17 ธันวาคม 2019

ทูตอารยสถาปัตย์

ร่วมเดินทางในเมืองใหญ่ไปด้วยกัน

“เขาพูดกับเราว่าถ้าลำบากมากก็ไม่ต้องมา ได้ยินแบบนี้ตกใจเหมือนกัน เราแค่อยากมาเที่ยวเหมือนคนอื่น”

ภิเษก จันทร์ตะเคียน หรือพี่หมี หนึ่งในกลุ่มมนุษย์ล้อย้อนนึกถึงประสบการณ์ ช่วงเดินทางไปเที่ยวศาสนสถานแห่งหนึ่ง ตั้งใจจะไปกราบไหว้ด้วยจิตศรัทธา แต่การจะขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 50 ขั้น สำหรับคนทั่วไปอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับบุคคลที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือใช้วีลแชร์ บันไดก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำหรับพวกเขา

พี่หมี ได้แต่พนมมือไหว้อยู่ข้างล่างของสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้น

มีภาพหนึ่งที่ทำให้คนพิการอย่างเขารู้สึกสะเทือนใจอย่างมากคือ ไม่ไกลจากตัวเขาบนวีลแชร์คู่ใจนั้น มีครอบครัวหนึ่งเข็นรถพาผู้สูงอายุที่ใช้รถวีลแชร์มาด้วย ทั้งครอบครัวขึ้นไปสักการะบนศาสนสถานข้างบน เหลือแต่เพียงผู้สูงอายุรออยู่ข้างล่าง ไม่ต่างจากเขา

ทำให้เขารู้สึกว่าหากสถานที่แห่งนั้นอย่างน้อยมีทางลาด เพื่อที่จะให้รถวีลแชร์หรือรถเข็นสามารถขึ้นไปได้ก็จะดี เขาจึงนำเรื่องไปเสนอบุคลากรของสถานที่เพื่อให้ช่วยปรับปรุงจะได้เหมาะสมและเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น แต่สิ่งได้กลับเป็นคำพูดที่ฝังใจ ซ้ำร้ายยิ่งตอกย้ำว่ากลุ่มคนเช่นพวกตน ไม่มีสิทธิในการเดินทางหรือท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ได้เลย

ด้วยเรื่องราวเหล่านี้ที่พบมากขึ้นในสังคม โครงการอารยสถาปัตย์จึงถือกำเนิดขึ้น ปิยะบุตร เทียนคำศรี ทูตอารยสถาปัตย์ประจำกรุงเทพฯ บอกกับเราว่าอารยสถาปัตย์หรือ Friendly Design หมายถึง การออกแบบบ้านเรือน ตึก อาคาร ระบบขนส่งมวลชน พื้นที่สาธารณะ รวมความถึงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้คนทุกวัย ทุกสภาพร่างกายสามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด โดยไม่ต้องออกแบบหรือจัดทำขึ้นสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

เช่น การทำทางลาดขึ้นลง ทางเท้า และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้กับผู้พิการที่ใช้รถเข็น หรือ บล็อกทางเดินสำหรับคนตาบอด เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้น ใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างสะดวก และปลอดภัย และหนึ่งในกิจกรรมของโครงการนี้ ยังได้มีการนัดรวมตัวกลุ่มมนุษย์ล้อกว่า 40 ชีวิต เพื่อไปเที่ยวด้วยกัน ทุกเดือนในสถานที่ต่าง ๆ โดยหลังจากเที่ยว ก็จะกลับมาพูดคุยว่าสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้นเป็นอย่างไร สะดวกสบายเหมาะสมเพียงพอกับความเป็นอารยสถาปัตย์หรือไม่ ประธานทูตอารยะสถาปัตย์ ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า

“นอกจากรวมกันเที่ยวแล้ว พี่น้องมนุษย์ล้อได้ออกมาสู่สังคมให้ทุกคนได้เห็นว่า คนพิการก็สามารถไปไปไหนมาไหนได้เหมือนคนปกติ เพียงแต่เราเดินทางและใช้ชีวิตอยู่บนล้อแค่นั้นเอง ไม่อยากให้พี่น้องคนพิการถูกมองว่าเป็นส่วนเกิน ของสังคม ที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน”

ภายหลังจากได้เดินทางท่องเที่ยวกับกลุ่มมนุษย์ล้อ ก็เริ่มเห็นถึงความลำบากของพื้นที่การเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นขอบถนนที่แคบเกินกว่าวีลแชร์จะเข้าได้ แม้แต่ขอบฟุตบาธที่สูงเกินไป ทางลาดชันเอียงจนรถเข็นอาจล้มหัวคะมำ หรือแม้แต่ในบางพื้นที่มีออกแบบสำหรับผู้พิการแต่เมื่อใช้งานจริงกลับไม่สามารถใช้งานได้

ผักกาด โพธิ์ศรี หนึ่งในกลุ่มมนุษย์ล้อบอกกับเราว่า “การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต้องทำให้เหมาะสม ไม่ใช่แค่เพื่อพวกเราเท่านั้นแต่ต้องสำหรับทุกคน ให้การออกแบบพัฒนาเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่มีแต่ไม่สามารถใช้งานได้ เราพิการไม่เป็นไรแต่อย่าให้สภาวะคุณภาพเมืองพิการเลย อันนี้ไม่ดีต่อทุกคน”

ซึ่งในเมืองใหญ่หลายพื้นที่ เริ่มมีโครงการออกแบบปรับปรุงให้เหมาะสมกับทุกสภาวะ ทุกเพศสภาพนับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับประเทศไทย สุดท้ายสิ่งที่กลุ่มมนุษย์ล้ออยากฝากให้สังคม คือ “เราอยากเห็นคือรอยยิ้มและความเข้าใจ” เป็นความปรารถนาเล็ก ๆ ไม่ซับซ้อน ที่ส่งออกมาอย่างซื่อตรงของกลุ่มคนที่อยากจะเห็นบ้านเมืองสภาพอาคารและการออกแบบเพื่อทุก ๆ คนอย่างเท่าเทียมที่แท้จริง

เนื้อหาอื่นๆ

18 กรกฎาคม 2020
01 พฤษภาคม 2021
27 กันยายน 2018

Copyright © 2013 THETHAIACT