27 มกราคม 2020

แหล่งเรียนรู้ภูธรสร้างได้ บทสัมภาษณ์ จินดาพร คล้ายคลึง

ผู้จัดงานศิลป์ในสวนของเด็กหญิงที่ เติบโตด้วยการไต่บันไดฝันกับรายการบันไดเพลง


เพลงชาติตอนเย็นจบลงแล้ว แต่บรรยากาศโดยรอบอาคารสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสุรินทร์ ไม่ได้เงียบเหงาลงไปด้วย ไฟประดับสีส้มสลับม่วง พร้อมด้วยก้อนฟางสำหรับนั่งพักผ่อนโดยรอบอาคารสถานที่ราชการ แม้จะดูแปลกตาแต่ก็ทำให้เวลาใกล้ค่ำมีสีสันมากขึ้น


เด็กชายในชุดนักเรียนสามคน กำลังเตรียมตัวบนเวทียกระดับจากพื้นเล็กน้อย คนตรงกลางขยับไมค์โครโฟน หันซ้ายหันขวา เหมือนดูให้แน่ใจว่าปลั๊กทุกตัวเสียบอยู่ถูกตำแหน่ง แล้วเพลงที่ไม่คุ้นหูชาวบ้านก็ดังขึ้น


แม้ไม่เคยฟัง แต่ผู้คนยังพากันปรบมือให้กำลังใจ


เด็กเล็กใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ดูจะเป็นกลุ่มเดียวที่ไม่สนใจ ว่าคนบนเวทีเล่นเพลงชื่ออะไร เพราะมือน้อย ๆ ของพวกเขากำลังวาดรูประบายสี โดยมีผู้ปกครองคอยดูแลอยู่ไม่ห่าง


“ปล่อยให้มันเป็นแบบนี้แหละดีแล้ว เด็กอาจจะไม่ได้ชอบความหวือหวา” ชายวัยกลางคน คนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเขาคือผู้จัดงานงิ้วหน้าสถานีรถไฟสุรินทร์ทุกปี ๆ กำลังยืนคุยกับ จ๋อมแจ๋ม - จินดาพร คล้ายคลึง แล้วชี้ไปที่ลูกตัวเองซึ่งกำลังระบายสีน้ำ
“นั่นเขาก็ดูมีความสุขด้วยซ้ำ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย”

(บรรยากาศกิจกรรมศิลป์ในสวนจังหวัดสุรินทร์)

นี่คือภาพบรรยากาศของ งานศิลป์ในสวน หลังจากผ่านมาแล้วมากกว่า 4 สัปดาห์ งานที่เปลี่ยนลานกว้างเงียบเหงาของสถานีวิทยุ ให้กลายเป็นพื้นที่วิ่งเล่น เรียนรู้ และทดลองทางศิลปะ ดนตรี กิจกรรมนันทนาการ โดยมีพ่อค้าแม่ขายค้าขายเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมี จินดาพร คล้ายคลึง หญิงสาวนักจัดรายการวิทยุ รายการบันไดเพลง เป็นเรี่ยวแรงหลักในการดำเนินกิจกรรม


“หนูไม่รู้ว่าไอ้ที่ทำอยู่มีความสุขไหม แค่คิดถึงว่า ถ้ามันมี พื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้ลงมือ ได้ทดลองทำอะไรแบบที่ เห้ยมึง เลิกเรียนแล้วไปศิลป์ในสวนไหมวะ อยากวาดรูปว่ะ อยากเล่นดนตรีโว้ย คือถ้ามันมีที่ให้ลองผิดลองถูก เหมือนเป็นพื้นที่ให้เด็กค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร อย่างน้อย ก็จะได้ไม่ต้องชวนกันไปมั่วสุมไอ้สิ่งที่ไม่ดี”


งานศิลป์ในสวน จัดขึ้นทุกเย็นวันพุธ ทั้งที่ใจของคนจัดอยากให้มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการไต่บันไดความฝัน ไปสู่การมี พื้นที่เรียนรู้อเนกประสงค์ (Knowledge Capital) สำหรับผู้คน ที่มีความสนใจและทักษะแตกต่างหลากหลายมารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันแรงบันดาลใจ เพื่อร่วมกันสร้างคุณค่าใหม่ให้กับตัวเองและสังคม


จินดาพรเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การทำงานว่า “งานศิลป์ในสวน เป็นแค่การสร้างพื้นที่ เพราะเราเห็นว่าเด็กตามต่างจังหวัดบ้านเรา ไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรม หรือไม่มีคนมาชวนให้ทำในสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการเลย จริง ๆ ในแต่ละชุมชน ควรมีพื้นที่กิจกรรมที่หลากหลายด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องศิลปะหรือดนตรีก็ได้ เช่น ศูนย์กีฬาเล็ก ๆ ที่ใช้ได้จริง หรืออะไรก็ได้ ไม่ให้เด็กมันว่างจนมีเวลาไปทำอะไรที่ไม่ดี คือพื้นที่แบบ Knowledge Capital มันไม่ใช่แค่เพื่อตัวเด็ก แต่เป็นสำหรับทุกช่วงวัยในชุมชน เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ ผู้ปกครองได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ออกมาเจอกัน สร้างสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน”

ด้วยความเป็นอดีตผู้สื่อข่าวที่ต้องตกงาน เพราะช่องทีวีถูกปิดตัวลง ประกอบกับความสนใจในงานเพลง และคอนเสิร์ต ทำให้จินดาพร ได้มีโอกาสกลับบ้านมาทำหน้าที่ผู้จัดรายการวิทยุกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เธอใช้จังหวะของการดำเนินรายการ สร้างความสุขในการดำเนินชีวิต ด้วยการเปิดพื้นที่อิสระให้กับศิลปินท้องถิ่น หรือศิลปินอิสระ ได้มาใช้พื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ จากนั้นจึงพัฒนาจากพื้นที่ทางสื่อสาธารณะ เป็นพื้นที่ ที่สามารถจับต้องได้อย่าง งานศิลป์ในสวน


“ช่วงแรกท้อมากเลยนะ เราเป็นพวกไม่มีความอดทน เป็นพวกสิ้นหวังง่าย งานยังไม่เริ่ม เราโดนคนพูดถึงศิลป์ในสวนว่า งานไม่ดี งานลูกคุณหนู ใครจะมา พอได้ยินเรากลั้นน้ำตาไม่อยู่เลย แต่ก็ต้องทำมันไปทั้งน้ำตา พอลงมือทำจริง ๆ เริ่มมีเด็กจากที่อื่น เด็กโรงเรียนมัธยม หอบกีต้าร์มาขอเล่น มีอาจารย์มาช่วยสอน ช่วยดูเด็กทำงานศิลปะ พอสัปดาห์ถัดไป ก็มากันอีก แถมชวนเพื่อนมาเล่นด้วย ทำให้รู้สึกว่าการมีพื้นที่แสดงออกสำหรับเด็กเยาชน มันสำคัญสำหรับเรามาก ถึงแม้จะเป็นงานเล็ก ๆ แต่อบอุ่น และมันมีการเรียนรู้ ทั้งคนจัดและคนร่วมงาน”

แต่การทำงานร่วมกับคนหลากหลายรุ่น หลากหลายวัย มิหนำซ้ำยังต้องทำงานภายใต้กรอบการดำเนินงานของภาคส่วนราชการที่เธอสังกัด จินดาพรไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การทำงานนั้นมีอุปสรรค ทั้งด้วยความเป็นน้องเล็กสุดในวัยต้นยี่สิบปี ทั้งต้องเจอกับผู้ที่ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ มากมาย ทำให้เธอทิ้งท้ายไว้ว่า


“การทำงานกับผู้ใหญ่ บางทียากเหมือนกันนะ เขามองแค่ว่าเขาเคยทำแล้วมันดี ต่อให้โลกเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน เขาก็ยังมองว่าสิ่งที่เขาทำมันดีที่สุด แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แบบนั้นวัยรุ่นสมัยนี้ไปไวมาก พ่อแม่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกต้องการอะไร บางคนไม่มีเงินที่มากพอจะส่งลูกไปทำในสิ่งที่ชอบได้ เราเห็นเรายังรู้สึกอัดอั้นใจเลย ด้วยความเป็นเด็กอ่ะ ไม่ได้ต้องการอะไรมากหรอก ต้องการแค่อยากทำแล้วได้ทำ เพราะความฝันของเด็กมีค่ามากนะ เราเองก็มีความฝัน ทุกคนมีความฝัน แต่กับบางคนที่เขาไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร การมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทดลอง มันทำให้พวกเขาอาจค้นพบตัวเองเจอก็ได้ อย่างงานศิลป์ในสวน จริง ๆ สามารถ เก็บใส่ portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) ได้นะ ว่าเด็ก ๆ เคยมาทำอะไรที่นี่ ในอนาคต เขาสามารถพูดกับใครได้ว่า เขาเคยไปเล่นงานศิลป์ในสวนมานะ ถ้ามีศิลป์ในสวนจัดขึ้นอีก ในอีกกี่สิบปี เขาก็อาจจะพูดได้ว่า เขาคือรุ่นแรก ๆ ของศิลป์ในสวน เนี่ย น่าภูมิใจออก”

เนื้อหาอื่นๆ

04 กันยายน 2022
25 กุมภาพันธ์ 2023
17 ธันวาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT