21 มีนาคม 2020

หวังว่าจะไม่มีรายต่อไปในชุมชนของเรา

บทความโครงการการพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดย วราภรณ์ พันธุ์พงศ์

“บ้านเรามีเคสฆ่าตัวตายเข้ามาอีกแล้วค่ะพี่”

บ่ายวันหนึ่งตอนต้นปี พยาบาลรุ่นน้องที่รับผิดชอบงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลนาหมื่น แจ้งด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ทว่า แววตาหม่นหมอง นั่นคือแรงผลักครั้งสุดท้ายที่ทำให้ นิศานาถ สารเถื่อนแก้ว พยาบาลวิชาชีพวัย 46 ปี ผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดของ รพ.นาหมื่น อ.นาหมื่น จ.น่าน ตัดสินใจ “ทำอะไรสักอย่าง” เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ การฆ่าตัวตายในพื้นที่อำเภอนาหมื่น เพื่อไม่ให้เพิ่มมากไปกว่านี้


นาหมื่น เป็นอำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดน่าน มีประชากรราว 15,000 คน กระจายกันอยู่ใน 48 หมู่บ้านของตำบลบ่อแก้ว นาทะนุง เมืองลี และปิงหลวง พวกเขามีอาชีพทำไร่ข้าวโพด ทำนาข้าว และรับจ้าง เมื่อพิจารณาสถานการณ์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในอำเภอนาหมื่น ช่วงสามปี หลัง แทบไม่น่าเป็นไปได้ ที่สถิติในบางปี จะพุ่งสูงถึง 76 ราย ขณะที่บางปี เป็นหลักสิบและยี่สิบกว่าราย ยังไม่รวมจำนวนผู้ป่วยจิตเภท ที่มีตั้งแต่ 20-40 รายต่อปี และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังจำนวน 5-10 รายต่อปี


นิศานาถเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ หลังจากจบการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลพะเยาเมื่อปี 2530 ครั้งนั้น เธออยู่แผนกผู้ป่วยนอก แต่อีกเก้าปีต่อมา เมื่อจำนวนผู้ป่วยจิตเวชในอำเภอนาหมื่น เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะผู้บริหารจึงได้มอบหมายงานด้านสุขภาพจิตและยาเสติดให้แผนกผู้ป่วยนอกรับผิดชอบ เธอนิศานารถเล่าว่า อาการโรคจิตที่พบมากในเมืองไทยมี 3 กลุ่ม คือ จิตเภท เป็นลักษณะอาการจิตไม่รวมนิ่ง หลงผิด หูแว่ว กลุ่มที่สอง คือ โรคซึมเศร้า หดหู่ เศร้าหมอง เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร และกลุ่มที่สามคือ อารมณ์แปรปรวน มีอารมณ์สลับกัน 2 ขั้ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ ดังนั้น ควรที่สังคมทุกฝ่าย จะต้องให้ความสนใจผู้ป่วยจิตเวช ไม่ว่าในแง่การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในครอบครัวของตนเอง หรือการเป็นเพื่อนบ้านกับคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ รวมทั้ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในยามส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลจิตเวช

โครงการพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ที่ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์ให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก่คนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มผู้ป่วยและญาติ กลุ่มผู้นำ และอสม. ตลอดจนกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคจิตเวช โดยเฉพาะอาการของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายในชุมชน ทั้งยังจะช่วยดูแล รักษาอาการ หรือให้การช่วยเหลือที่เหมาะสม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการได้ทันท่วงที

“อยากให้รู้ว่าสุขภาพจิตคืออะไร ถ้าสุขภาพจิตเสียจะเป็นอย่างไร จึงบอกวิธีสังเกตอาการ และวิธีการรักษาอย่างถูกต้องและส่งต่อเพื่อการรักษา นอกจากนี้ ยังเน้นให้ชุมชนได้รู้ด้วยว่า เดี๋ยวนี้มียารักษาแล้ว และสามารถทำให้คนป่วยหายและกลับคืนสู่ความเป็นปกติได้ เพราะฉะนั้น อย่าได้ขังให้คนป่วยต้องอยู่ในบ้านเหมือนที่เคยทำกัน นิศานาถกล่าว

กิจกรรมหลักก็คือ เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสุขภาพจิต การจัดอบรมให้ความรู้ และทักษะการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยการจัดอบรมให้ความรู้นั้น แต่ละกลุ่มเป้าหมาย ต่างได้รับเนื้อหาที่แตกต่างกันไปตามบทบาทและภารกิจของตนเอง เช่น กลุ่มญาติได้เรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและครอบครัว ขณะที่ผู้ป่วยเองก็ได้เรียนรู้ว่า การทำงานเพื่อฝึกสมาธิเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งตัวอย่างกิจกรรมง่าย ๆ ที่โครงการได้เลือกมาให้ทำก็คือ การถักผ้าเช็ดเท้า และการทำดอกไม้

“ถึงญาติและผู้ป่วยจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานาน เขาก็ควรเรียนรู้ทักษะในการอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสม ที่พบมากคือญาติส่วนใหญ่มักจะยกเว้น ไม่มอบหมายงานให้ผู้ป่วยทำ ไม่พัฒนาทักษะอะไรให้ผู้ป่วยทั้งนั้น ตามใจคนป่วย บางบ้านก็ยังอาบน้ำและป้อนข้าวให้ ส่งผลให้ญาติต้องทำทุกอย่างเอง ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก ส่วนผู้ป่วยก็ไม่ได้พัฒนาทักษะการช่วยเหลือตัวเอง หรือการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองเลย”

ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่บ้านและ อสม.จากทั้ง 48 หมู่บ้าน ก็ได้รับความรู้ เพื่อที่จะไปช่วยกันสังเกตอาการสมาชิกในชุมชนเบื้องต้นว่า คนใดที่ป่วยทางจิต เพื่อจะได้เป็นผู้ประสานระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

“ต้องการให้แกนนำชุมชนได้รับความรู้ที่ถูกต้องจริง ๆ และขอให้ช่วยกันดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง หรือหากมีใครที่มาปรึกษาปัญหาส่วนตัว ก็ให้สังเกตอาการโดยใช้ความรู้ที่รับมา เพื่อคอยเฝ้าระวังหรือให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ ทำให้คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้มีโอกาสระบายความในใจบ้าง...การประเมินว่า คนเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องสัมภาษณ์อย่างเดียว จากการสังเกตก็สามารถบอกได้ คนหน้าตาเศร้าหมองเป็นอย่างไร ก็ให้เขาดูรูป เช่น คนพวกนี้จะมีปากตก หากอยู่ในข่ายที่น่าสงสัยก็สามารถปรึกษากับ รพ.สต.(โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)ได้เลย การคัดกรองภาวะซึมเศร้าสองข้อนี้ ชุมชนสามารถทำกันได้เอง” นิศานาถยืนยัน

นอกจากนี้ เธอยังมีความคิดว่า กลุ่มพยาบาลและเจ้าหน้าที่ใน รพ.นาหมื่นกับเจ้าหน้าที่ใน รพ. สต. เองจำเป็นต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น เรื่องยา และมีทักษะในการประเมินผู้ป่วยก่อนให้คำแนะนำหรือส่งต่อ

เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ จำเป็นต้องรู้การออกฤทธิ์ทางยา เพราะเมื่อคนป่วยมีอาการหลังฉีดยา เช่น คอแข็ง เขาควรบอกได้ว่านั่นคืออาการผลข้างเคียง หรือบางคนอาจมีอาการปากแห้ง คอแห้ง เจ้าหน้าที่ควรแนะนำได้ว่าให้จิบน้ำบ่อย ๆ หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็ต้องส่งต่อมาที่โรงพยาบาล หรือกรณีที่คนป่วยฉีดยาไปแล้วสองอาทิตย์ แล้วมีอาการก้าวร้าว เขาก็ควรโทรมารายงาน และสอบถามว่าควรจะทำอะไรต่อไป...หลัก ๆ แล้วต้องการให้ติดต่อประสานงานกันได้ง่ายขึ้น”

และเพื่อให้ทุกคนมีประสบการณ์จริงในการสังเกตอาการผู้ป่วยทั้ง 3 ประเภท นิศานาถจึงพาไปศึกษาดูงานที่แผนกจิตเวช รพ.น่าน โดยเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยกับผู้ป่วยและสังเกตการณ์วิธีการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลด้วย

แม้เป็นเรื่องที่คาดหวังสูง เพราะเป็นการทำงานกับทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแกนนำชุมชน รวมถึงครัวเรือนของผู้ป่วยทั้ง 48 หมู่บ้าน ขณะที่มีผู้รับผิดชอบโครงการหลัก ซึ่งมีความเข้าใจในเนื้อหาเพียงคนเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการดำเนินโครงการก็คือ ระบบการประสานงานและส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชมีความชัดเจนและคล่องตัวมากกว่าเดิม มีกรณีตัวอย่างคือ แกนนำที่เข้ารับการอบรมรายหนึ่งได้สังเกตเห็นว่าคนในชุมชนของตนเองมีภาวะซึมเศร้า จึงได้เกลี้ยกล่อมให้ญาติพาไป รพ.นาหมื่น เพื่อพูดคุยกับผู้รับผิดชอบโครงการ และประเมินอาการก่อนให้คำแนะนำต่อไป และผลที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งก็คือ มีแนวโน้มว่าการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วย และการส่งเสริมสุขภาพจิตของคนในชุมชนที่อำเภอนาหมื่นเริ่มดีขึ้น ดังคำบอกเล่าของ อสม.ในหมู่ 11 ต.บ่อแก้ว ที่ชื่อ ศรีเพลิน จักธร

“สิ่งที่ อสม.ทำได้ก็คือ การติดตามผลดูว่าคนป่วยมีพัฒนาการเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังคอยแนะนำญาติให้ค่อย ๆ พูดจากับคนป่วย สิ่งที่ อสม.ทำได้ดีที่สุดก็คือการให้กำลังใจ ให้คนป่วยและญาติได้ระบายความรู้สึกออกมา เพื่อให้เขาโล่งสบายขึ้น”

เช่นเดียวกับคำให้สัมภาษณ์ของ ถนัด ดงติ๊บ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในหมู่บ้านจำนวน 3 ราย เขาเล่าว่าได้พยายามสร้างความเข้าใจแก่สมาชิกในหมู่บ้าน และหาวิธีลดความเสี่ยงจากโรคนี้ให้ด้วย

“ผมได้ใช้เวทีประชุมของหมู่บ้านเพื่อเสริมความรู้ให้ชุมชน ให้คนในชุมชนมีความเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและลดความหวาดระแวง ทำมาได้ระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าความหวาดระแวงเบาลงกว่าแต่ก่อน...ผมคำนึงถึงการสร้างสุขภาพจิตที่ดี แก่คนที่ยังไม่ป่วย เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนมากในหมู่บ้าน คนกลุ่มนี้ต้องอยู่บ้านตามลำพัง เหงามาก อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ผมจึงจัดกิจกรรมด้านอาชีพ ให้เขาได้มารวมกลุ่มกันทำแหนม เพื่อให้มีรายได้เสริม และยังได้มาพบปะพูดคุยกัน ไม่ต้องจับเจ่าอยู่แต่ในบ้าน”

และสำหรับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.อย่าง กมลชนก ขันใจ ซึ่งทำงานอยู่ที่ชุมชนบ้านหลักหมื่นก็ยอมรับว่า การทำงานแบบเป็นเครือข่ายช่วยให้เกิดความคล่องตัว อีกทั้งเธอยังรู้สึกมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้นด้วย

“ญาติและ อสม.เป็นส่วนที่ช่วยดิฉันได้มาก เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับคนไข้ก็โทรศัพท์มาปรึกษา ทำให้ดิฉันติดตามงานได้ง่ายขึ้น การทำโครงการนี้นับว่ามีประโยชน์มาก ในแง่ที่ทำให้การประสานงานมีความชัดเจนมากขึ้น”

นอกจากนี้ เธอยังเล่าว่า คนในชุมชนมีทัศนคติที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะจากอดีต ที่ชาวบ้านมักพูดถึงผู้ป่วยจิตเวชว่า “เป็นผีบ้า ไม่มีทางรักษาให้หายได้” แต่ปัจจุบันไม่มีคำพูดเช่นนี้ให้ได้ยินอีกแล้ว ทั้งยังได้ อสม.เข้ามาช่วยชี้ชวนให้ชาวบ้านรู้ว่า คนป่วยจิตเวชก็สามารถอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้ มากกว่านั้น หากได้รับการรักษาและการดูแลอย่างถูกต้องก็สามารถหายจากโรคนี้ได้อีกเช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกนี้เป็นกำลังใจให้นิศานาถ ในฐานะเจ้าของโครงการอย่างดี แม้ยังมีจุดที่สะท้อนว่าผู้ป่วยและญาติบางครอบครัวไม่กล้าแสดงตัว เห็นได้จากการที่ไม่ยอมเข้ามาร่วมกิจกรรม แต่เธอก็ไม่ย่อท้อและเตรียมการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป แม้ว่าจะยังไม่ได้ช่วยลดจำนวนคนที่ปลิดชีพตัวเองได้ทันที แต่ความพยายามของพยาบาลวิชาชีพ ที่ตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างนิศานารถตามแนวทางโครงการนี้ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการชะลอความสูญเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความว้าเหว่และโดดเดี่ยวของผู้ป่วยบางราย อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจจากทั้งสังคม และคนใกล้ชิด

...อาจไม่ใช่รอยยิ้มแย้มที่แสดงถึงความเป็นมิตร แต่อย่างน้อยที่สุดก็คือ แววตาที่คลายความหวาดระแวงลงไปได้บ้าง

_____________________

เรื่อง : วราภรณ์ พันธุ์พงศ์

เนื้อหาอื่นๆ

22 มกราคม 2024
19 พฤษภาคม 2022
07 มีนาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT