“คือมันยังไม่สามารถเลิกได้จริงจัง แค่ค่อย ๆ ลดมันมา จนถึงตอนนี้มันอิ่มตัวด้วย ลูกก็เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 แล้ว พออายุมันมากขึ้น ความรับผิดชอบก็มากขึ้นตามมา”


ตูนเริ่มเป็นอาสาสมัครผู้ใช้สารเสพติดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในการให้ความรู้ผู้ใช้สารเสพติดในพื้นที่ รวมทั้งช่วยประสานงานในการส่งต่อผู้คนไปบำบัด วันนี้เขาได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่กับองค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งที่ทำประเด็นยาเสพติด ในส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ตูนจะออกไปเปิดร้านขายน้ำชาที่ตลาดนัดแถวบ้าน


แม้จะมีประวัติเสพยาเสพติดมาก่อน แต่ตูนก็ยังคงได้รับการยอมรับจากชุมชนของเขา เพราะด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ตัวเขาสามารถดูแลชุมชนได้ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับวัยรุ่นในชุมชน ที่เขามักได้รับความยำเกรงอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ตูนแสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์ยาเสพติดทุกวันนี้ เพราะมีประเภทยาเสพติดใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังมีการนำมาผสมกัน อันจะส่งผลกระทบต่ออาการทางกายและจิตใจมากขึ้น ทั้งผู้ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่ ยังคงขาดทักษะในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากการใช้สารเสพติด


“ผมคงไม่สามารถไปห้ามคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าเกิดเขาอยากจะใช้สารเสพติด สิ่งที่บอกได้คงอยากให้เขาคิดถึงสุขภาพตัวเองไว้ก่อน อาบน้ำ กินข้าว พักผ่อนให้เพียงพอก่อนที่จะไปตัดสินใจ”


เพราะเคยผ่านการใช้สารเสพติดมาก่อน เขาจึงรู้ดีว่า คนจะตัดสินใจเลิกหรือไม่เลิกนั้น ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองเท่านั้น เขาชี้ให้เห็นว่าการพยายามบำบัดผู้ใช้สารเสพติด โดยการจับเอาพวกเขาไปอาศัยอยู่รวมกันตามค่ายหรือสถานที่ต่าง ๆ นั้นไม่มีวันได้ผล นอกเสียจากการไปเพิ่มเครือข่ายให้กับพวกเขาซะมากกว่า


“ผู้ใช้สารเสพติดคือผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยก็ต้องไปรักษาด้วยขั้นตอนสาธารณสุขทางจิตเวช หรือใช้ยารักษา การเอาพวกเขาไปฝึกในค่ายทหาร ซ้ายหัน ขวาหัน ยืนตากแดดอดทน ใครมันจะยืนได้ มันไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย”


ดังนั้นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ใช้สารเสพติด คือการช่วยให้พวกเขาค่อย ๆ ลดการใช้ เสริมทักษะให้ตัวผู้ใช้สารเสพติดและคนรอบข้าง สามารถดูแลตัวเองได้ในสังคม แม้ว่าเขาจะยังคงใช้สารเสพติดอยู่ก็ตาม ตูนในฐานะผู้เคยใช้สารเสพติดกล่าวว่า เวลาคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้คนลดหรือเลิกใช้สารเสพติดได้ ต่อให้เราจะบีบบังคับด้วยกลวิธีต่าง ๆ แค่ไหน ถ้าคนมันต้องการที่จะเสพในที่สุด เขาก็จะหาทางเสพมันได้


“มันขึ้นอยู่กับเวลา ว่าเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนรึยัง สิ่งสำคัญคือความหวัง เพราะความหวังเป็นสิ่งที่คู่ควรกับมนุษย์ มนุษย์ถ้ามันไม่มีความหวัง ชีวิตมันก็ไม่มีค่าอะไรเลย”

เนื้อหาอื่นๆ

21 พฤษภาคม 2023
17 ธันวาคม 2019
10 มิถุนายน 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT