10 กุมภาพันธ์ 2020

ลายพรางไม่มีทางกลายพันธุ์

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปกองทัพ โดย ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง

ในซีรี่ย์สัญชาติอเมริกันเรื่อง Game of thrones : มหาศึกชิงบัลลังก์ มีประโยคที่ตัวละครหลักขี่มังกร กล่าวกับเหล่าทาสผู้ถูกกดขี่ว่า เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบยื่นกันได้ มันเป็นของเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ถ้าพวกเจ้าอยากได้มันคืน ก็ต้องไขว่คว้าหามันเอง หลังจากนั้นผู้พูดได้รับการคุกเข่ายอมรับ และกลายเป็นผู้ปลดโซ่ตรวนของเหล่าทาสในทันใด หากย้อนกลับมามองที่ยุคสมัยปัจจุบัน ภายใต้การปกครองของรัฐบาลในประเทศไทย จะมีไหมใครสักคนที่หาญกล้าลุกขึ้นมาร่ายประโยคเท่ ๆ ให้พวกเราได้ฟังกัน ?

หลังบรรยากาศของการปกครองประเทศโดยรัฐบาล พณฯ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา กำลังครบรอบวาระ 1 ปี หลังการเลือกตั้ง วันนี้ ไทยแอ็ค มีโอกาสพูดคุยกับ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง หรือหมวดเจี๊ยบ อดีตรองโฆษก และสมาชิกพรรคเพื่อไทย และผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันนโยบายด้านสิทธิสตรี ร่วมกับกลุ่มภาคประชาสังคม ที่ดำเนินงานเรื่องของสุขภาวะ และความเสมอภาคเท่าเทียมของผู้หญิง สิ่งที่ควรจะเป็นระหว่างอ่านบทสัมภาษณ์นี้ คืออย่าเพิ่งตัดสินเธอ ด้วยรสนิยมทางการเมือง หรือฝักฝ่ายที่เธอสังกัด

ในสนามเลือกตั้งที่ผ่านมา คุณลงรับสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย หมายความว่ามีสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ ?

“ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปฏิเสธ เพราะสิ่งที่อยากทำมากที่สุดคือ เรื่องปฏิรูปกองทัพ ด้วยความเป็นคนในมาก่อน และเห็นสิ่งที่ควรปรับปรุงเเก้ไข แต่จริง ๆ เราก็ทำในระดับที่ทำได้มาตลอด เช่น การให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง อย่างตรงไปตรงมากับสื่อมวลชน จากประสบการณ์ของคนที่อยู่ในกองทัพรับราชการทหารมาก่อน เพราะเราเชื่อว่า หนึ่งในคุณสมบัติที่ดีของนักการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องมีความรู้ความสามารถ ในการบริหารจัดการบ้านเมือง แต่ต้องมีความกล้า ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับแรงเสียดทาน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บ้านเมืองด้วย เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผู้คนยึดถือ หรือปฏิบัติกันมาในสังคม ซึ่งเราถามตัวเอง สำรวจใจตัวเองแล้ว ว่าเราพร้อมที่จะปะทะ ที่จะถูกต่อต้าน พร้อมจะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ด้วยอุดมการณ์ ด้วยการเดินไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาประเทศ บนพื้นฐานของการเชื่อว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดีอยู่”

ปรับปรุง แก้ไข หรืออีกนัยหนึ่งคือการปฏิรูปกองทัพ ฟังดูเป็นหตุผลทางการเมือง แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ?

“เริ่มต้นต้องบอกว่า กองทัพควรปฏิรูปโครงสร้างกำลังพลทั้งหมดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เปลี่ยนไป นิยามของคำว่า “ความมั่นคง” ควรจะเปลี่ยน กฏระเบียบ นโยบายของกองทัพไทย มันเป็นกฏระเบียบที่ออกมาในวันที่โลกอยู่ในยุคสงครามเย็น เพราะฉะนั้นระเบียบข้อบังคับหลักเกณฑ์อะไรหลาย ๆ อย่าง มันไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราดันยึดติดกับการบริหารจัดการกองทัพในรูปแบบเก่า ยกตัวอย่างเช่น ระเบียบว่าด้วยเรื่องของการห้ามผู้หญิง ที่เป็นทหารแต่งงานกับคนต่างด้าวรวมถึงฝรั่ง ในยุคเดิมเราเข้าใจได้นะ ว่ามันเป็นเรื่องของสายลับ เรื่องการเข้ามาหลอกแต่งงานกับคนไทยเพื่อแทรกซึมหาข่าว แต่ทุกวันนี้การเป็นสายลับแทบจะไม่ต้องลักลอบเข้ามาในประเทศเลย เขาสามารถจะใช้เทคโนโลยีได้ อย่างแค่ใช้กูเกิลเอิร์ทธ ก็มองเห็นหลังคาบ้านเราได้แล้ว โดยไม่ต้องออกจากโต๊ะทำงาน เพราะฉะนั้นโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็จำเป็นต้องมีการทบทวนว่า กฎเกณฑ์ หรือระเบียบไหน ที่มันไม่ได้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทีนี้หากเราสามารถปฏิรูปโครงสร้างได้ เราจะเห็นความจำเป็นเรื่องการใช้จ่ายเงิน ว่าอะไรควรจ่ายไม่ควรจ่าย ไม่ใช่ทุกปีทุ่มไปกับงบประมาณในการทหาร ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงเพียงอย่างเดียว

ก็ยังฟังดูเป็นเรื่องการเมืองที่ลดกำลังขั้วตรงข้ามไม่ใช่หรือ ?

“ฟังดูอาจเป็นแบบนั้น แต่ถ้ายกตัวอย่างเพิ่ม เรื่องการเกณฑ์ทหาร กองทัพต้องเริ่มจากการทบทวนว่า กำลังพลทั้งหมดที่เหมาะสมกับภารกิจควรจะเป็นเท่าไหร่ แล้วสัดส่วนของทหารเกณฑ์ ที่คุณจะเรียกเข้ามาในกองประจำการ ควรจะเป็นเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าประกาศยอดออกมาแต่ละปีก็ตอบสังคมไม่ได้ว่าเอาตัวเลขมาจากไหน คำนวณจากฐานข้อมูล หลักการอะไร  ปีล่าสุดนี้ประกาศเรียกกว่า 140,000 นาย ถ้าในความเป็นจริง เราไม่ได้ต้องการกำลังพลเพิ่มปีละแสนกว่าคน แต่ต้องการฝึกทหารให้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแค่ 10,000 คนล่ะ ดังนั้นควรยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยบังคับ นี่มันเป็นยุคสมัยที่ต้องใช้องค์ประกอบของข้อมูลกับสติปัญญา ไม่ถือเอาแค่มีธรรมเนียมปฏิบัติมา แล้วพอสามารถลดขนาด หรือบริหารจัดการเรื่องปริมาณของกำลังพลได้ กองทัพก็จะสามารถมีงบประมาณมาจัดสรร เพื่อการพัฒนาศักยภาพของกองกำลังที่แท้จริงได้  ไม่ใช่ไปหยิบเอาใครก็ได้ มาใส่ชุดทหารสองปี โดยประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเขา รวมทั้งอาจเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งต่อตัวเขาเองและประเทศ ถ้าลองเปลี่ยนมาใช้ระบบอาสาสมัคร เราก็จะได้คนที่เขามีความพร้อม มีใจรักในการทำงานเพื่อประเทศ ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะได้คุณภาพ และความใส่ใจในงานมากกว่าด้วยซ้ำ

คนไปเป็นทหารเกณฑ์ปีสองปี ประเทศชาติจะเสียหายอะไรกัน ?

“บ้านเรากำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยนะ การที่แรงงานหลักหนึ่งคน ถูกพรากออกจากบ้าน ไปด้วยความกดดันบนบ่าว่า ต้องรับใช้ชาติ โดยที่ไม่ได้เต็มใจ มันอาจทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาได้ แรงงานของประเทศหายไปปีละเป็นแสนคน ยังเป็นเรื่องเล็ก ๆ อยู่ไหม?  ถ้าเขาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เขาจะสามารถสร้างรายได้ สร้างมูลค่าให้กับองค์กร ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล แทนที่กองทัพกับประชาชนจะช่วยกันถมช่องว่าง แก้ปัญหา กลับกลายเป็นว่ามันทำให้ช่องว่างระหว่างวัย ที่จะเป็นปัญหาของสังคมกว้างขึ้นไปอีก แล้วทุกวันนี้ภาคธุรกิจก็ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว เราจะไปทำให้คนที่เขาไม่สมัครใจ ไม่พร้อมจะร่วมงานกับกองทัพ มาทำให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหากลายเป็นว่าเพิ่มปัญหาสังคมเพื่ออะไร แล้วยิ่งโลกสมัยใหม่เป็นโลกของความโปร่งใส ประชาชนต้องการให้หน่วยราชการมีความรับผิดชอบ มีธรรมาภิบาล สามารถตรวจสอบ และให้เหตุผลพวกเขาได้ ไม่ใช่เอาแต่อ้างคำว่า “ความมั่นคง” อย่างเดียว…แล้วถามหน่อย ที่ผ่านมาเราสามารถตรวจสอบการทำงานของกองทัพได้หรือเปล่า”

แปลกนะ ที่อดีตคนในกองทัพเอง มาพูดเรื่องแบบนี้ ถ้างั้นแล้วมีแนวทางที่ดีกว่าปัจจุบันเสนอไหม ?

“ต้องบอกว่า เราอยากเป็นคนที่บุกเบิก แล้วก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องนี้ต่อสังคม เพราะอย่างที่เกาหลีใต้ มีองค์กรหนึ่งซึ่งลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้ เรื่องสิทธิในการปฏิเสธการเป็นทหาร และการเข้าร่วมสงคราม ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า คนทุกคนมีความสำคัญ และควรได้รับโอกาสในการพัฒนาชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่า เพศ ศาสนา สถานะทางสังคมจะเป็นยังไง และจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนอื่น ๆ ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อพัฒนาตัวเองได้ด้วย ทีนี้เราน่าจะให้สิทธิ ในการปฏิเสธการเป็นทหาร และการเข้าร่วมสงคราม (conscientious objector military service) ถ้าหากการนั้นสวนทาง หรือไม่สอดคล้องกับศีลธรรมในใจ หรืออาจด้วยความขัดแย้งกับหลักศาสนา จริง ๆ เรื่องนี้เป็นสิทธิที่สหประชาชาติรับรอง แต่ไม่เคยถูกพูดถึง และไม่เคยถูกระบุในรัฐธรรมมนูญของประเทศไทย นอกจากนั้น การนิยาม คำว่า “ความมั่นคง” ต้องเอาใหม่ ต้องสร้างการมีส่วนร่วม ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาจำกัดความ เพราะโลกสมัยใหม่ เรื่องความมั่นคงไม่ใช่แค่การสู้รบ สงคราม หรือการต่อสู้ตามแนวชายแดนอีกต่อไปแล้ว อย่างนโยบายบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ก็มีการอ้างถึงเรื่องความมั่นคงในการจำกัดสิทธิให้แรงงานทำบางประเภท ดังนั้นความมั่นคงในยุคสมัยใหม่ มันเปลี่ยนรูปแบบไป การใช้อินเตอร์เน็ตก็มีผลต่อความมั่นคง เหล่านี้กลายเป็นเรื่องความมั่นคงไปทั้งสิ้น นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องให้กองทัพ เป็นหน่วยงานเดียวที่ผูกขาดจัดการแต่เพียงผู้เดียว ต้องทำให้ภาคประชาสังคม ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใส และเพื่อการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ไม่ใช่พอมีคนถามว่า ความมั่นคงของประเทศนี้คืออะไร ก็ต้องนิ่งใบ้โยนไปถามกองทัพ ซึ่งไม่สามารถมีใครตรวจสอบถกเถียงอะไรได้”

ฟังดูน่าสนใจ แต่โครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดนิยามความหมายของความมั่นคง มันจะเป็นไปในรูปแบบไหน ?

"เรื่องวิธีการ เราก็จำเป็นต้องช่วยกันออกแบบช่วยกันดู แต่ยกตัวอย่างง่าย ๆ ดูระบบของโรงเรียนที่มีสมาคมผู้ปกครอง การที่กองทัพจับคนไปเกณฑ์ทหารเป็นแสนคนต่อปี โดยที่ผู้ปกครองของเขา ไม่ได้มีส่วนรับทราบสถานการณ์ ไม่ได้ร่วมกำหนดแนวทางการฝึกฝนดูแลอะไรเลย ก็ไม่น่าจะเป็นวิถีทางที่ถูก ซ้ำร้าย ในกรณีมีเหตุการณ์อย่างทหารถูกซ้อม หากนับตั้งแต่ปี 2552 นี่เป็นรายที่ 12 เข้าไปแล้ว ที่เราได้ยินข่าว ไหนจะเรื่องอื่นที่ไม่ได้ยิน ทั้งการใช้ทรัพสินของราชการ ใช้ปืนของราชการ ความหละหลวมในการดูแลตรวจตราสรรพาวุธ แล้วกองทัพ ได้มีกระบวนการในการแก้ปัญหา ในการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีแนวโน้มพัฒนาบ้างไหม ? ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ก็เหมือนเปิดปฏิทินรอนับปัญหาเพิ่ม”

แล้วทั้งหมดนี่ ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ยังไง ?

“ยุคนี้ที่ประชาชนตื่นรู้ ประชาสังคมตื่นตัว ในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการบ้านเมืองมากขึ้น กองทัพจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปให้มีความทันสมัย และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน แต่ประชาชนเองก็จำเป็นต้องตรวจสอบ เคลื่อนไหว ไม่นิ่งเฉยด้วย หากมีช่องทางมีโอกาส ที่ผ่านมาเรามีความเป็นพลเมืองแบบที่เรียกว่า Active Citizen กันน้อยเกินไป เราสนใจแต่ปัญหาตรงหน้า ไม่ได้เห็นว่าปัญหาทั้งมวลเชื่อมโยงกัน ยิ่งถ้าเราลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาสังคมได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผู้กำหนดทิศทางนโยบายในการบริหารจัดการประเทศเพิ่มวินัย เพิ่มความระมัดระวัง และเพิ่มธรรมาภิบาลมากขึ้นเท่านั้น”



หลังจากได้พูดคุยกันสั้น ๆ เมื่อได้สอบถามถึงอนาคต หมวดเจี๊ยบ ก็ยังคงยืนยันว่าจะตั้งมั่นในแนวทางของตัวเอง และแนวทางของพรรค และไม่ได้เปลี่ยนตัวเองไปไหนแม้ว่าเธอจะอยู่ในสถานะใด เรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์การทำงานการทหาร และการเมืองมาอย่างยาวนาน ทำให้ได้เห็นมุมมองของเธอมากขึ้น ซึ่งความตั้งใจเหล่านี้ไม่ได้ถูกปิดให้เป็นความลับแต่อย่างใด แม้จะเป็นเรื่องยากยิ่ง ในวันที่ลายพรางไม่มีทางกลายพันธุ์ แต่ความฝันของหญิงสาวควรได้รับการรับฟัง

หมายเหตุ : การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่หมวดเจี๊ยบมาร่วมยื่นขอเรียกร้องเรื่องสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่รับพนักงานสอบสวนหญิง จนเป็นที่มาของการนำไปสู่การเเก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวในปัจจุบัน

เนื้อหาอื่นๆ

13 มิถุนายน 2020
18 มกราคม 2020
17 ธันวาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT