18 มิถุนายน 2019

ชื่อเรียกของความรุนแรง

สนทนาดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

“ตัวดิฉันเองเคยถูกพยายามข่มขืน จนโดนทำร้ายร่างกาย”

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เริ่มต้นเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง พร้อมกับนาฬิกาจับเวลาเดินถอยหลัง บนเวที The Voiceless Talk : ฟังเสียงจากผู้ไร้เสียง จากนั้นเธอเอ่ยคำถามว่า “ใครในที่ประชุมนี้ เคยรู้จักหรือพบเห็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงบ้าง” แทบทั้งห้องซึ่งแน่นขนัดไปด้วยผู้คนกว่า 2,000 คนต่างพากันชูมือขึ้นเหนือหัว

“กว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว บอกว่าเคยถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว และจากการสำรวจของเราพบว่า 44% ของผู้หญิงอายุ 15-49 ปี ในประเทศไทย เคยถูกทั้งคู่ของตัวเอง และคนที่ไม่ใช่คู่ทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศ”

หากเอ่ยถึงความรุนแรง ภาพจำของผู้คนคงผุดขึ้นมาเป็นรูปของการทำร้าย ทุบ ตี แต่ปัจจุบันความรุนแรงแปลงกายไปอยู่ในสถานภาพอื่นอย่างแยบยลด้วย ทั้งการทำร้ายจิตใจ ดูถูกเหยียดหยาม การจำกัดอิสรภาพในการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งปฏิบัติอย่างเพิกเฉยด้วยการทำให้อีกฝ่ายไร้คุณค่าไม่มีตัวตน ดร.วราภรณ์ ย้ำข้อความว่า “ความรุนแรงไม่เลือกชนชั้น ไม่เลือกสถานะการศึกษา ไม่เลือกฐานะทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงไม่เลือกอายุ ถ้าความรุนแรงจะเลือกมันจะเลือกเพศ โดยเฉพาะเพศหญิง” อีกครั้งหลังจากที่เธอพูดจบลงไปแล้วหนึ่งรอบ

บรรยากาศในห้องประชุมเงียบเสียงลงอย่างเห็นได้ชัด เสียงถอนหายใจจากทั้งทางซ้ายขวาลอบดังสลับกันไปมา ก่อนเสียงของ ดร.วราภรณ์ จะดังขึ้นอีกครั้ง

“การคุกคามทางเพศมีหลายระดับ ทั้งการใช้วาจา สายตา การสะกดรอยตามในที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงรู้สึกหวาดกลัว สิ่งที่แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯพยายามทำงานอยู่ คือทำให้เห็นว่าผู้ถูกคุกคาม หรือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ใช่เรื่องต้องปิดเงียบหรือเพิกเฉย”

ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของภาคประชาสังคมทั่วโลก แต่กลับพบว่าสถาบันหลักที่หล่อหลอมความ “รุนแรง” ให้เป็นรูปร่างกลับกลายเป็นสถาบันครอบครัว

“ในครอบครัวนี่ตัวดีเลย เราจะได้ยินภาษิตสั้น ๆ ว่า ลิ้นกับฟัน ทำให้เห็นว่าการกระทบกระทั่งกันของสามีภรรยาเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ถ้าเป็นผู้หญิงจะถูกสอนจนฝังหัวว่า เมื่อแต่งงานออกเรือนไปอยู่กับคู่แล้วต้องอดทน เพื่อลูก เพื่อรักษาครอบครัว แม้จะถูกตบตีก็ต้องทน นี่คือกระบวนการทางสังคมที่ทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องยอมรับได้ และต้องยอมจำนนให้มันเกิดขึ้น”

สอดคล้องกับการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งสถิติผู้หญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติสูงสุดคือช่วงอายุระหว่าง 14-19 ปี สะท้อนให้เห็นว่า  ผู้หญิงอายุน้อยมีแนวโน้มจะถูกใช้ความรุนแรงมากกว่าผู้ชาย ทั้งจากคนในครอบครัวและคู่รักหรือแฟนมากที่สุด

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท นิ่งเงียบขณะที่มือซ้ายยังคงกุมไมโครโฟนแน่น เธอกวาดสายตามองไปรอบห้องสลัวพร้อมกับนาฬิกาจับเวลานับถอยหลังใกล้เลขศูนย์ และเมื่อเวลานับถอยหลังบนเวทีหยุดลง เธอทิ้งท้ายเอาไว้อย่างกระชับว่า

“ปัญหาความรุนแรง พวกเราสามารถช่วยกันได้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทำได้เดี๋ยวนี้เลย ด้วยการไม่ยอมเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ไม่ยอมจำนนกับเรื่องความรุนแรง และขอให้เชื่อว่าปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องที่ช่วยกันแก้ไขได้”

THETHAIACT

เนื้อหาอื่นๆ

27 กันยายน 2018
28 พฤศจิกายน 2019
14 ธันวาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT